ขยะติดเชื้อล้นโรงพยาบาล กรมอนามัยเผยเกิดขึ้นวันละ 1.2 แสนกิโลกรัมต่อวัน ตกปีละ 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหตุโรงพยาบาลขยายตัว รักษาผู้ป่วยมากขึ้น แต่การกำจัดได้เพียงวันละ 1 แสนกิโลกรัม ที่เหลือปนกับขยะทั่วไป ชู รพ.ละงู ต้นแบบคัดแยกขยะ มีระบบเผาขยะได้มาตรฐาน เตรียมดันโมเดลรับเผาขยะติดเชื้อจาก รพ.สต.ในเครือ ใช้กับ รพช.ทั่วประเทศ
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่โรงพยาบาลละงู จ.สตูล ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขยะติดเชื้อเกิดขึ้นได้จาก 3 แหล่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ดูแลคนไข้ โรงพยาบาลสัตว์ และห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ทั่วประเทศมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้น 43,000 ตันต่อปี หรือ 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี เฉลี่ย 120 ตันต่อวัน หรือ 1.2 แสนกิโลกรัมต่อวัน นับเป็นปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเยอะมาก แต่ประสิทธิภาพในการทำลายจากเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่ตามเทศบาลและเอกชนรองรับได้เพียงวันละ 100 ตัน หรือ 1 แสนกิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ที่เหลือปนเปื้อนไปกับขยะทั่วไป นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล
“แนวโน้มของขยะติดเชื้อมีมากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายตัวและมีการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้การจัดการขยะติดเชื้อยังประสบปัญหา ตั้งแต่แหล่งกำเนิด เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของระบบคัดแยกขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล สภาพเตาเผาที่ชำรุด และไม่มีการตรวจวัดมาตรฐานอากาสเสียจากปล่องควันตามกฎหมาย อีกทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้สถานพยาบาลมีแนวโน้มในการส่งขยะติดเชื้อให้เอกชนกำจัดนอกสถานพยาบาลมากขึ้น ซึ่งขยะติดเชื้อที่กำจัดไม่ถูกวิธีจะแพร่กระจายเชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่น โรคท้องร่วง เชื้ออหิวาตกโรค ไทฟอยด์ โรคบิด บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบ และโรคเอดส์” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
ทพ.สุธา กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ โรงพยาบาลต้องพยายามลดการใช้ขยะลง เช่น ผ้าก๊อต จากเดิมใช้ 4 แผ่น อาจใช้เพียง 2 แผ่น ส่วนขวดแก้วยาปฏิชีวนะแทนที่จะเอาไปทิ้ง ก็ให้นำไปฆ่าเชื้อ อบไอน้ำ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหลอดและเข็มฉีดยาก็ทำลายตัวเหล็กแล้วนำพลาสติกที่เหลือไปขายเป็นขยะรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ กรมอนามัยจะเร่งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเตาเผาขยะที่ได้มาตรฐานและเพิ่มเตาเผาขยะในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อที่จะได้เป็นศูนย์ในการดูแลกำจัดขยะให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยรอบ เช่น รพ.ละงู จ.สตูล ที่มีการดำเนินงานในเรื่องนี้ นับเป็นโมเดลที่กรมอนามัยจะนำไปดำเนินการกับ รพช. ทั่วประเทศ
ด้าน นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู กล่าวว่า ทุกวันนี้จำนวนขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลมีประมาณ 150 กิโลกรัมต่อวัน และจำนวนขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. ในเครือข่าย รพ.ละงู จำนวน 11 แห่ง ประมาณ 160 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีการขนขยะติดเชื้อ ทุกวันๆ ละ 2 เวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 07.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 15.30 น. จากนั้นนำมาเผาด้วยความร้อนสูงของเตาเผาขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยการขนขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. โรงพยาบาลจะมีรถขนขยะในระบบปิด ไม่ติดแอร์ไปรับขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. ทุกวันพฤหัสบดี โดยบรรจุในถังสีแดง แล้วนำกลับมาพักไว้ที่โรงพักขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลเพื่อรอเผาในวันศุกร์ ซึ่งขยะที่รับมาจะมีการชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ และติดป้ายชัดเจนว่ามาจากที่ไหน ส่วนรถขนขยะหลังจากขนแล้วต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง และพนักงานขับรถต้องอาบน้ำทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภารกิจ
นพ.ปวิตร กล่าวอีกว่า สำหรับการแยกขยะของโรงพยาบาลแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ขยะติดเชื้อ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย โดยขยะอันตรายเริ่มมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ แบตเตอรี หลอดไฟ ถ่าน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลจัดการด้วยการบรรจุลงกล่องพลาสติก ก่อนนำไปใส่ในถังที่เก็บไว้ในบ่อปูนปิดสนิท ซึ่งฝังอยู่ในดิน ทำให้ไม่มีปัญหาสารอันตรายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แต่ใน 5-10 ปี อาจมีปัญหาพื้นที่ไม่พอเก็บ แต่ในอนาคตอันใกล้มีการประสานกับ อบจ.ซึ่งจะรับขยะส่วนนี้ไปกำจัดให้ในภายหลัง
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่