xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ต 2020 ลุ้นกันซิว่าขยะ ล้น? หรือ ไม่ล้น?(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อรรณนพ เพ็ชรภิมล

“ขยะ” เป็นของคู่กันกับเมืองท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ว่าทั้งจำนวนประชากร นักท่องเที่ยว และกิจกรรมด้านท่องเที่ยวรวมถึงการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ต่างๆล้วนเป็นต้นเหตุของขยะ หากแต่ละพื้นที่ไม่มีระบบจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เมืองท่องเที่ยวเหล่านั้นก็จะต้องประสบกับชะตากรรมเดียวกัน

จังหวัดภูเก็ตเองนั้นได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะมายาวนาน ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการลงทุนสร้างระบบจัดการขยะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ขณะนี้สถานการณ์เริมกลับมาวิกฤติ เพราะขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละหลายสิบตัน และจากการคาดการณ์อีก 5 ปีข้างหน้า ขยะของภูเก็ตจะ “ล้นเมือง” อีกครั้ง

จากสภาพขยะกองมหึมาที่เห็นอยู่ภายในบ่อฝังกลบที่ 4 ของโรงเผาขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต เป็นขยะที่ผ่านการคัดแยกเรียบร้อย เตรียมนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผารวมกับขยะจากชุมชน ที่ส่งมาจากพื้นที่ต่างๆทั่วทั้งจังหวัด แบ่งเป็นอัตราส่วนการเผา 30 : 70 คือปริมาณขยะค้างเก่าคัดแยกแล้วจากบ่อขยะ 30 เปอร์เซ็นต์ และขยะชุมชน 70 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งตลอดทั้งวันภายในโรงเผาขยะแห่งนี้ จะมีรถบรรทุกขยะของเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆทยอยนำขยะมาเข้าระบบเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยปริมาณขยะรวม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 690 ตันต่อวัน บางส่วนเป็นขยะที่มีการคัดแยกมาแล้ว ก็จะสามารถนำเข้าสู่เตาเผาได้ทันที

สำหรับโรงเผาขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนสะพานหินกลางเมืองภูเก็ต มีพื้นที่กว่า 291 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บ่อฝังกลบขยะ 5 บ่อจำนวน 120 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีการฝังกลบขยะเต็มพื้นที่แล้ว และไม่สามารถฝังกลบขยะเพิ่มเติมได้ ส่วนที่ 2 เป็นส่วนระบบบำบัดน้ำเสียขยะ 14 ไร่ และส่วนของเตาเผาขยะ ปัจจุบันมีเตาเผาขนาดใหญ่ จำนวน 3 เตา คือเตา A B และ C

แต่ปัจจุบันสามารถใช้งานได้เพียง 2 เตาคือ B และ เตา C ซึ่งเป็นเตาเผาที่สร้างขึ้นใหม่ ด้วยงบประมาณ 940,600,000 บาท ขนาด 359 ตัน 2 ชุด เปิดใช้งานมาได้เพียง 2 ปี ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 เตาคือเตา A ขนาด 250 ตัน ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากมีการเปิดใช้งานมาเป็นระยะเวลากว่า 13 ปี

โดยโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะที่ใช้งานปัจจุบัน เป็นความร่วมมือของบริษัทพีเจที เทคโนโลยีจำกัดกับบริษัท ไอริส คอเปอเรชั่น เบอร์ฮาด เข้ามาลงทุนและบริหารจัดการ ภายใต้การกำกับดูแลของกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครภูเก็ต สามารถรองรับการเผาขยะได้สูงสุด 700 ตันต่อวัน ซึ่งนอกจากจะมีกระบวนการเผาที่ควบคุมมลพิษแล้ว ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้วันละ 10 เมกกะวัตต์

ซึ่งกระบวนการในการกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตกระแสไฟฟ้าของที่นี่เริ่มขึ้นหลังรถนำขยะมาส่ง และเทลงในบ่อพักขยะขนาดใหญ่ จากนั้นเครน 2 ตัวจะทำหน้าที่คีบขยะป้อนเข้าสู่เตาเผาที่สร้างขึ้นด้วยลักษณะพิเศษ และเริ่มการเผาด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 400 องศา ระหว่างนั้นจะมีกำจัดไนโตรเจนอ๊อกไซให้ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ก่อนจะนำพลังงานความร้อนจากการเผาที่ได้ ส่งไปเข้าในหม้อผลิตไอน้ำ และส่งไอน้ำที่ได้ไปปั่นกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะสั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการโดยเฉพาะ

จากเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานดังกล่าวทำให้หลายภาคส่วนมีแนวคิดที่จะนำโมเดลโรงเผาขยะของที่นี่ ไปเป็นต้นแบบการจัดการขยะในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งล่าสุด พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และในฐานะ หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติได้ให้ความสำคัญเข้ามาดูงานและเตรียมผลักดันให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนก่อสร้างระบบเตาเผาและระบบกำจัดขยะเช่นเดียวกับที่ภูเก็ต

นายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ตกล่าวถึงสถานการณ์ขยะของจังหวัดภูเก็ตขณะนี้ว่า ปริมาณขยะมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.3 เปอร์เซ็นต์ และในอนาคตอันใกล้อีก 5 ปีข้างหน้าคือในปี 2562 คาดว่าเตาเผาแห่งนี้จะต้องรองรับขยะเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตันต่อวัน ดังนั้นจึงต้องเร่งขออนุมัติงบประมาณจำนวนกว่า 530 ล้านบาทเพื่อซ่อมแซมเตาเผาเก่าที่ชำรุด ให้สามารถรองรับขยะได้อีก 250 ตันต่อวัน จะทำให้มีกำลังสามารถรองรับได้ทั้งหมด 950 ตัน

ส่วนขยะที่เหลือกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบในการบริหารจัดการ ยังต้องเร่งขอความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นต่อเนื่องให้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ที่มีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในขยะทั้งหมดจากชุมชนออก เพื่อลดปริมาณขยะที่เข้าสู่เตาเผา พร้อมทั้งรณรงค์ส่งเสริมให้นำขยะอินทรีย์ทำปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน

ขณะเดียวกันก็มีแผนจะทำให้ชุมชนร่วมใส่ใจในขยะอันตราย มากขึ้น เพราะปัจจุบันขยะอันตรายสามารถคัดแยกจัดเก็บได้เพียงแค่ 2 ตันต่อปี จากที่มีอยู่นับ 10 ตันต่อปี เนื่องจากมีการทิ้งปะปนกับขยะอื่น ทำให้ไม่ได้ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง

ล่าสุดได้มีโครงการถ่านไฟฉายแลกทุนการศึกษาเกิดขึ้น โดยให้นักเรียนของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลทุกแห่ง เก็บรวบรวมถ่านไฟฉายให้ได้ในปริมาณที่กำหนด และส่งให้กับโรงเรียนนำไปแลกทุนการศึกษาทุนละ 2,000 บาท

อย่างไรก็ตามในภาพรวมการจัดการขยะของจังหวัดภูเก็ตในขณะนี้นับว่ายังไม่สมดุลกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตตามที่คาดการไว้ในปี 2562 การเติบโตของเศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว ชุมชน สังคม และกิจกรรมต่างๆจะส่งผลให้ปริมาณขยะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอีกเกือบเท่าตัว

นาทีนี้เทศบาลนครภูเก็ตเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเร่งหางบประมาณซ่อมแซมเตาเผาเตาเก่าให้สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งหาแหล่งรองรับขยะแห่งใหม่ล่วงหน้า เพื่อทดแทนบ่อปัจจุบันซึ่งอยู่ใจกลางเมือง ที่สำคัญยังต้องเร่งกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกหลังคาเรือนมีการคัดแยกขยะ ลดภาระโรงเผาขยะมูลฝอยลงให้ได้ก่อนปี 2020 จะมาถึง ชาวภูเก็ตเองนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการขยะเเล้ว ยังคงต้องมาร่วมลุ้นกันด้วยว่าปริมาณขยะจะ ล้น? หรือ ไม่ล้น? เมือง




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น