-ระบบนิเวศท้องทะเลไทยรอบๆ หมู่เกาะสีชัง ในขณะนี้กลับคืนสภาพความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น
-โดยเฉพาะปะการังที่ฟื้นตัวและเติบโตกว่าร้อยละ 50 เป็นผลสืบจาก “โครงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์และฟื้นฟูแนวปะการัง” ที่ได้เครือไทยออยล์ และพันธมิตร ขับเคลื่อนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน คนในชุมชนเกาะสีชัง และนักท่องเที่ยว ตระหนักถึงการอนุรักษ์ปะการัง และเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยออยล์ยังได้ขึ้นแท่นเป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2015 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน นับว่าตอกย้ำเจตนารมณ์การทำ CSR ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ทุกวันนี้หลายคนตระหนักแล้วว่า “ระบบนิเวศปะการัง” สำคัญมากต่อมวลมนุษย์ เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารของระบบนิเวศท้องทะเล แต่แนวปะการังยังสร้างแนวกั้นทางธรรมชาติที่ช่วยปกป้องชายฝั่งจากคลื่นขนาดใหญ่ให้ลดขนาดลงในแนวปะการังก่อนที่จะพัดถึงชายฝั่ง
เนื่องจากพื้นที่หมู่เกาะสีชัง มีแนวปะการังทอดยาวถึง 0.63 ตารางกิโลเมตร และมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ประมาณกว่า 11 ล้านตัว จึงมีคุณค่าทางระบบนิเวศ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมาก
ด้วยเหตุนี้ เครือไทยออยล์ จึงเอาจริงกับการฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมในท้องทะเลไทย ผ่าน “โครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังและฟื้นฟูแนวปะการัง” บริเวณหมู่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยร่วมกับพันธมิตร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำและคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปลูกสำนึกชุมชน - นักท่องเที่ยว อนุรักษ์ปะการัง
โครงการนี้เริ่มจากการติดตั้งทุ่นผูกเรือเพื่อติดป้ายประชาสัมพันธ์โครงการเป็นทุ่นลอยน้ำ ล้อมรอบบริเวณแนวปะการังที่จะทำการฟื้นฟู โดยพื้นที่ที่ใช้ในการวางทุ่นลอยน้ำมี 2 จุด คือทิศเหนือของเกาะขามใหญ่ และบริเวณหน้าสถานีวิจัยเกาะสีชัง สำหรับการอนุบาลกิ่งพันธุ์ของปะการังแบบไม่อาศัยเพศ จะให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและดูแลทุ่นลอยน้ำ ซึ่งจะสามารถสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้กลับมาสู่ทะเลไทยอีกครั้งหนึ่ง
วิโรจน์ มีนะพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับกิจการองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เครือไทยออยล์เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงได้จัดทำโครงการนี้ สิ่งที่ดำเนินการไป ได้แก่ การสร้างแหล่งอนุบาลและขยายพันธุ์ปะการัง ก่อสร้างโรงเพาะพันธุ์ปะการัง และอนุบาลปะการังขึ้นที่สถานีวิจัย วิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกาะสีชัง รวมถึงการขยายพื้นที่อนุรักษ์ไปยังบริเวณเกาะต่างๆ รอบหมู่เกาะสีชัง โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา เราได้ขยายพื้นที่ไปยังเกาะขามใหญ่ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมากขึ้น และยังส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ เครือไทยออยล์ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังปลูกฝังการอนุรักษ์ปะการังและทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำพนักงานจิตอาสาชมรมนักดำน้ำเครือไทยออยล์ ร่วมกับชุมชนชาวเกาะสีชัง นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบ 21 รักษาพระองค์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ร่วมทำกิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม ทั้งการจัดเรียงแท่งคอนกรีตใต้ทะเลเป็นแนวปะการังใต้น้ำ และทำแปลงอนุบาลปะการังจากท่อพีวีซี เพื่อปักชำระปะการังเขากวางเข้ากับโครงก่อนนำไปเพาะเลี้ยงใต้ท้องทะเล ในบริเวณต่างๆ ของหมู่เกาะสีชัง รวมถึงบริเวณเกาะยายท้าว เกาะค้างคาว และเกาะท้ายตาหมื่น
“จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สภาพของปะการังสามารถเติบโตสูงถึง 50% รวมถึงการทำให้มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายซึ่งหมายถึงระบบนิเวศมีความสมบูรณ์มากขึ้น และประเด็นที่สำคัญ คือได้สร้างจิตสำนึกให้ดี กับชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ปะการังมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ไปสัมผัสตระหนักดีว่า ปะการังนั้นสำคัญมากต่อระบบนิเวศในท้องทะเล” วิโรจน์ กล่าว
นำร่องเยาวชนสร้างชุมชนเข้มแข็งพิทักษ์ทะเลสีชัง
ที่จริงแล้วผลสำเร็จในวันนี้ของไทยออยล์กับโครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังและฟื้นฟูแนวปะการัง เกิดจากการสร้างชุมชนพิทักษ์ทะเลสีชัง โดยเริ่มต้นจากการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนมองเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเสมือนเป็นบ้านของตนเองตั้งแต่วัยเด็กควบคู่ไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูแนวปะการังของชาวบ้าน
ทั้งนี้เพราะ เกาะสีชังไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังที่มีชื่อเสียงมากนัก ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญและประโยชน์ของปะการัง ทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังในระยะแรกๆ ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “โครงการชุมนุมพิทักษ์ทะเลรุ่นจิ๋ว” เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนเห็นความสำคัญก่อน
วิโรจน์ มีนะพันธ์ บอกว่าโครงการชุมนุมพิทักษ์ทะเลรุ่นจิ๋ว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังและการฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่บริษัทได้ดำเนินการต่อเนื่อง ด้วยการเพาะพันธุ์และอนุบาลปะการังก่อนนำลงสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทให้ความสำคัญในการดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งบนบกและในทะเลรอบเกาะ
"หลังจากบริเวณรอบเกาะสีชังมีปะการังเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ประเด็นหนึ่งที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ก็จะต้องรณรงค์ให้ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันดูแลรักษา จึงได้จัดกิจกรรมวันรวมพลคนสีชังฟื้นฟูปะการังให้ยั่งยืน เป้าหมายเพื่อให้เยาวชน และชุมชนชาวเกาะสีชังเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ของโครงการมากที่สุด ซึ่งเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้เยาวชนเข้าใจถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน"
วิโรจน์ ย้ำว่าการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนฟื้นฟูปะการังอย่างยั่งยืน นำไปสู่การให้ชุมชนบนเกาะสีชังหันมาร่วมกันหวงแหนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าของพวกเขากลับมาสมบูรณ์และสวยงามได้ตลอดไป
ขณะที่ โยทา ไพรสณฑ์ นักวิชาการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เล่าว่าตอนเริ่มโครงการชุมนุมพิทักษ์ทะเลรุ่นจิ๋ว เด็กๆ ที่เกาะสีชังส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักปะการังด้วยซ้ำไปว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ดังนั้น การเรียนการสอนจึงเริ่มตั้งแต่ในห้องเรียน ให้ความรู้เกี่ยวกับทะเล พาเด็กไปดูชายหาด และพาไปดูที่ทะเลจริงๆ ว่ามีอะไรอยู่ในทะเล ปะการังมีความสำคัญต่อเด็กๆ และผู้คนมากอย่างไร
“เราค่อยๆ ปลูกจิตสำนึกจากคนสู่คน และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดการทำตามหรือเลียนแบบ ซึ่งผลสุดท้ายสามารถทำให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญและร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล”
‘ธิดารัตน์ แก้วมูล’ นักเรียน ชั้น ม.3 ตัวแทนสมาชิกชุมนุมพิทักษ์ทะเลรุ่นจิ๋วคนหนึ่ง เล่าว่า “เข้าร่วมในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ทางโรงเรียนเปิดรับสมัคร และเป็นวิชาเสริมของโรงเรียน น่าแปลกนะ ทั้งๆ ที่อยู่บนเกาะติดกับทะเลก็ยังไม่เคยเห็นปะการังของจริง ตนเองจึงอยากรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในทะเล และเพิ่งจะได้รู้ว่าปะการังที่หน้าเกาะของเราซึ่งแทบจะไม่เหลือแล้ว เพราะถูกกระทำจากมนุษย์โดยการจอดเรือทิ้งสมอไปถูกแนวปะการังจนได้รับความเสียหาย บางส่วนก็เสียหายจากธรรมชาติ เช่น การแตกหักและการพลิกคว่ำจากคลื่นลมในช่วงฤดูมรสุม หลังจากได้เรียนรู้ในห้องเรียนแล้วยังได้ลงมือปฏิบัติจริงนำปะการังมาแยกกิ่งเพื่อนำไปขยายพันธุ์ หลังจากนี้จะช่วยปลูกฝังให้น้องๆ รุ่นต่อไปให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอีกทางหนึ่งด้วย
ย้ำผลสำเร็จ ซีเอสอาร์ไกลรั้ว
โครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังและฟื้นฟูแนวปะการัง ที่หมู่เกาะสีชังนับ เป็นหนึ่งจากหลายโครงการซีเอสอาร์ที่อยู่ไกลรั้วของไทยออยล์ และเป็นซีเอสอาร์ระดับประเทศจึงได้มีการวางแผนพร้อมกำหนดจังหวะเวลาเพื่อให้คนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ชุมชนต่างๆ ในเกาะสีชัง นักท่องเที่ยว รวมถึงพนักงานเครือไทยออยล์ ที่จะต้องรู้และร่วมนำขับเคลื่อน
วิโรจน์ มีนะพันธ์ กล่าวว่าการสร้างสรรค์โครงการซีเอสอาร์ในลักษณะนี้ จะต้องมีการประสานและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรชุมชนเพื่อให้มีส่วนร่วมดำเนินงานและบริหารจัดการดูแล ซึ่งจะทำให้โครงการที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญขององค์กรประสานเข้ากับพลังของชุมชน และสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนซึ่งจะสร้างประโยชน์ที่แท้จริงต่อสภาวะธรรมชาติและชุมชนได้
ตัวอย่างการดำเนินโครงการนี้ เช่นตอนที่เรานำพนักงานจิตอาสาชมรมนักดำน้ำ เครือไทยออยล์ ชุมชนชาวเกาะสีชัง นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบ 21 รักษาพระองค์ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ร่วมทำกิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม ทั้งการจัดเรียงแท่งคอนกรีตใต้ทะเลเป็นแนวปะการังใต้น้ำ และทำแปลงอนุบาลปะการังจากท่อพีวีซี เพื่อปักชำระปะการังเขากวางเข้ากับโครงก่อนนำไปเพาะเลี้ยงใต้ท้องทะเล ในบริเวณต่างๆ ของหมู่เกาะสีชัง
“จุดนี้เป็นหัวใจของซีเอสอาร์อย่างยั่งยืน นั่นคือสร้างประโยชน์จริงต่อชุมชน ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างองค์กรของชุมชนให้เข้มแข็ง มีแนวทางการทำงานที่เป็นจริงรองรับ เรียนรู้และเกิดการยกระดับจากการทำงาน”
สมาชิก DJSI 3 ปีซ้อน การันตีแนวทาง ESG
เมื่อเร็วๆ นี้ Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ซึ่งเป็นดัชนีประเมินความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้ประกาศให้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิกของ DJSI 2015 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และยังคงรักษาคะแนนประเมินสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Industry Group Leader) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
“เนื่องจากไทยออยล์ กำหนดนโยบายและเป้าหมายการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นความสมดุลทั้ง 3 ด้านคือด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มด้วยความเป็นธรรมมาโดยตลอด อีกทั้งได้นำการบริหารการจัดการความเสี่ยงมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกครบทุกมุมมองในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการ หรือ ESG อีกด้วย” อธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) กล่าวย้ำ
คืบหน้า โครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ และฟื้นฟูแนวปะการัง
เป้าหมายโครงการนี้ระยะ 5 ปี (2555-2559) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการัง การอนุบาลตัวอ่อนเพื่อขยายจำนวนปะการัง และการฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม
ทั้งนี้ ต้องการเพิ่มศักยภาพในการขยายพันธุ์ปะการัง และขีดความสามารถในการฟื้นตัวของปะการังตามธรรมชาติ และจัดสร้างแหล่งอนุบาลพันธุ์ปะการัง รวมถึงพัฒนาแหล่งศึกษาดูงานและท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศสำหรับนักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป
กิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว
•กิจกรรมจิตอาสาจัดเรียงแท่งคอนกรีตให้เป็นแนวปะการังใต้น้ำ พร้อมทั้งทำโครงอนุบาลปะการังจากท่อพีวีซี
•เพาะเลี้ยงและอนุบาลตัวอ่อนของปะการัง เพื่อเตรียมขยายลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ซึ่งได้นำเทคนิคเพาะขยายพันธุ์จากเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังมาขยายผล ซึ่งขณะนี้ สามารถเพาะพันธุ์ปะการังได้กว่า 10 ชนิด
•แปลงอนุบาลปะการังแบบกลางน้ำที่มีการประกอบทุ่นเป็นแพสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เว้นพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับผูกและวางปะการังลงในน้ำทะเลเพื่ออนุบาลแบบธรรมชาติ
•จัดเรียงแท่งคอนกรีตน้ำหนัก/ก้อนละ 100 กิโลกรัม ใต้ทะเลเป็นแนวปะการังใต้น้ำ
•ทำแปลงอนุบาลปะการังจากท่อพีวีซี เพื่อปักชำปะการังเขากวางเข้ากับโครง ก่อนนำไปเพาะเลี้ยงใต้ท้องทะเล
•นำเทคนิคเพาะขยายพันธุ์จากเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังมาขยายผลให้สามารถเสริมสร้างงานฟื้นฟูแนวปะการังให้เกิดการต่อยอดไปได้
•ก่อสร้างโรงเพาะพันธุ์ปะการังและอนุบาลปะการังขึ้นบริเวณหมู่เกาะแสมสาร อ.สัตหีบ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทำให้ยังคงสภาพความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและความสะอาดของแหล่งน้ำที่เหมาะแก่การอนุบาลปะการัง
กิจกรรมต่อเนื่อง
•การเพาะเลี้ยงและอนุบาลตัวอ่อนของปะการัง เพื่อเตรียมขยายลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ พร้อมทั้งฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรม
•มีแผนพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล
ประโยชน์ที่ได้รับ
•เพิ่มศักยภาพในการขยายพันธุ์ปะการังและขีดความสามารถในการฟื้นตัวของปะการังตามธรรมชาติ
•จัดสร้างแหล่งอนุบาลพันธุ์ปะการัง ตลอดจนใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานและท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เชิงนิเวศน์สำหรับนักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไปได้เรียนรู้ธรรมชาติทางทะเล และวิธีการฟื้นฟูแนวปะการัง
•ฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์ตามธรรมชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน
ทำไมต้องดูแลแนวปะการัง
- นอกจากแนวปะการังจะเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ และก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวในชุมชน
- แนวปะการังยังมีความสำคัญในแง่เป็นตัวป้องกันดินชายฝั่งและเกาะ โดยเป็นแนวกันคลื่นตามธรรมชาติ คลื่นในมหาสมุทรที่มีความแรงและสูงนั้นจะลดขนาดลงในแนวปะการังเป็นคลื่นที่มีขนาดเล็กลงก่อนที่จะพัดถึงชายฝั่ง ซึ่งถ้าหากว่าไม่มีแนวปะการังอยู่ตรงนั้น คลื่นขนาดใหญ่จะตีชายฝั่งทันที
- ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ดังนั้น บริเวณพื้นที่ต่ำที่อยู่ใกล้ชายฝั่งจะมีอัตราเสี่ยงต่อการท่วมของน้ำทะเลมากขึ้น ซึ่งการรักษาแนวปะการังให้มีความสมบูรณ์นั้นจะทำให้ปะการังสามารถเติบโตได้รวดเร็วขึ้น และทำให้สามารถรักษาชายฝั่งจากคลื่นในมหาสมุทรได้