•เผยโรดแมปการจัดการขยะฉบับคสช. ยึด 10 หลักสำคัญพลิกฟื้นคุณภาพชีวิตคนไทย
•สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย-สภาอุตฯ สะท้อนภาคเอกชนแนะทางออกแก้ปัญหา
สถานการณ์ปัญหาขยะของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่า ในปี 2556 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน 26.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน ขยะเหล่านี้แบ่งเป็นขยะที่จัดการไม่ถูกต้อง 14.3 ล้านตัน คิดเป็น 54% กำจัดถูกต้อง 7.2 ล้านตัน คิดเป็น 27% และนำไปใช้ประโยชน์ 5.1 ล้านตัน คิดเป็น 19%
ส่วนขยะอุตสาหกรรม แบ่งเป็นขยะที่เข้าระบบกำจัดอย่างถูกต้อง 1.9 ล้านตัน และขยะที่ไม่เข้าระบบ 2 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังมีของเสียอันตรายและขยะติดเชื้อประมาณ 6 แสนตัน จึงมีขยะตกค้างสะสมถึง 30 ล้านตัน โดยจังหวัดสมุทรปราการมีขยะมูลฝอยตกค้างมากที่สุดกว่า 10 ล้านตัน
ปัญหาหลักของขยะตกค้างสะสมมาจากการทิ้งโดยไม่มีการคัดแยก และมีการนำกลับมาใช้ใหม่น้อย นอกจากนี้ มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องถึง 2,024 แห่ง จากที่สำรวจทั้งหมด 2,490 แห่ง
ขณะที่ ของเสียอันตรายจากชุมชน มีส่วนของขยะอิเลคทรอนิกส์ 3 แสน 7 หมื่นตัน โดยทีวีมีปริมาณมากที่สุด ตามด้วยเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น รวมทั้ง เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ส่วนของเสียอื่นๆ อีก 2 แสนตัน แบ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว 68% แบตเตอรี่แห้ง 17% หลอดไฟ 8% และยาฆ่าแมลง 7% ทั้งหมดไม่มีการจัดการที่ดีพอคือไม่มีระบบเก็บรวบรวมและเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังมีขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นปีละ 50,000 ตัน แม้ว่า 75 % จัดการได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การจัดการขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลระดับตำบลและคลินิกทั่วไป รวมถึง ขยะอุตสาหกรรมซึ่งเป็นของเสียไม่อันตรายที่มีอยู่ถึง 45.7 ล้านตัน และของเสียอันตรายที่มีปริมาณ 3.9 ล้านตัน แต่ 50 % ของขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดไม่เข้าระบบจัดการและมีการลักลอบทิ้ง
๐ ปัดฝุ่นแผนงาน วาง 10 แนวทางสำคัญ
ในวันนี้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ และเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติโรดแมพและระเบียบปฏิบัติในการจัดการขยะในประเทศไทย เริ่มด้วยขยะตกค้างสะสมหรือขยะเก่าประมาณ 30 ล้านตัน มีการจัดการโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ
“ระยะเร่งด่วน 6 เดือน” ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 11 จังหวัด กำจัดขยะเก่า 6 จังหวัด จาก 619 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) และนำร่องรูปแบบใหม่ 5 จังหวัด จาก 13 อปท. “ระยะปานกลาง 1 ปี” พื้นที่เป้าหมาย 20 จังหวัด 2,172 อปท. และ“ระยะยาว 1 ปี ขึ้นไป” พื้นที่เป้าหมาย 46 จังหวัด 4,979 อปท.
เมื่อขยะเก่าถูกจัดการแล้ว ขยะใหม่จะถูกจัดการด้วย “รูปแบบใหม่” คือ “มุ่งไปสู่การเปลี่ยนเป็นพลังงาน” โดยแบ่งการจัดการเป็น 3 ขนาดคือเล็ก-กลาง-ใหญ่ “ขนาดใหญ่” เมื่อขยะเกิน 300 ตันต่อวัน คือในเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต หาดใหญ่
“ขนาดกลาง” ปริมาณ 50-100 ตันต่อวัน เช่น เทศบาลเมืองน่าน เทศบาลตำบลเมืองแกลงจังหวัดระยอง เป็นต้น และ”ขนาดเล็ก” ปริมาณน้อยกว่า 50 ตันต่อวัน เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น นอกจากนี้ บ่อขยะจากเกือบ 2,500 แห่ง อาจจะลดลงเหลือ 300-400 แห่ง เมื่อใช้วิธีการที่เหมาะสม โดยขนาดใหญ่จะมีเรื่องเตาเผาเข้ามาเกี่ยวเพื่อจะสามารถนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานต่อไป ถ้าเล็กลงมาอาจจะเป็นการฝังกลบแล้วนำก๊าซมาใช้ หรือจะทำเป็นอาร์ดีเอฟ
ทั้งนี้ แนวทางสำคัญ 10 ข้อ ประกอบด้วย1.ห้ามเทกองแบบกลางแจ้ง 2.จัดการกับบ่อขยะเดิมที่ไม่ถูกต้อง 3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลในภาพรวม 4.มีแผนแม่บทการจัดการขยะของประเทศ 5.คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
6.รูปแบบใหม่ในการกำจัดขยะชุมชน โดยกำจัดแบบรวมศูนย์และแปรรูปเป็นพลังงาน หากจะให้สามารถจัดการกับขยะได้ 300 ตันต่อวันต่อแห่ง ซึ่งต้องสร้างไม่ต่ำกว่า 25 แห่ง แต่จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน 7.สร้างระบบจัดการของเสียอันตราย 8.ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนหรือดำเนินงานระบบ หากทำได้ดีกว่าหรือถูกกว่ารัฐ 9.สร้างวินัยคนในชาติ และ10.มุ่งสู่การจัดการอย่างยั่งยืน
๐ เดินหน้าลดอุปสรรค
“ตอนนี้มีการออกระเบียบชั่วคราว ต่อไปนี้เรื่องขยะทั้งหมดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกระทรวงหลักในการดูแล เพราะเดิมมีหน่วยงานมากมาย ถ้าเป็นขยะติดเชื้อมีกฎหมายสาธารณสุขใช้จัดการ ถ้าขยะอุตสาหกรรมก็เป็นกรมโรงงาน สำหรับเอกชนที่คิดเรื่องเตาเผาขยะแต่มีอุปสรรคเรื่องความเสี่ยง ซึ่งโรดแมปคิดมาเพื่อเรื่องนี้ เช่น ถ้าสร้างเตาเผาก็กลัวว่าขยะจะไม่เข้า ดังนั้น เรื่องแรกที่จะทำให้ลดความเสี่ยง คือการมีแผนแม่บท เมื่อมีการจัดการแบบรวมศูนย์จะทำให้มีปริมาณขยะตามที่ต้องการ”
“แต่ยังมีอุปสรรคอีกมาก เช่น ปัญหาอีไอเอ ปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุน ปัญหาผังเมือง แต่ข่าวดีคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จะยกเลิกเรื่องอีไอเอสำหรับเตาเผาขยะที่ผลิตไฟฟ้าเกิน 10 เมกะวัตต์ เป็นการผ่อนปรนลงมา นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนเรื่องพ.ร.บ.ร่วมทุนว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อทะลุปัญหาให้เอกชนผ่านได้ นี่คือเรื่องในระดับนโยบายของกระทรวง”
“ในเรื่องการคิดโรดแมปยังไม่ลงรายละเอียด เพราะคิดว่าตลาดจะแข่งขันด้วยตัวเอง อาจจะมีอะไรที่ดีกว่าไฟฟ้า แต่เป็นภาพฝันว่าถ้าเราจัดการที่ต้นทางได้ ขยะที่แยกมาก็จะเอาไปทำประโยชน์ต่างๆ เช่น ทำอาร์ดีเอฟ หรือวิธีอื่นๆ ตามกลไกตลาด ขณะนี้เป็นแบบหยาบๆ ก่อน”
“นี่คือรูปแบบใหม่ของการจัดการ เราจะไม่ปล่อยให้ท้องถิ่นทำตามใจแล้ว เมื่อเราไม่สามารถปล่อยให้ใครก็ตามจัดการขยะได้ตามใจ โรดแมปเราจึงจะมีการรื้อฟื้นระเบียบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมกฎกระทรวง การปรับปรุงกฎหมายเก่าให้ทันสมัย การเสนอกฎหมายใหม่ ซึ่งคาดว่าภายใน 4 เดือนข้างหน้าจะเสร็จ กฎหมายที่กำลังผลักดันโดยเร็วคือ พ.ร.บ.ขยะแห่งชาติกับกฎหมายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์”
“นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติ ท้องถิ่นจะต้องออกข้อบัญญัติตามที่กระทรวงกำหนด และสุดท้ายคือการสร้างวินัยคนในชาติ เพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี หรือเรื่องเงินทุน แต่จะแก้ปัญหาไม่ได้หากขาดวินัย สำหรับนักเรียนไม่ใช่การรณรงค์แต่ต้องบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมีพื้นที่นำร่องและต้องปฏิบัติจริง ขณะที่ภาคธุรกิจต้องช่วยเรื่องถุงพลาสติกและโฟม มีการพูดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะไม่มีการแจกถุงพลาสติกฟรี” วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดในการจัดการขยะ ในงานสัมมนา "Waste to Energy towards Green Society Achievement พลังงานจากขยะ มุ่งสู่สังคมสีเขียว" ที่จัดขึ้นโดยบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
๐ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย-สภาอุตฯ ชี้ทางออก
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า โรดแมปฉบับนี้ไม่แตกต่างจากฉบับเดิมมากนัก ทั้งนี้ การจัดการขยะของไทยมีอุปสรรคมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของคนไทย การออกกฎระเบียบและการควบคุมดูแลของภาครัฐ รวมถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้การจัดการที่ผ่านมาไม่ได้ผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม มองว่าการจัดการขยะของไทยต้องเป็นแบบ Co-benefit อย่ามองเฉพาะมุมสิ่งแวดล้อม แต่ต้องมองในแง่การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรคของประชาชนด้วย
โดยภาครัฐต้องทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนทำโครงการ ส่วนภาครัฐลงทุนด้านสาธารณูปโภครองรับ ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ และการสร้างสถานที่กำจัดขยะที่ต้องเป็นการกระจายความเจริญไปด้วย โดยให้ชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่นั้นได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี เป็นต้น
ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบ และการมองในมุมของซีเอสอาร์ด้วยการนำไปเชื่อมโยงกับธุรกิจ โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และควบคุมตลอดห่วงโซ่การผลิต สำหรับผู้ใช้ต้องเลือกให้เหมาะสม เช่น โรงแรมควรใช้ขวดน้ำแก้วที่นำมารีไซเคิลได้ 40 ครั้งแทนขวดพลาสติก เป็นต้น ส่วนรัฐต้องเข้มงวดกับการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรม ซึ่งมาตรการที่น่าจะได้ผลและกำลังมีการผลักดันคือภาษีบรรจุภัณฑ์
นิชุดา รุ่งถาวรวงศ์ Stakeholder Relations&Compliance Department Geocycle, Siam City Cement PCL. กล่าวว่า การนำขยะจากชุมชนมาเปลี่ยนเป็นความร้อนและใช้ในโรงงานผลิตซีเมนต์ สามารถจัดการขยะชุมชนได้ปีละ 1 แสนตัน และเห็นว่าการจัดการขยะที่ดีที่สุด คือการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง เพราะจะช่วยให้ไม่มีขยะไปที่หลุมฝังกลบ
โดยทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง ชุมชนปรับพฤติกรรม ธุรกิจควบคุมดูแลขยะตลอดห่วงโซ่การผลิต และรัฐมีนโยบายชัดเจน พร้อมเป็นผู้ประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
สำหรับโครงการกำจัดขยะนั้น เอกชนพร้อมลงทุน 100% แต่รัฐต้องลงทุนด้านสาธารณูปโภครองรับ และดูแลการกำจัดขยะของโรงงานอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง หากทำได้อย่างนี้เชื่อว่าไม่เกิน 10 ปีปัญหาขยะจะหมดไปได้
ขณะที่ พิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาคเอกชนพร้อมลงทุนโครงการจัดการขยะ ทั้งขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ โดยรัฐไม่ต้องเข้ามาลงทุน แต่มีอุปสรรคคือ รัฐมักประกาศว่าจะทำโครงการเอง จึงทำให้เอกชนชะงัก
นอกจากนี้ หากจะมีโครงการผลิตพลังงานจากขยะ รัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง และต้องปรับอัตราการคำนวณผลตอบแทนใหม่ ต้องมีไออาร์อาร์ระดับ 20-25% และการรับซื้อค่าไฟฟ้าต้องอยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย
สำหรับเทคโนโลยีจัดการขยะที่นำมาใช้ต้องเหมาะสมกับประเทศไทยซึ่งมีขยะเปียกและขยะพลาสติกจำนวนมาก ส่วนการทำซีเอสอาร์เรื่องขยะ ต้องมองเรื่องคุณค่า หรือซีเอสวีด้วย เพื่อให้การดำเนินโครงการต่อเนื่องไปในระยะยาวจนถึงปลายทาง
แนะทางเลือกเทคโนโลยีของไทย
การนำขยะมาใช้มี 3 วิธีการ คือ การเผา หรือ Combustion, กระบวนการ Gasification และ Pyrolysis ในกระบวนการเผาได้ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊ส รวมถึงเถ้าถ่าน ขณะที่ Gasification แปรสภาพให้ขยะเป็นไอได้ก๊าซชีวภาพ น้ำมันดิน และเถ้าถ่าน ส่วน Pyrolysis ทำให้ได้ก๊าซชีวภาพและน้ำมันดิน
แต่ละวิธีการจะใช้วัตถุดิบ และได้ผลลัพธ์ออกมาแตกต่างกัน รวมถึงเงินลงทุนที่ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ยังมีจุดดีและจุดด้อยแตกต่างกัน Dr. Jochen Amrehn Head, Thai - German double degree program, IMRE, KMITL กล่าวถึงวิธีการและเทคโนโลยีในการจัดการขยะ
เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วและนิยมใช้กันคือ การแปรสภาพขยะหรือวัสดุเหลือใช้เป็นแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล เรียกว่า RDF เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงต่อไป สำหรับการนำขยะไปเผาโดยตรง โดยไม่ต้องทำให้เป็น RDF ก่อน ยังต้องรอการพัฒนาเทคโนโลยีอีก 5-10 ปี
เทคโนโลยีแต่ละประเภทอาจใช้ได้ผลดีในบางประเทศ เช่น เยอรมนี แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้ในประเทศไทย ปัญหาสำคัญของไทยมาจากขยะมูลฝอยจากครัวเรือน ซึ่งเป็นขยะเปียกยากต่อการคัดแยก เพราะขยะครัวเรือนส่วนใหญ่จะถูกหุ้มด้วยพลาสติกหลายชั้น ทำให้กระบวนการหมักขยะล้มเหลว
ปัจจุบันการนำขยะไปเผาโดยตรงในไทย ซึ่งมีเตาเผาอยู่ 6 แห่ง ล้วนมีปัญหา และได้ค่าความร้อนต่ำ เพียง 3-4 เมกะจูล ขณะที่เยอรมนีได้ถึง 11 เมกะจูล ดังนั้น การนำขยะไปเผาโดยตรง และผลิตเป็นไฟฟ้าทำได้ยากในประเทศไทย ประกอบกับมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ
โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะในไทยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรายได้หลักของผู้พัฒนาโครงการต้องมาจากค่าไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบได้ ขณะที่ผู้พัฒนาโครงการในยุโรป รายได้หลักมาจากค่ากำจัดขยะ หรือ Tipping Fee ซึ่งอยู่ในอัตราสูง ดังนั้น สำหรับโครงการในไทย หากขยะเผาเป็นไฟฟ้าไม่ได้ โครงการก็ไม่สามารถเกิดได้
ข้อแนะนำคือ ต้องเข้าใจขยะในไทย และเลือกเทคโนโลยีที่จะจัดการและควบคุมได้ ที่สำคัญต้องบำรุงรักษาเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทต่างประเทศ