xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู ราชบุรีโฮลดิ้ง “ปลูกป่าต้นน้ำ” สร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอน ที่ จ.น่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานจิตอาสา บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง  พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 และประชาชนในพื้นที่ ร่วมโครงการปลูกป่าต้นน้ำ
โครงการปลูกป่าต้นน้ำ สร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 1,000 ไร่ บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เขตอำเภอปัว จังหวัดน่าน คาดว่าสามารถเก็บคาร์บอนได้อีกประมาณ 2,000 ตันต่อปี เป็นอีกกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ได้ขับเคลื่อนอย่างมุ่งมั่นเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 5-6 ก.ค.ที่ผ่านมา บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จัดเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ครั้งใหญ่ นำจิตอาสาที่เป็นทั้งผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน พร้อมสื่อมวลชนกว่า 50 คน ร่วมลงพื้นที่ปลูกป่าต้นน้ำผ่านความร่วมมือจากสำนักอนุรักษ์พื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงมีหน่วยงานราชการอื่นๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 และชาวบ้านในชุมชน เยาวชนในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหนองผุก และป่าชุมชนบ้านเด่นพัฒนาจากตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง รวมแล้วกว่า 300 คน ได้ร่วมไม้ร่วมมือกันปลูกต้นไม้ชุดแรกของโครงการจำนวน 2,000 ต้น ส่วนต้นไม้ที่เหลือจะทยอยปลูกจนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ศกนี้
คุรุจิต นาครทรรพ นำการปลูกป่าต้นน้ำ
ร่วมแรงพร้อมใจกันปลูกป่า
นักเรียนสาวชาวเผ่าม้งในพื้นที่ร่วมงานนี้

โครงการนี้ ดำเนินการปลูกต้นไม้พื้นถิ่นไม่น้อยกว่า 7 ชนิด โดยเป็นการปลูกคละพันธุ์ไม้ให้มีความหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน แต่ละชนิดสามารถเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณแตกต่างกันไป เช่น
-พญาเสือโคร่ง เป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว ผลัดใบ สามารถเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1.21 ตันคาร์บอนฯ/ไร่/ปี
-สนสองใบ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง เก็บกักคาร์บอนฯ ประมาณ1.47 ตันคาร์บอนฯ/ไร่/ปี
-สนสามใบ ไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว ไม่ผลัดใบ เก็บกักคาร์บอนฯ ประมาณ1.47 ตันคาร์บอนฯ/ไร่/ปี
-กัลปพฤกษ์ ไม้เนื้อแข็งปานกลาง โตเร็วปานกลาง ก็สามารถเก็บกักคาร์บอนฯ ประมาณ1.47 ตันคาร์บอนฯ/ไร่/ปี
-ก่อใบเลื่อม ก่อแป้น และ ก่อพวง ทั้ง 3 ชนิด เป็นไม้เนื้อแข็ง โตช้า ไม่ผลัดใบ สามารถเก็บกักคาร์บอนฯ ประมาณ 0.95 ตันคาร์บอนฯ/ไร่/ปี
ตามกำหนดจำนวนปลูกไว้ที่ 200,000 ต้นบนพื้นที่ 1,000 ไร่ หรือ 200 ต้นต่อ 1 ไร่ พร้อมจัดทำแนวกันไฟ โดยการสร้างหอดูไฟเพื่อเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง
โดยวางระยะเวลาโครงการไว้ 3 ปี (ปี 2557-2559) นับตั้งแต่การปลูก การดูแล และการติดตามประเมินผล ทั้งนี้ ได้กำหนดสัดส่วนของไม้เนื้อแข็งกับไม้โตเร็วไว้ที่ 80:20
ณ พื้นที่ป่าต้นน้ำปัว นั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงคนในภาคเหนือและภาคกลาง หากว่าป่าต้นน้ำถูกทำลายแล้ว ย่อมจะทำให้เหตุที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ไม่ว่าดินถล่ม และน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน

แนวทางการปลูกป่า
บริษัทฯ นำหลักวิชาการด้านป่าไม้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่ต้องเป็นไม้พื้นถิ่นและเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ การปลูกต้องปลูกคละพันธุ์ไม้ให้หลากหลายในพื้นที่เดียวกันและไม่ปลูกแบบจัดแถว และวิธีการติดตามตรวจสอบการเติบโตของต้นไม้ โดยได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.พสุธา สุนทรห้าว อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ โดยตั้งเป้าหมายอัตราการรอดตายของต้นไม้ไว้ไม่น้อยกว่า 90% ซึ่งต้นไม้ที่รอดจะเติบโตกลายเป็นแหล่งน้ำที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดโลกร้อนไปด้วยอีกต่างหาก

4 ด้านซีเอสอาร์ ช่วยโลกและชุมชน
พงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่าในฐานะเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสังคมไทย ได้มีการดำเนินการทั้งทางตรง และทางอ้อมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 เป้าหมายเพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และบรรเทาภาวะโลกร้อน ได้แก่
1) การอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อสร้างแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอนซิงค์ เช่น โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งป่าชุมชน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในป่าชุมชน โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อาทิ การปลูกต้นสัก 99,784 ต้น การปลูกต้นไม้ 840,000 ต้นในป่าชุมชน และการแจกจ่ายกล้าไม้ 1,000,000 กล้าแก่ป่าชุมชน 200 หมู่บ้าน
2)การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น โครงการขยายผลพลังงานชุมชน โครงการโซล่าร์โฮม
3) การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต เช่น โครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายโดยการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือทิ้งจากการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสาหร่ายสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ถึง 9 เท่า โครงการประหยัดพลังงานโรงไฟฟ้าราชบุรี
4) การสร้างองค์ความรู้และกระตุ้นความตระหนักเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้และพลังงาน เช่น การจัดสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน การจัดค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม การสร้างศูนย์การเรียนรู้ป่าชุมชน การสร้างศูนย์การเรียนรู้ลดโลกร้อนที่โรงไฟฟ้าราชบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น