๐ คนหนึ่งเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของไทย นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน ข้าราชการประจำ กรมอุทยานฯ
๐ อีกคนหนึ่งเป็นนักวิชาการ นักรณรงค์ นักต่อสู้ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ
๐ ทั้งคู่มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่มีจุดหมายหนึ่งที่ยิ่งใหญ่เหมือนกัน
๐ คือการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่อย่างสมดุล ด้วยแนวทางเชิงรุก บนวิถีแห่งความยั่งยืน
พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5ธันวาคม 2521ดังความตอนหนึ่งว่า
“...ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผลและความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว”
“นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน” และ “ศศิน เฉลิมลาภ” เป็นสองบุคคลตัวอย่างในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นหลักยึดและแนวทางปฏิบัติได้อย่างชัดเจน
๐ รู้จักตัวเอง เข้าใจธรรมชาติ
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ชำนาญการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์สัตว์ป่าคนแรกของประเทศไทย กล่าวถึงความประทับใจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า สิ่งที่ท่านทำต่างๆ มากมายล้วนตราตรึงอยู่ในใจของเรา พระมหากษัตริย์ที่ทุกคนรัก พระราชกรณียกิจการทรงงานของท่าน โดยเฉพาะการเดินทางและการเข้าไปดูแลพสกนิกรทั่วประเทศไทยในท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ ด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดคำถามว่าไปได้อย่างไร ทำไมถึงต้องไป ไปแล้วเกิดอะไรขึ้น คำตอบที่ได้ก็คือสิ่งที่พระองค์ทำเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบทุกข์ยากให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี พื้นที่หนึ่งที่ทรงเสด็จไปเป็นพื้นที่ซึ่งปลูกสิ่งเสพติดและมีการตัดไม้ทำลายป่า ท่านทรงฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าและช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้แร้นแค้นยากไร้
เมื่อได้มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เห็นพระองค์ท่านยังติดตามและเข้าไปช่วยเหลือ โดยใช้แนวคิด "การเข้าใจธรรมชาติ" เน้นให้ธรรมชาติมาช่วยเหลือหรือแก้ไขธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือการปล่อยให้ป่าฟื้นฟูตัวเองโดยไม่ต้องเข้าไปยุ่งอะไรเลย อีกจุดหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามแนวทางการทรงงานของพระองค์คือ "การไม่นำชาวบ้านออกจากป่า" เพราะต้องการให้คนกับสิ่งแวดล้อมหรือป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล พึ่งพาและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
นับเป็นมุมมองและอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เห็นว่าการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดีนั้น ไม่มีใครทำได้ดีกว่าชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ เพราะเดิมชาวบ้านที่อยู่ในแนวป่าหรือเจ้าของพื้นที่จะคิดว่าจะได้อะไรจากป่าบ้าง เช่น ได้ล่าสัตว์ หาของป่า ได้หากิน ได้ใช้ประโยชน์ แต่พระองค์ทำให้เห็นว่าไม่ใช่การได้ประโยชน์จากป่าเท่านั้น แต่จะได้โทษที่เกิดขึ้นด้วย จากการไปบุกรุก เบียดเบียนหรือทำลาย เป็นการทำให้เห็นว่าชาวบ้านคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า ฯลฯ
การเข้าไปทำงานพื้นที่พบชาวบ้านและราษฎร ซึ่งอาจจะทำผิดทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่การเข้าไปจัดการของเราซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทั้ง "พระเดช" คืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งในอดีตมักจะบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดความขัดแย้ง บาดหมาง แตกหัก และผลสะท้อนที่ตามมาคือการไม่ได้รับการต้อนรับช่วยเหลือจากชาวบ้าน แต่เมื่อใช้ "พระคุณ" คือความห่วงใย ความปรารถนาดี การให้ความรู้ การชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผลที่ตามมาก็คือ ทัศนคติหรือมุมมองที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนไป ไม่คิดว่ามาเพื่อกลั่นแกล้งหรือสร้างความเดือดร้อน แต่เป็นการมาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐคือเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน
นับเป็นมุมมองและอัจฉริยภาพของพระองค์ที่เห็นว่าการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้ดีนั้น ไม่มีใครทำได้ดีกว่าชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ เพราะเดิมชาวบ้านที่อยู่ในแนวป่าหรือเจ้าของพื้นที่จะคิดว่าจะได้อะไรจากป่าบ้าง เช่น ได้ล่าสัตว์ หาของป่า ได้หากิน ได้ใช้ประโยชน์ แต่พระองค์ทำให้เห็นว่าไม่ใช่การได้ประโยชน์จากป่าเท่านั้น แต่จะได้โทษที่เกิดขึ้นด้วย จากการไปบุกรุก เบียดเบียนหรือทำลาย เป็นการทำให้เห็นว่าชาวบ้านคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า ฯลฯ
การเข้าไปทำงานพื้นที่พบชาวบ้านและราษฎร ซึ่งอาจจะทำผิดทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่การเข้าไปจัดการของเราซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทั้ง "พระเดช" คืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งในอดีตมักจะบังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดความขัดแย้ง บาดหมาง แตกหัก และผลสะท้อนที่ตามมาคือการไม่ได้รับการต้อนรับช่วยเหลือจากชาวบ้าน แต่เมื่อใช้ "พระคุณ" คือความห่วงใย ความปรารถนาดี การให้ความรู้ การชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผลที่ตามมาก็คือ ทัศนคติหรือมุมมองที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนไป ไม่คิดว่ามาเพื่อกลั่นแกล้งหรือสร้างความเดือดร้อน แต่เป็นการมาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐคือเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน
แต่สิ่งที่จะทำให้เรารู้ได้คือ การฟัง การจับเข่าคุยกัน การแลกเปลี่ยนทัศนะ สำหรับการทำงานในป่าซึ่งทำงานเป็นทีม การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นรวมถึงลูกน้องจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น การทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของการรู้จักตัวเองจึงทำให้รู้สึกสนุกกับงาน เพราะทำให้ได้เรียนรู้อยู่ตลอด และทำให้เกิดทักษะ เกิดมุมมองในการใช้ชีวิตและการทำงานได้มากขึ้น
ส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในป่าคือ การลงทำงานในพื้นที่จริงๆ หรือการลงทำงานจริง การได้ไปเห็นด้วยตาของตัวเอง รวมทั้งการฟังและการได้รับการถ่ายทอดจากเจ้าหน้าที่ จากชาวบ้าน ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จ การยกย่องและการชื่นชมผู้ร่วมงาน เป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าเราจะเป็นผู้กำหนดแนวทางต่างๆ เพราะการได้ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความสำเร็จและเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ การทำให้รู้สึกว่าเขาคือฮีโร่ที่ได้ทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม เป็นความสำเร็จของการทำงานด้วยเช่นกัน
ในการทำงานเพื่อสังคมหรือส่วนรวม ถามว่าทำไมคนไทยถึงรักในหลวง คำตอบคือเพราะท่านทำงานเพื่อคนอื่น และช่วยเหลือคนอื่นๆ มากมาย ท่านทำให้รู้ว่าการจะทำให้คนรัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน้าตาหรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นได้ทำอะไร เพื่อใคร ได้ให้อะไรใครไปบ้าง
๐ สรุปบทเรียน ขยายผล
ศศิน เฉลิมลาภ นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความคิดเห็นถึงการทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ให้ความสนใจ เป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กหรือนักเรียนเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่จริง เช่น อุทยานแห่งชาติต่างๆ ว่า การนำเด็กเมืองมาเข้าป่าต้องให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงมากที่สุด แต่ต้องไม่เป็นการเข้าไปรบกวนระบบนิเวศป่าให้มากนัก นอกจากนี้ ในการให้ความรู้ ต้องนำความรู้ที่เข้าใจได้ แรกสุดคือการเติมความรู้ที่เข้าใจง่ายที่สุดเข้าไปก่อน ไม่ใช่ความรู้ที่เข้าใจยากหรือเป็นนามธรรมมากๆ เพราะยังมีเวลาอีกมากเมื่อเด็กเติบโตขึ้นในอนาคตจึงค่อยเติมความรู้ต่างๆ เพิ่มเข้าไป
"ในการเข้าป่าหากเราน้อมนำสิ่งที่ในหลวงบอกกับเรา ท่านบอกเรามาตั้งแต่ 2512 หรือ 47 ปีมาแล้ว ท่านบอกว่าในตอนเรียนหนังสือระดับประถมที่สวิสเซอร์แลนด์ ครูบอกว่าป่าต้องมีภูเขา ต้นไม้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการชะล้างพังทลาย ท่านพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดินน้ำป่าเขา เป็นความรู้ตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็กแล้วนำมาบอกคนไทย ดังนั้น ในการทำเรื่องอนุรักษ์ ท่านไปเรียนรู้มาจากสวิสเซอร์แลนด์แล้วมาบอกเราในเรื่องที่ง่ายที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันเราก็ยังไม่ค่อยได้ทำตาม"
"ตลอดชีวิตของท่านทำอะไรมากมายไว้ให้กับเราคนไทย ในวันที่ในหลวงไม่ได้อยู่กับเราแล้ว สิ่งที่เราควรทำคือนำสิ่งที่ท่านทำมาตลอด 70 ปีของการทรงงาน มาสรุปบทเรียนและขยายผล นั่นคือ ขยายไปทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ โดยส่วนตัวได้น้อมนำแนวทางที่คิดว่าสุดยอดที่สุดคือทฤษฎี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เพราะที่เป็นปัญหากันอยู่ในสังคมทุกวันนี้เพราะไม่รู้จักพอ และเมื่อจะตัดสินใจอะไรต้องมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ซึ่งสำคัญที่สุด ต้องถามว่าเราทำแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า"
สำหรับแนวทางการจัดการชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก หรือโครงการจอมป่า คือทฤษฎีหนึ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาด้วยความคาดหวังว่า จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของไทยที่เหลือน้อยลงทุกที โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตกป่าใหญ่ผืนสุดท้ายของไทยที่มีความสำคัญระดับโลก ศศิน เฉลิมลาภ ในฐานะผู้จัดการโครงการจอมป่า-JoMPA : โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Areas) เล่าถึงแนวทางการดำเนินการของโครงการดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงแนวทางการทำงานเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
เรียนรู้โดยไร้อคติและอยู่บนความเป็นจริง - ศศินเล่าว่า การเข้ามาทำงานครั้งแรกมีเพียงข้อมูลจากโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ (WEFCOM) ว่ามีชุมชนในผืนป่าตะวันตก แต่ไม่มีข้อมูลที่ควรจะมี เช่น เรื่องราววิถีการดำรงชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ฯลฯ จนเมื่อได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องราวและสัมผัสกับชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ มากขึ้น โดยไม่นำพาอคติใดๆ ไปตัดสินก่อนที่จะได้รู้จักและเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้รู้ว่าวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์เหล่านี้มีความสอดคล้องกับการดำรงอยู่ของผืนป่า โดยเฉพาะชุมชนกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในผืนป่าตะวันตก และอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มาหลายร้อยปีแล้ว โดยหลายชุมชนยังคงรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ แต่แม้วิถีไร่หมุนเวียนจะรักษาป่า แต่เหมาะกับสังคมปิดไม่เหมาะกับปัจจุบัน ส่วนการจะอพยพเขาออกมาก็ไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่หากให้คงอยู่เช่นเดิมต่อไปก็มีความเสี่ยงว่าจะมีการเปิดพื้นที่ป่าออกไปมากขึ้น แล้ววิธีแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร
เริ่มจากเส้นแนวเขต - เมื่อศึกษาข้อมูลเพียงพอแล้ว เริ่มวิเคราะห์และวางแผนการทำงานร่วมกันจนได้แนวทางว่า ต้องเริ่มจากการรักษาป่าที่เหลืออยู่ให้ได้ก่อน เริ่มจากการสำรวจข้อมูลว่าไร่หมุนเวียนของชุมชนมีขอบเขตแค่ไหน โดยเน้นเรื่องกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เทคนิคเวทีประชุม การทำข้อมูลพื้นฐานของชุมชนให้เข้าใจร่วมกันทุกฝ่าย ให้ชุมชนเข้าใจตนเอง ให้เจ้าหน้าที่เข้าใจชุมชน แล้วเกิดเวทีในการแก้ไขปัญหา โดยเน้นเวทีชุมชนกึ่งทางการ คือสามารถเกิดข้อตกลงที่ชัดเจน แต่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเท่าๆ กัน รวมทั้งมีการทำงานบนฐานข้อมูล GIS (Geographic Information System) ใช้แผนที่ทหารมาตรฐานเดียวกับที่ภาครัฐยอมรับ และให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจในระบบนี้ด้วย ทำให้เกิดการยอมรับการทำกินภายในขอบเขตพื้นที่
วางแผนบริหารจัดการพื้นที่ - เมื่อชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษเป็นมรดกโลก เป็นเขตอนุรักษ์และเขตต้นน้ำ ที่มีความเปราะบาง จึงต้องมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ด้วยการโซนนิ่ง เช่น ป่าต้นน้ำ ไร่หมุนเวียน บ้านเรียนรู้ ลำห้วยอนุรักษ์พันธุ์ปลา ป่าชุมชน ฯลฯ เพื่อให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่เป็นของคนใดคนหนึ่ง ทำให้เกิดการพัฒนาที่นำความเชื่อบนวิถีดั้งเดิมและการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ร่วมกัน
"วิธีการแบบนี้ ตอนแรกที่เข้าไปก็ไม่รู้ ค่อยๆ พัฒนาองค์ความรู้นี้ขึ้นมา และจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดขึ้นเอง มีต้นแบบอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ก็ทำแบบนี้ กลุ่มวิสาหกิจอินแปง ป่าชุมชนศิลาแลง หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงก็อยู่บนฐานความคิดนี้คือ พึ่งตนเอง ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน และทำให้เกิดรายได้ที่เปลี่ยนจากรายได้ประจำปีมาเป็นรายได้ประจำเดือน รายได้ประจำอาทิตย์ หรือรายได้ที่ไม่จำกัดเวลา เพื่อให้เกิดรายได้เข้ามาอย่างยั่งยืน"
หนุนเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า - ขณะที่การควบคุมขอบเขตพื้นที่ทำกินและการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาพื้นที่ป่า แต่การรักษาคนโดยเฉพาะกะเหรี่ยงซึ่งมีวิถีดำรงชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย “ต้องยอมรับว่าคนกะเหรี่ยงไม่ได้มีพื้นฐานทางการเกษตรแบบคนไทย เพราะพื้นที่ไม่เหมาะสม การทำนาบนพื้นที่สูงเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญ การหนุนเสริมอาชีพ เช่น เลี้ยงปลา ปลูกผัก จึงไม่ค่อยตรงกับวิถีดั้งเดิม ดังนั้น สิ่งที่เหมาะกับกะเหรี่ยงมากที่สุดคือ เกษตรอินทรีย์วิถีกะเหรี่ยง โดยอิงกับธรรมชาติ คือปลูกให้รกๆ ไว้รอบๆ บ้าน แล้วมีที่ให้เขาไปเก็บกินเหมือนในป่าที่เขาเคยเก็บกินได้"
ทำงานภายใต้กฎหมาย สู่ความยั่งยืน - แม้โครงการจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในเชิงกฎหมาย นโยบาย และความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายได้ในระดับหนึ่ง "ถ้าเราสามารถสำรวจแนวเขตและเกิดข้อตกลงจริงๆ มันจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่จำเป็น อยู่แบบนี้ก็ได้ หรือถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายว่าให้ชุมชนมีสิทธิในที่ดิน ข้อมูลที่เราทำทั้งหมดก็ไม่ขัดแย้ง เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ชุมชนสามารถหยิบไปใช้ได้เลย ขณะเดียวกันก็มีกรอบที่จะป้องกันป่าซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะมีโครงการอะไรเข้ามาในอนาคต เพราะข้อมูลที่เราทำกับชุมชน เป็นข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และเป็นทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง ไม่ใช่เลือกให้สิทธิชาวบ้านก่อน หรือเลือกเอาป่าไว้ก่อน สิ่งที่โครงการคิดคือความเป็นไปได้ ความเป็นธรรมและความเป็นจริง"
"สิ่งที่ทำมาเชื่อว่ารักษาป่าได้แน่นอน แต่กระบวนการนี้เพิ่งเริ่มต้น จะรักษาป่าได้จริง ต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนรุ่นต่อไป และจากเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นต่อรุ่นด้วย ด้วยการต้องให้สิทธิชุมชนในการตัดสินใจ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนสามารถรักษาทรัพยากรให้คนส่วนใหญ่ของชาติได้ หากลไกให้เขาได้ทำร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงจะเกิดความยั่งยืน วันนี้เราเดินมาไม่ผิดทาง”