xs
xsm
sm
md
lg

Green vision : ส.อ.ท. ชูยุทธศาสตร์เข้ม ด้านสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมถูกจับตาเสมอว่า กำลังทำอะไร สร้างความเสียหาย หรือก่อความเดือดร้อนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร นั่นเป็นบทบาทสำคัญ สอดคล้องกับหนึ่งในสี่ ยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. ซึ่งมุ่งเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) หมายความว่า
หนึ่ง ส่งเสริมให้ ส.อ.ท. เป็นองค์กรชั้นนำและได้รับการยอมรับของคนทั่วประเทศ และเป็นตัวอย่างขององค์กรที่มีความโปร่งใส ปราศจากคอรัปชั่น
สอง ปกป้องให้ ส.อ.ท. เป็นองค์กรที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
สาม ปลูกจิตสำนึกให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR)
ยุทธศาสตร์และนโยบาย ในปี 2557 - 2559 ของ ส.อ.ท. คือการนำพาองค์กร และภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง และเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมใน AEC (AEC Industrial Leader) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน”
ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่ในสายงานที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาล เป็นเรื่องของซีเอสอาร์ จรรยาบรรณการทำธุรกิจ อยู่ในภายใต้การดูแลของสายงานใหม่ ซึ่งเรามีเป้าหมายจะช่วยภาครัฐผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยอยู่ร่วมได้ดีกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกำหนดแนวทางร่วมกันว่า ต้องมีการนำผู้บริหารใน ส.อ.ท.ไปพบปะผู้บริหารในกระทรวง เดือนละครั้ง
ที่ผ่านมานั้นจะเห็นว่ามีการมอบรางวัลให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำดี แต่ต่อไปก็อาจจะต้องชี้ไปว่าโรงงานอุตสาหกรรมใดบ้างที่ทำร้ายสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคควรรับรู้และจะตระหนักว่าไม่ควรไปสนับสนุน
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือสังคมและปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก นำไปใช้เป็นแบบอย่าง ซึ่งสามารถช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน
อย่างที่ ส.อ.ท. โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เป็นองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือขององค์กรภาคอุตสาหกรรมไทยรายใหญ่ๆ 16 องค์กร พวกเขาแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และล่าสุดได้เผยผลการศึกษาโครงการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
ที่น่าสนใจมาก คือ ตัวเลขปริมาณขยะที่ได้จากการศึกษาในรอบปี 2556 ได้แก่ ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเกือบ 5 หมื่นตันต่อวัน หรือ กว่า 18 ล้านตันต่อปี โดยมีอัตราการผลิตขยะต่อคน 0.79 กิโลกรัมต่อวัน
ตัวเลขขยะดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางที่ TIPMSE ดำเนินการด้านสร้างแหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยสร้างเป็นเครือข่ายให้ชุมชนนำขยะรีไซเคิลมาสร้างมูลค่า ตั้งร้าน 0 บาท ให้ชาวบ้านในชุมชนนำขยะมาแลกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งช่วยการสร้างรายได้จากขยะ รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปวัสดุรีไซเคิล มีธนาคารขยะ
แม้กระทั่ง วัด อีกที่พึ่งพาของชุมชนส่วนใหญ่ เราได้ไปนมัสการสนทนาแลกเปลี่ยนกับพระหลายๆ วัด เพื่อให้ได้ทราบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งท่านจะเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านได้รู้ถึงแนวทางการใช้ชีวิตแบบพอเพียง สิ่งเหล่านี้ สมาชิก ส.อ.ท. ต้องตระหนัก และมีแนวคิด แนวปฏิบัติที่เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม

"อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือสังคมและปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก นำไปใช้เป็นแบบอย่าง"
สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น