xs
xsm
sm
md
lg

"หมักก่อนแยก" เทคโนโลยีกำจัดขยะแบบไทยๆ (คลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงจัดการขยะชุมชนเกาะยาวน้อย
เพราะเห็นข้อจำกัดในการกำจัดขยะของคนไทย ไม่ว่าพฤติกรรมที่ทำให้การแยกขยะไม่สำเร็จ หรือระบบจัดการขยะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแยกขยะ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะด้วยหลักการ "หมักก่อนแยก"

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ จากศูนย์ความเป็นเลิศทาวด้านชีวมวล สำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวถึงลักษณะการทิ้งขยะของคนไทยว่า การทิ้งทุกสิ่งรวมกันทั้งขยะเปียก ขยะรีไซเคิล หรือขยะอันตราย ทำให้เป็นปัญหาในขั้นตอนคัดแยกขยะ เพราะเกิดกลิ่นเหม็นจากการบูดเน่า

การทิ้งขยะแบบไม่แยกประเภทนี้ จึงไม่เหมาะสำหรับเทคโนโลยีจำกัดขยะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลักการกำจัดขยะด้วยแนวคิด "แยกก่อนหมัก" คือแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออกจากการขยะเปียกที่เหลือจากการคัดแยก แล้วหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทว่า ผศ.ดร.วีรชัย ได้ข้อสรุปว่า การกำจัดขยะแบบ "หมักก่อนแยก" นั้นสอดคล้องกับพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทยมากกว่า

ทั้งนี้ ผศ.ดร.วีรชัยเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร ที่ปรับสภาพขยะด้วยวิธีคัดแยกทางกลและการหมักทางชีวภาพ (Mechanical and Biological Waste Treatment: MBT) ซึ่งท้ายสุดจะได้ผลผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ และวัสดุปรับปรุงดิน

เมื่อรถขยะไปถึงโรงงานบำบัดขยะด้วยเทคโนโลยี MBT ขยะจะเข้าสู่สายพานคัดแยกเพื่อให้คนงานคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ รวมถึงขยะอันตรายต่างๆ ส่วนขยะแห้งบางอย่างที่ไม่สามารถคัดแยกได้ เช่น ถุงแกง พลาสติกห่อขยะเปียก ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เป็นต้น จะถูกส่งไปยังขั้นตอนสับหยาบด้วยเครื่องจักร เพื่อเข้าสู่กระบวนการหมักด้วยวิธีทางกลและชีวภาพหรือ MBT ร่วมกับขยะเปียกอื่นๆ

ในขั้นตอนหมักขยะนี้ มีเครื่องจักรสกรูที่ช่วยให้ขยะที่กองอยู่ด้านล่างได้สัมผัสอากาศมากขึ้น ทำให้กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพดีขึ้น และย่นเวลาในหมักขยะเหลือเพียง 1 เดือน ซึ่งในกระบวนการหมักนี้ อุณหภูมิขยะจะเพิ่มสูง 60-70 องศาเซลเซียส ทำให้เชื้อโรคอย่าง E.coli ตายได้

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีรชัย ยังกำชับให้คนงานคัดแยกขยะ คัดแยกขยะอันตราย อาทิ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรีต่างๆ ออกจากกองขยะก่อนเข้าสู่กระบวนการสับหยาบ เพราะหากขยะอันตรายเหล่านี้ถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยจะทำให้โลหะหนักในขยะอันตรายเหล่านั้นหมุนเวียนในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร

หลังกระบวนการหมัก ขยะจะถูกลำเลียงเข้าสู่เครื่องร่อน ซึ่งจะได้ผลผลิตเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และมูลฝอยเหลือทิ้ง ส่วนที่ยังเหลือในระบบจะถูกลำเลียงต่อเข้าเครื่องคัดแยกด้วยลมและเครื่องคัดแยกเหล็กด้วยแม่เหล็ก เพื่อคัดแยกขยะรีไซเคิล และได้เชื้อเพลิงขยะส่วนหนึ่งออกมา ส่วนที่เหลือถูกลำเลียงต่อเข้าเครื่องจับก้อนและเครื่องอัดแท่ง ได้เป็นเชื้อเพลิงขยะอัดก้อนและเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง

เชื้อเพลิงขยะหรือขยะพลาสติกนั้นนำไปทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ส่วนเชื้อเพลิงขยะอัดก้อนและเชื้อเพลิงขยะอัดแท่งนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกด้วยระบบไพโรไรซีส (Pyrolysis Oil Plant) ที่ทาง มทส.มีโรงงานต้นแบบที่มีกำลังผลิตน้ำมันจากกระบวนการดังกล่าววันละ 6,000 ลิตร

สำหรับการบำบัดขยะด้วยวิธี MBT นี้ มีโรงงานต้นแบบที่ มทส. ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 และขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ รวมถึงในพื้นที่ ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้จัดการขยะชุมชน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากคลีนิคเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์การบริการส่วนตำบลเกาะยาว ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการขยะชุมชน

นายมานิตย์ มาตรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย เผยข้อมูลว่า ชุมชนเป็นเกาะกลางทะเล มีประชากร 1,611 ครัวเรือน มีปริมาณขยะวันละ 3-5 ตัน และมีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละ 10,000 คน ซึ่งผู้มาเยือนส่วนใหญ่ถูกดึงดูดด้วยความงดงามทางธรรมชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ดี นายมานิตย์กล่าวว่าเตาเผาขยะในชุมชนเกาะยาวน้อยที่มีอยู่ไม่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยจากชุมชนได้หมด เนื่องจากขยะมีความชื้นสูง จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ อบต.เกาะยาวน้อย และ มทส.จัดโครงการบริหารจัดการขยะชุมชนด้วยเทคโนโลยีกำจัดขยะแบบ MBT โดยลงนามความร่วมมือกันเมื่อปี 2556


ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ
ทางขึ้นลานจอดรถขยะ
เครื่องสับหยาบ
กองขยะที่หมักด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเชิงกล
เครื่องอัดขยะ






กำลังโหลดความคิดเห็น