xs
xsm
sm
md
lg

บางจากถอดบทเรียนความสำเร็จ “จัดการขยะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


งานสัมมนา "Waste to Energy towards Green Society Achievement พลังงานจากขยะ มุ่งสู่สังคมสีเขียว" ที่จัดขึ้นโดยบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ญี่ปุ่น...จัดการอย่างต่อเนื่อง
ประเทศในเอเชียต่างจากตะวันตก เอเชียอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อาหารส่วนใหญ่มักเป็นน้ำ ต่างจากตะวันตกที่มีสภาพภูมิอากาศและอาหารที่แห้งกว่า ขยะมูลฝอยในเอเชียจึงมักเป็นขยะเปียก ดังนั้น เทคโนโลยีที่มาจัดการกับขยะของประเทศในเอเชียต้องคำนึงถึงสภาพของขยะ Dr.Masato Yamada Head, Center for Material Cycles and WasteManagement Research, National Institute for Environmental Studies, Japan กล่าว
สำหรับญี่ปุ่นมีการพัฒนาการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ทำให้มีขยะจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายในปี 1970 กำหนดนิยามของขยะแต่ละประเภท ทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะชุมชน และมีกฎหมายควบคุม
สำหรับขยะมูลฝอย ทุกบ้านมีโปสเตอร์บอกวิธีการคัดแยกขยะจากที่บ้าน และมีรถขยะมารับ โดยภายในมีเครื่องบดและอัด ในอดีตการคัดแยกขยะจากที่บ้านไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้นำมาตรการบังคับมาใช้ หากบ้านใดไม่มีการแยกขยะ จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล มาถึงปัจจุบันประชาชนแยกขยะเองโดยไม่ต้องใช้มาตรการบังคับ และพื้นที่ใดจัดการขยะไม่เหมาะสม ประชาชนยังออกมาจัดการเองด้วย ดังนั้นการจัดการขยะ ค่านิยมเป็นส่วนสำคัญ
สำหรับเทคโนโลยีในการกำจัดขยะให้หมดไป มีหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเผา และปัจจุบันมีการผสมผสานด้วยการนำขยะมาทำก๊าซชีวภาพด้วยการหมัก แต่ไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการขยะ เพราะแต่ละเทคโนโลยีมีข้อจำกัด จำเป็นต้องผสมผสานใช้หลายๆ เทคโนโลยีให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือ ต้องป้องกันโรคระบาดจากขยะได้ และเป็นระบบที่สามารถควบคุมได้
แนวทางการสื่อสารไปยังประชาชนเป็นเรื่องสำคัญในการทำโครงการเกี่ยวกับการกำจัดขยะ ที่ประเทศญี่ปุ่นต้องพูดคุยเป็นสิบครั้งจึงจะเข้าใจ และยอมรับร่วมกัน บางโครงการใช้เวลารวม 3 ปีในการพูดคุยกับประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ที่จะมีโครงการทำโรงบำบัดขยะแห่งใหม่
สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายมาก แต่ยากที่จะได้รับความร่วมมือในการบังคับใช้ แนวทางสำคัญรัฐและอุตสาหกรรมต้องพูดคุยกัน ต้องมีนโยบายสนับสนุน ขณะเดียวกัน เอกชนต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ผลิตมาขายด้วย
เนเธอร์แลนด์...ทุกฝ่ายร่วมวางแผน
ที่เนเธอร์แลนด์มีปริมาณขยะ 60 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นขยะจากอุตสาหกรรม และมี 15% เป็นขยะครัวเรือน หรือ 9.2 ล้านตันต่อปี นโยบายการจัดการขยะของเนเธอร์แลนด์ยุคแรก เกิดขึ้นในปี 1875 -1975 มุ่งเน้นสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก โดยเทศบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ นำขยะออกไปทิ้งนอกเมือง เพื่อแก้ปัญหาโรค
อหิวาต์ระบาด โดยไม่ให้ความสำคัญกับกองขยะที่ถูกทิ้ง Dr.Herman Huisman Expert, Ministry of Infrastructure and the Environment, The Netherlands กล่าวถึงการจัดการขยะของเนเธอร์แลนด์
ต่อมาเริ่มมองปัญหาสิ่งแวดล้อม หลังจากเริ่มหาที่ทิ้งขยะนอกเมืองยากขึ้น จากปริมาณขยะที่เพิ่มจากการเติบโตของจำนวนประชากร จึงเริ่มมองนโยบายแบบบูรณาการ หาแนวทางการรีไซเคิลขยะ
ในระยะหลังการจัดการขยะของเนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้มาตรการของสหภาพยุโรป ซึ่งในปี 1990 มีการตั้งคณะกรรมาธิการนโยบายจัดการขยะขึ้น มีกรรมการจากรัฐบาลกลาง จังหวัดและท้องถิ่น นักวิทยาศาสตร์ ที่ปรึกษาหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มเอ็นจีโอและประชาชน เพื่อมาร่วมกันวางแผนระดับชาติ มุ่งเน้นการบริหารจัดการขยะ และทุก 6 ปีจะมีการปรับวิธีการจัดการขยะใหม่
ด้วยการเน้นการคัดแยกจากบ้าน และนำมาทิ้งที่ศูนย์จัดการขยะใกล้บ้าน เรียกว่า Recycle Shop ซึ่งดำเนินการโดยเทศบาล เพื่อให้ประชาชนนำขยะมาทิ้ง โดยมีถังรองรับขยะประเภทต่างๆ กว่า 18 ถัง อาทิ พลาสติก แก้ว อิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น และจะมีองค์กรมาดูแลขยะแต่ละประเภท โดยขยะ 80% จะถูกรีไซเคิลหมด ที่เหลือถูกเผาแปลงเป็นพลังงาน ขณะที่ประชาชนมีหน้าที่จ่ายภาษีให้เทศบาล ส่วนผู้ผลิตสินค้าต้องจ่ายค่ารีไซเคิลขยะ ซึ่งจะถูกบวกไปในราคาสินค้า
อีกมาตรการสำคัญ คือการจ่ายค่าเก็บขยะ ซึ่งถูกกว่าการเสียภาษีฝังกลบขยะต่อตัน ดังนั้น การรีไซเคิลจึงมีมากขึ้นตามลำดับ มาตรการนี้ได้ใช้มาตลอดช่วงทศวรรษ 90 ภายใต้ความร่วมมือของ 3 ส่วน คือ รัฐบาลกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น รวมทั้ง ประชาชนตระหนัก และภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ผลิตมีความรับผิดชอบ
เนเธอร์แลนด์ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลขยะจาก 60% เป็น 75% ในปีค.ศ.2020 และให้การนำไปฝังกลบเป็นศูนย์ โดยไม่มีการเปิดหลุมฝังกลบใหม่
สำหรับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จะถูกนำไปเข้าเตาเผา ซึ่งการสร้างเตาเผา เดิมมีการคัดค้าน แต่มีการเจรจากับประชาชนและกลุ่มเอ็นจีโอ จนได้ข้อยุติ ทำให้มาตรฐานมลภาวะจากการเผาขยะอยู่ในระดับ 5-10 % ของมาตรฐานตามกฎหมาย จึงไม่มีการต่อต้าน
ดังนั้น การจัดการขยะจำเป็นต้องดึงทุกคนเข้ามาหารือ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนต้องเข้ามาร่วม เพื่อให้การออกกฎหมายบังคับใช้ได้ และต้องมีมาตรการให้แรงจูงใจร่วมด้วย
อีกมาตรการคือการสร้างนิสัยในชีวิตประจำวันในการลดปริมาณขยะ ยกตัวอย่าง คนเนเธอร์แลนด์จะนำถุงผ้ามาใส่ของที่ซื้อจากซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งต้องสร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่เด็ก โดยต้องนำเรื่องการจัดการขยะเข้าไปอยู่ในการศึกษา และทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนระดับประเทศ ให้เป็นแผนที่ปฏิบัติได้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น