xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดสถานการณ์ปลูกป่า กู้วิกฤตโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


•ปลื้ม “โครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินี” กระตุ้นคนรักป่าแบบติดปีก พร้อมจับมือ “สพฐ.” วางกลยุทธ์ปลูกฝังตั้งแต่เด็กนักเรียน
•มุ่งส่งเสริมเกษตรกรจัดการสวนป่าบนแนวทางความยั่งยืน เดินหน้าสร้างสรรค์ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
•โครงการพิเศษร่วมมือกลุ่มปตท.วางเป้าหมายใหญ่ฟื้นฟูระบบนิเวศ เล็งทำฐานข้อมูลคาร์บอนเครดิตสร้างมาตรฐานยอมรับระดับโลก
กล้าไม้จากสถานีเพาะชำ มีศูนย์เพาะชำอยู่ 99 แห่งทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีการแจกจ่ายกล้า เพียง 1 ใน 10 ของความต้องการ
๐ กรมป่าไม้จับมือพันธมิตร
กระตุ้นเชิงรุก
เนื่องจากส่วนเพาะชำกล้าไม้เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ภาครัฐและภาคเอกชน ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งภาวะวิกฤตโลกร้อนส่งผลให้เกิดกระแสความต้องการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ส่วนเพาะชำกล้าไม้จึงเปิดให้ประชาชนสามารถขอกล้าไม้จากสถานีเพาะชำกล้าไม้และศูนย์เพาะชำซึ่งมีอยู่ 99 แห่งทั่วประเทศไปปลูก เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย
อภิรักษ์ ทหรานนท์ ผู้อำนวยการส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า การแจกจ่ายกล้าไม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ในปี 2548-2554 ไม้ที่มีแจกจ่ายมากเป็นอันดับหนึ่งหรือมีความต้องการมากที่สุดตั้งแต่ปี 2548-2554 คือยูคาลิปตัส รวม 46,960,251 กล้า จากนั้นในปี 2555 คือ พะยูง มีการแจกจ่ายไปในจำนวน 2,188,679 กล้า และสัก 2,088,040 กล้า ปี 2556 คือ สัก มะค่าโมง และพะยูง ปี 2557 คือพะยูง มะค่า และสัก ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ามีการแจกจ่ายต้นสักอยู่ในอันดับหนึ่งในห้ามาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่าน โดยเหตุผลในการเลือกมาจากรายได้เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่นๆ และกระแสในแต่ละช่วง เช่น กระถินเทพาเพราะเป็นพืชปรับปรุงดินและเนื้อสวย ราชพฤกษ์เพราะเป็นปีแห่งการเฉลิมพระเกียรติในหลวง เป็นต้น
นอกจากการเพาะชำกล้าไม้พื้นถิ่น ไม้ประจำจังหวัด และไม้ที่ใช้ในกิจกรรมทางพุทธศาสนา เป็นหลัก กรมป่าไม้ยังมีแผนการเพาะชำกล้าไม้ตามความต้องการเป็นพิเศษ เช่น ในปี 2557 ได้รับมอบหมายให้เพาะชำไม้พะยูงในสัดส่วน 20% จากไม้ทั้งหมดที่เพาะชำในปีนี้คือ 23 ล้านกล้า ซึ่งคิดเป็น 4.6 ล้านกล้า เนื่องจากมีราคาสูงและเป็นไม้มงคล
ทั้งนี้ การที่หน่วยงานเพาะชำกล้าไม้มีการแจกจ่ายกล้าไม้ได้เพียง 1 ใน 10 ของความต้องการกล้าไม้ประมาณ 200 ล้านกล้าในแต่ละปี เพราะมีข้อจำกัดจากเงินงบประมาณที่ได้รับมา
นอกจากนี้ การบุกรุกป่าส่งผลให้พื้นที่ป่าสูญเสียไปปีละประมาณ 1 แสนไร่ ขณะที่งบประมาณด้านการส่งเสริมการปลูกป่าที่กรมป่าไม้ได้รับมาตลอด 10 ปีรวมกันแล้วไม่เกิน 1.5 แสนไร่เท่านั้น
สำหรับการขอกล้าไม้ไปปลูกนั้น ประชาชนแต่ละคนสามารถขอได้ปีละไม่เกิน 1,500 กล้า ส่วนงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีคือปีละประมาณ 23-29 ล้านบาท แต่ในปี 2552 ได้รับสูงมากคือ 47.52 ล้านบาท เนื่องจากได้รับมาจากสองทางคือจากงบการเพาะชำทั่วไปและจากงบวิกฤตโลกร้อน ส่วนในปี 2553 ที่ได้รับมากถึง 69.49 ล้านบาท มาจากการปรับงบในส่วนบุคลากรมาเพิ่มให้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ กรมป่าไม้ในนามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ในโรงเรียน โดยให้โรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในสังกัดของสพฐ.แจ้งความต้องการมายังหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกรักต้นไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีให้เด็กแล้ว ยังคาดหวังว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังครอบครัวและชุมชนอีกด้วย
สพฐ.มีโรงเรียนในสังกัดประมาณ 3.6 หมื่นโรง ในปีนี้มีการแจ้งความจำนงขอกล้าไม้มาแล้วประมาณ 7 พันกว่าโรง เป็นกล้าไม้ประมาณ 4.3 ล้านกล้า หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมดในสังกัดสพฐ.ที่มีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน จึงนับว่าเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาภาคเอกชน (สช.) ยังให้ความสนใจจะเข้าร่วมโครงการปลูกป่ากับกรมป่าไม้อีกด้วย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักศึกษาในระดับอาชีวะที่อยู่ในวัยเรียนรู้และมีกำลังกายพร้อมสมบูรณ์ได้ใช้สิ่งที่มีไปในทางที่ถูกต้อง
อีกทั้ง ยังมีแนวคิดว่าในปี 2558 จะพัฒนา “สถานีเพาะชำกล้าไม้” และ ”ศูนย์เพาะชำกล้าไม้” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ความรู้ด้านป่าไม้และการเพาะชำกล้าไม้ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักเรียน ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่เป็นเชิงรุกเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ได้รับ
สำหรับที่ผ่านมา “โครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินี” ของรัฐบาลที่แล้ว มีแผนงานว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2556 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้ความสำคัญกับป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง
โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกป่าทั่วประเทศ เฉลิมพระเกียรติน้อมเกล้าฯ ถวายจำนวน 800 ล้านกล้า ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2559 รวมพื้นที่ปลูก 4 ล้านไร่
นอกจากจะร่วมกันปลูกต้นไม้ทั่วประเทศ ยังร่วมบันทึกความทรงจำกิจกรรมดีๆ ที่ได้เป็นผู้ปลูกต้นไม้ 1 ใน 800 ล้านกล้า โดยสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการและบันทึกภาพถ่ายการปลูกต้นไม้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ ได้ที่เว็บไซต์กรมป่าไม้ http://www.forest.go.th/ ซึ่งถือเป็นการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เกิดความรักต้นไม้
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้และเข้าใจถึงการปลูกต้นไม้อย่างถูกต้อง โดยในส่วนของกล้าไม้ซึ่งต้องใช้งบประมาณของประเทศในการเพาะชำต้นละ 2.79 บาทและใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าจะเติบโตพอที่จะนำไปปลูกได้นั้น ผู้ที่ขอไปปลูกจึงควรจะใส่ใจดูแลให้เติบโตต่อไปได้

๐ เดินหน้าสร้างสรรค์เศรษฐกิจ - สังคม- สิ่งแวดล้อม
ด้วยบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ให้สามารถอำนวยประโยชน์ได้ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในด้านเศรษฐกิจเป็นการส่งเสริมให้เอกชนซึ่งมีพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ พื้นที่กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อใช้ประโยชน์จากการสร้างรายได้ และในระดับประเทศยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าไม้จากต่างประเทศอีกด้วย
สำหรับด้านสังคม เป็นการช่วยลดการอพยพเข้าสู่เมือง เพราะเกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการปลูกไม้เศรษฐกิจนั่นเอง ในขณะเดียวกัน ยังทำให้สภาพครอบครัวมีความสุขและอบอุ่นจากการที่ได้อยู่ด้วยกัน ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมเท่ากับเป็นการดูแลและรักษาธรรมชาติ รวมทั้ง ป้องกันภัยธรรมชาติอีกด้วย
เมตตา ปังประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กล่าวว่า แผนการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ของเอกชน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของ “การแจกกล้าไม้” กับส่วนของ “การรวมกลุ่ม” โดยใน “การแจกกล้าไม้” มี 2 แผนงาน แผนงานแรกคือ “กิจกรรมส่งเสริมอาชีพด้านป่าไม้” ซึ่งมีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน สามารถส่งเสริมได้ 2 หมื่นกว่าราย หรือคิดเป็น 2 แสนกว่าไร่ ซึ่งในแต่ละปีอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
โดยเป็นการส่งเสริมอาชีพด้านป่าไม้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งกรมป่าไม้จัดที่ดินทำกินให้เป็นสิทธิทำกิน (สทก.) และมีข้อตกลงว่าในพื้นที่นี้ต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้เพื่อปลูกไม้เศรษฐกิจที่เป็นไม้ยืนต้น เพื่อให้เกษตรกรทำผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
แผนงานที่สองคือ “กิจกรรมโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2537 แต่ใช้ชื่อว่า “โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ” โดยมีการอุดหนุนเงินให้ด้วยไร่ละ 3,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งไม้ในโครงการนี้มีการนำไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องเรือนต่างๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องหยุดชะงักไปในปี 2541 แต่เนื่องจากมีขั้นตอนการสนับสนุนเงินอุดหนุนต่อเนื่อง จึงหยุดโครงการไปจริงๆ ในปี 2545
จนกระทั่ง ในปี 2554 มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในชื่อโครงการส่งเสริมการปลูกป่าฯ ดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการที่ดี โดยได้รับงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้สามารถส่งเสริมการปลูกป่าได้เพิ่ม 7 หมื่นกว่าไร่ แต่ต้องหยุดชะงักไปอีกครั้ง


อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้จัดทำโครงการนี้ในเป้าหมาย 1.2 หมื่นไร่ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อไร่ ในเวลา 3 ปี โดยปีแรกได้รับ 1,500 บาท ปีที่สอง 800 บาท และปีที่สาม 700 บาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการแจกกล้าไม้ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ
สำหรับแผนการส่งเสริมการปลูกป่าด้วย “การรวมกลุ่มเกษตรกร” ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มผู้ปลูกป่า” จากเดิมเมื่อปี 2537 ที่มีการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจและมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์สวนป่า แต่ประสบปัญหาเรื่องรายได้ทำให้สหกรณ์ส่วนมากไม่มีการดำเนินการใดๆ และจากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 35 แห่ง เหลือที่ยังจดทะเบียนอยู่ 22 แห่ง
จนกระทั่ง ในปี 2556 กรมป่าไม้ได้รับงบประมาณ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์สวนป่า” โดยมีการผลักดันให้ 10 สหกรณ์ที่ยังมีความใส่ใจในการรวมกลุ่ม ให้เป็นกลุ่มผู้ปลูกสวนป่าเพื่อส่งเสริมเครือข่ายเกษตรกรให้เข้มแข็ง อีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกันคือ “การจัดทำศูนย์เรียนรู้” จากการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสวนป่า เนื่องจากโครงการ “เกษตรกรดีเด่น” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างดีทำให้มีเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นในระดับจังหวัดถึงหลักพันคน
จึงมีการสำรวจความพร้อมด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังเกษตรกรดีเด่นในการเข้าร่วมเป็นวิทยากรหรือผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิธีการจัดการสวนป่าอย่างเป็นระบบที่สามารถสร้างรายได้บนแนวทางของความยั่งยืน และความพร้อมด้านสถานที่ คือมีสวนป่าของตนเองที่สามารถใช้เป็นต้นแบบหรือตัวอย่างที่ดีเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ได้หรือไม่ เพื่อเป็นการรวบรวมองค์ความรู้การปลูกป่า
“โดยอีกด้านหนึ่งคือเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกป่าอยู่แล้ว มีความสามารถในการจัดการสวนป่าของเขาได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเราไม่ทำให้เขามีความสุข เมื่อต่อไปเขาเห็นว่าอย่างอื่นให้ผลประโยชน์ดีกว่าก็จะเปลี่ยนไปตามกระแส และการชี้ตัวอย่างให้เห็นว่ามีคนที่ปลูกสวนป่าสำเร็จด้วยดีมาแล้ว เท่ากับเป็นการสร้างแรงจูงใจอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้ได้พื้นที่ป่าคงอยู่ตลอดไป”
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกป่าด้วย “กิจกรรมซีเอสอาร์” หรือกิจกรรมการปลูกป่าเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีที่มาจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก เมื่อสามารถจับกุมดำเนินคดีและยึดพื้นที่คืนได้แล้ว ควรจะต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าเหมือนเดิมเพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำ แต่เพราะขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการ จึงจัดทำเป็นโครงการให้ผู้สนใจไม่ว่าจะเป็นประชาชน เอกชน หรือองค์กรต่างๆ ร่วมสนับสนุนงบประมาณ
โดยใช้เว็บไซต์ของกรมป่าไม้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารให้ผู้ต้องการปลูกเข้าไปหาข้อมูลและแสดงความจำนงได้อย่างสะดวกรวดเร็วและชัดเจน เช่น ขนาดพื้นที่ แผนที่สังเขป และสามารถดูสภาพพื้นที่ในแปลงที่ต้องการปลูก เป็นต้น โดยสำนักจัดการพื้นที่ในแต่ละแห่งเป็นผู้นำเสนอข้อมูลเข้าไปในเว็บไซต์
สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมฟื้นฟูป่าสามารถสนับสนุนเป็นเงิน 5,940 บาทต่อไร่ ซึ่งแบ่งเป็นการปลูกป่า 3,900 บาท การบำรุงซึ่งใช้ในปีที่สองและปีที่สามปีละ 1,020 บาท โดยมีหน่วยป้องกันรักษาป่าในพื้นที่เป็นผู้ดูแล และจากการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปลายปี 2556 มีผู้สนใจปลูกแล้วประมาณ 2,000 ไร่ จากพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 12,000 กว่าไร่

๐ เล็งสร้างฐานข้อมูลคาร์บอนเครดิต
จากการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศล่าสุดเมื่อปีที่แล้วโดยกรมป่าไม้ได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการสำรวจผืนป่าของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ประมาณ 31.1 ล้านไร่ โดยมีป่าเสื่อมโทรมถึง 10 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ดูแลอยู่ และพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันเกิน 35% หรือป่าต้นน้ำมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมถึง 4 แสนไร่ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูและดูแล
ปิยะมิตร แสงทอง ผู้อำนวยการส่วนโครงการพิเศษ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กล่าวว่า การดำเนินงานปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อลดภาวะโลกร้อนของส่วนโครงการพิเศษ ซึ่งโครงการใหญ่ในวันนี้คือ โครงการที่ร่วมกับกลุ่มปตท. 2 โครงการ
โดยโครงการแรก การร่วมกับบริษัท ปตท สผ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการปตท สผ.ปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน” (ปี 2556-2561) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาต่อเนื่อง 2 ปี มีเป้าหมาย 2 แสนไร่ โดยมีผลการดำเนินการดังนี้คือ ปี 2556 มีการปลูกป่าใน 16 จังหวัด บนเนื้อที่ 14,955 ไร่ และปี 2557 มีการปลูกป่าใน 25 จังหวัด บนเนื้อที่ 38,500 ไร่ รวมเป็น 53,455 ไร่
โครงการที่สอง การร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดทำ “โครงการ ปตท. ปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและบรรเทาภาวะโลกร้อน” ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาต่อเนื่อง 2 ปี เช่นเดียวกัน โดยผลดำเนินการปี 2556 ปลูกป่า 14 จังหวัด บนเนื้อที่ 24,205 ไร่ และปี 2557 ปลูกป่า 1 จังหวัด บนเนื้อที่ 1,000 ไร่ รวมเป็น 25,205 ไร่
นอกจากนี้ ยังร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการปลูกฟื้นฟูป่าตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ผลผลิตการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยวิธีเบิกจ่ายแทนกัน ซึ่งในปี 2557 มีการปลูกป่าไปแล้ว 2,948 ไร่
“เมื่อบริษัทขนาดใหญ่มีพื้นที่เป้าหมายชัดเจนในการปลูกป่าให้ได้ผลอย่างจริงจังครั้งละนับพันไร่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากการรับจ้างดูแล และยังสามารถหากินกับป่าได้อีกด้วย”
ไม่เพียงเท่านี้ ในขั้นต่อไปจะมีการจัดทำฐานข้อมูลคาร์บอนเครดิตเพื่อจะนำมาใช้อ้างอิงได้ในอนาคต เช่น สวนป่าประเภทต่างๆ อย่าง ป่าเบญจพรรณ-ป่าเต็งรัง-ป่าดิบเขา แต่ละประเภทสามารถดูดซับคาร์บอนหรือมีคาร์บอนเครดิตเท่าไร หรือสวนป่าตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไปมีคาร์บอนเครดิตเท่าไร เป็นต้น
ส่วนการเลือกพันธุ์ไม้มาปลูกคือพันธุ์ไม้โตช้า พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น โดยเลือกชนิดต้นไม้ที่เคยเป็นป่าเดิมของพื้นที่นั้น ด้วยการศึกษาพื้นที่ข้างเคียงจากป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่ แล้วนำไม้ชนิดนั้นกลับเข้าไปฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังใช้ไม้ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ว่ามีหรือไม่ เช่น ไม้กินได้อย่างลูกเนียง สามารถเก็บกินและขายได้ แต่ไม่ให้ตัด
ทั้งนี้ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ให้นโยบายว่า นอกจากจะมองมิติเรื่องโลกร้อน ให้มองเรื่องมิติชุมชนด้วย โดยการเพิ่มเติมให้มีพืชกินได้ หรือการสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น อำเภอพบพระ อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก มีไม้เสี้ยวดอกขาวเป็นไม้ประจำจังหวัด ให้ส่งเสริมการปลูกเพื่อพัฒนาต่อไปสู่การท่องเที่ยว และให้ศึกษาคุณภาพน้ำกับตะกอนควบคู่กันไปด้วย เช่น ใน 5 ปี และ10 ปี คุณภาพน้ำเป็นอย่างไร และปริมาณน้ำมีมากน้อยเท่าไร เป็นต้น เพื่อจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น