xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยวาง 5 ยุทธศาสตร์ลดปัญหาขยะล้นเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2557 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้แก่บุคลากรและประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของการลดปริมาณขยะ วาง 5 ยุทธศาสตร์ดำเนินการแก้ปัญหา

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดกิจกรรม รณรงค์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2557 ณ โรงอาหารกรมอนามัยว่าทุกวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี ทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกรักษ์โลกขึ้น เพื่อเชิญชวนให้ประชาชน เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันปัญหาขยะล้นเมืองที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของประเทศ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมที่ขยายเป็นวงกว้างแล้ว ยังพร้อมที่จะคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่องและรุนแรง สำหรับประเทศไทยในแต่ละวันมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 8,766 ตัน ในเขตเทศบาลเมืองและ เมืองพัทยาประมาณ 16,620 ตัน และนอกเขตเทศบาลประมาณ 16,146 ตัน ซึ่งขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สารร้อยละ 64 รองลงมาคือ ขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปรีไซเคิล ได้ ร้อยละ 30 แต่กลับมีการนำไปใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิลเพียง 3.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และถึงแม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างระบบกำจัดขยะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังมีการกำจัดขยะ แบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง การเผาในที่โล่ง อยู่ถึงร้อยละ 81 ของสถานที่ที่มีการกำจัดขยะ

แนวทางการแก้ปัญหาขยะ กรมอนามัยได้วาง 5 ยุทธศาสตร์ดังนี้ 1) การแยกขยะครัวเรือน หรือการแยกทิ้งขยะ ณ แหล่งกำเนิด เน้นการใช้ประโยชน์จากขยะ เมื่อทุกบ้านหรือสถานที่ต่างๆ มีการแยกทิ้งขยะจะทำให้มีขยะ บางส่วนที่จำหน่ายได้จะถูกแยกนำไปจำหน่าย เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว หรือโลหะ ขยะบางส่วนจะถูกแยกนำกลับไปใช้ใหม่ เช่น เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้จะถูกนำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักอีเอ็ม เป็นต้นทำให้ขยะที่ต้องนำไปกำจัดมีปริมาณน้อยลง 2) การเก็บค่ากำจัดขยะ ตามพรบ.สาธารณสุขท้องถิ่นสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เฉพาะค่าเก็บขนเท่านั้น ส่วนค่ากำจัดเก็บไม่ได้ ซึ่งกรมอนามัยกำลังดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อให้ท้องถิ่นหรือเทศบาลสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะได้ 3) ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดการเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อ เน้นหลักการบำบัด หรือกำจัดที่แหล่งกำเนิด เช่น โรงพยาบาลใช้ Autoclave ทำลายเชื้อโรคในขยะก่อนทิ้ง เป็นต้น 4) การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ และเข้มงวดการทิ้งและกำจัดขยะอันตรายจากอุตสาหกรรมและบ้านเรือน และ5) สำรวจกองขยะเก่าเพื่อทำสวนสาธารณะ ขณะนี้มีกองขยะเก่าประมาณร้อยละ 80 ทั่วประเทศ กำจัดไม่ถูกต้อง กรมอนามัยจะทำการตรวจสอบว่ากองขยะไหนไม่ปล่อยสารเคมีหรือสารโลหะหนักปนเปื้อนน้ำบาดาล น้ำผิวดิน หรือแม่น้ำลำคลองที่อยู่ใกล้กองขยะดังกล่าว กรมอนามัยจะเสนอให้เจ้าของหรือท้องถิ่นดำเนินการฝังกลบทำเป็นสวนสาธารณะโดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีสั่งการ

"ทั้งนี้ การจัดการขยะล้นเมืองที่ดีที่สุด ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือหลักจากประชาชนทุกคนที่ตระหนักและรู้ถึงวิธีการจัดการขยะแต่ละประเภทให้ถูกวิธี โดยเฉพาะขยะพิษ ประเภทกระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย น้ำยา ทำความสะอาด เป็นขยะที่ต้องแยกใส่ถุงพลาสติกและนำไปทิ้งในถังหรือภาชนะที่เก็บแยกซึ่งมีสีและลักษณะแตกต่างจากถังขยะทั่วไป ส่วนใหญ่จะวางไว้ตามจุดต่างๆ เช่น ปั้มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า แต่ถ้าไม่สามารถหาถังหรือภาชนะดังกล่าว เพื่อทิ้งขยะได้ก่อนนำไปทิ้งต้องเขียนหน้าถุงว่าขยะอันตราย การคัดแยกขยะให้ถูกต้องไม่เพียงแต่ทำให้สภาพแวดล้อม ในชุมชนดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ลดค่าใช้จ่ายให้กับชุมชนอีกด้วย”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น