xs
xsm
sm
md
lg

กคช. ชูการพัฒนาที่อยู่อาศัย “อนุรักษ์พลังงาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กค่ช.จัดอบรม “วิธีการออกแบบและการก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล”
การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดอบรม “วิธีการออกแบบและการก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล” เพื่อนำแนวคิด วิธีการ หลักการ หรือเทคนิคต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยมี สายันต์ ชาญธวัชชัย นายช่างใหญ่ การเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรม ระหว่างวันที่ 9 - 11 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ
สายันต์ ชาญธวัชชัย
สายันต์ ชาญธวัชชัย นายช่างใหญ่ การเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคที่อยู่อาศัยที่มีการใช้พลังงานหลายรูปแบบ เช่น ระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากสภาพแวดล้อมและมลภาวะ รูปแบบบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมเมือง เป็นข้อจำกัดในการอยู่อาศัยในบ้านมากขึ้น
บ้านจึงถูกออกแบบให้มิดชิดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้การระบายอากาศแบบธรรมชาติดังในอดีตไม่สามารถทำให้เกิดภาวะความสบายภายในบ้านได้ เป็นที่มาของการนำพัดลมและเครื่องปรับอากาศเข้ามาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อยังมีการใช้พลังงานอยู่ตลอดทำให้ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานและความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ซึ่งการจะลดปัญหาจากการใช้พลังงานสำหรับบ้านพักอาศัยในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงสภาวะ สภาพแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปด้วย
การอบรมในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานสายงานวิศวกร สถาปนิก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดและวิธีการ หรือหลักการออกแบบการก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนสามารถนำวิธีการ ทฤษฎี เทคนิคต่างๆ ไปพัฒนาการออกแบบอาคารและพัฒนาการก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆ ขององค์กร ให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554 - 2573) ของกระทรวงพลังงานได้
เนื่องจากการเคหะแห่งชาติมีภารกิจในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย การออกแบบ การก่อสร้าง และการเลือกใช้วัสดุจึงคำนึงถึงความประหยัดทางเศรษฐกิจของผู้อาศัย แต่จากภาวะโลกร้อน และด้วยกระบวนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม การเคหะแห่งชาติจึงได้ศึกษาวิจัย “โครงการศึกษาการจัดทำเกณฑ์การทำโครงการและการประเมินโครงการสำหรับโครงการชุมชนน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืน” และนำเกณฑ์ที่ได้จากการพัฒนามาใช้กับโครงการของ การเคหะแห่งชาติที่จะดำเนินการจัดสร้างต่อจากนี้เป็นต้นไป
สำหรับแนวทางการออกแบบและก่อสร้างที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาตินั้น จะเริ่มตั้งแต่ การเลือกพื้นที่ในการก่อสร้าง โดยเลือกพื้นที่ที่ไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม และอยู่ใกล้ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อการคมนาคมที่สะดวก ลดการใช้พลังงานในการเดินทาง ต่อมาคือ การวางผัง คำนึงทิศทางแดด ทิศทางลม การระบายอากาศ จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย และพื้นที่สีเขียว สำหรับการออกแบบอาคาร จะจัดให้มีช่องเปิดสำหรับการระบายอากาศที่ดี ซึ่งช่องเปิดที่เหมาะสมยังช่วยให้ลดการใช้พลังงานแสงสว่าง และการนำชนวนความร้อนมาใช้ สามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้ ส่วนการเลือกใช้วัสดุ จะใช้วัสดุที่กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุที่นำมาใช้ไม่เป็นพิษภัยต่อผู้อยู่อาศัย
นอกจากนี้ในกระบวนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีหน่วยก่อสร้างปริมาณมาก การเลือกใช้วัสดุสำเร็จรูปเพื่อมาประกอบที่โครงการก่อสร้างจะช่วยลดปริมาณขยะจากการก่อสร้าง ลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ และประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
“ที่ผ่านมาการออกแบบและการก่อสร้างของการเคหะแห่งชาติคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และเราจะพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป” สายันต์ กล่าว
ดร.พิมลมาศ วรรณคนาพล
ด้าน ดร.พิมลมาศ วรรณคนาพล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยาย กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน ว่าเพื่อให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากสภาวะโลกร้อน (Global Warming) และปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)
อาคารที่ออกแบบนั้นต้องไม่ทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ซึ่งการออกแบบอาคารจะต้องดูบริบทว่าสถานที่ตั้งอยู่ตรงไหน ในระดับจังหวัด ตำบล หมู่บ้าน เกิดผลกระทบอย่างไรจากสภาพภูมิอากาศบ้าง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเริ่มต้นดำเนินการออกแบบ ขั้นแรกของการออกแบบอาคารต้องคำนึงถึงการระบายอากาศที่ดี เพราะฉะนั้นการออกแบบและการวางผังเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต่อมาตัวอาคารหรือตัวบ้านต้องหันถูกต้องตามทิศทางของแดด ลม ฝน ทั้งนี้หากบ้านได้รับแสงแดดมากเกินไป ภาระจากการใช้เครื่องปรับอากาศเข้ามาช่วยคลายความร้อนก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการกันแดด หรือการทำ shading ป้องกันรังสีจากแสงแดดเข้าสู่อาคารจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเราสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้การเลือกวัสดุ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องการประหยัดพลังงาน ยังช่วยให้เราอยู่ได้อย่างสบายมากขึ้นด้วย
“ประโยชน์ของอาคารอนุรักษ์พลังงานในภาพรวมของโลก คือ เราสามารถคำนวณได้ว่าช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ ซึ่งในการประหยัดพลังงานนั้นเรายังอยู่ได้อย่างสบายภายในบ้าน และสุดท้ายประโยชน์โดยตรงคือประหยัดใช้จ่ายจากการใช้พลังงานไฟฟ้า” ดร.พิมลมาศ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น