xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์เปลี่ยน “เทศบาลไทยสู่เมืองคาร์บอนต่ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทศบาลไทยคาร์บอนต่ำ ปีที่ 3 ภายใต้ “โครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา ตั้งเป้าขับเคลื่อนเทศบาลลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 84,000 กิโลกรัมคาร์บอน ชูธง 4 ยุทธศาสตร์หลักให้รับรู้และนำกลับไปประยุกต์ใช้ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการสัมมนา “พี่น้องพบกัน...สานสัมพันธ์เทศบาลคาร์บอนต่ำ” ภายใต้โครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเทศบาลในเครือข่ายและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินนโยบายพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) อันจะนำไปสู่การบรรเทาความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศของโลก
งานนี้จัดเป็นเวทีบรรยายแลกเปลี่ยนแนวคิด พร้อมบอกยุทธศาสตร์ในการลดปริมาณคาร์บอนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเทศบาล โดยนำเทศบาลนำร่อง 16 แห่ง มาถ่ายทอดข้อมูลความรู้ให้กับตัวแทนเทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความสนใจในตัวโครงการจำนวน 171 แห่ง
รวมถึงมีการเสวนาในหัวข้อ “นโยบาย กลไก และมาตรการที่เหมาะสม..ในการผลักดันแนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำให้เป็นกระแสหลักในท้องถิ่นไทย” มีผู้ร่วมเสวนาเป็นบุคคลที่มีบทบาทในด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่างๆ รวมถึงประสบการณ์การทำงานกับเทศบาลที่ส่งเสริมนโยบายเทศบาลคาร์บอนต่ำ
ธารี กาเมือง
“สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้สมาชิกสมาคมสันนิบาตฯ ซึ่งเป็นเทศบาลจำนวน 2,000 แห่งได้รับรู้ว่าคาร์บอนคืออะไร เข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน สร้างผลกระทบถึงท้องถิ่นต่างๆ และก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมีต้นเหตุจากปริมาณคาร์บอนที่คน หน่วยงานต่างๆ ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ” ธารี กาเมือง ผู้จัดการโครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ยังบอกถึงแนวทางปฏิบัติการด้วย 4 ยุทธ์ศาสตร์สำคัญว่า
1.สร้างเมืองแห่งต้นไม้ เน้นสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน โดยให้มีการปลูกไม้ยืนต้นเป็นหลัก สัดส่วนของพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนต้องมีไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน เนื่องจากต้นไม้สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนเป็นออกซิเจนได้
2.สร้างเมืองที่ไร้มลพิษ ลดการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมของเมืองเช่น การทิ้งขยะและน้ำเสียให้เหลือน้อยที่สุดจะช่วยลดก๊าซมีเทนที่จะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
3.สร้างเมืองพิชิตพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันในภาคการเดินทางยิ่งลดได้มากเท่าไรก็เป็นการลดคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้มากเท่านั้น รวมถึงการรณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานทดแทนด้วย
4.สร้างเมืองให้มีการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการบริโภคอย่างพอเพียงเพราะกระบวนการผลิตต่างๆล้วนต่างทรัพยากรมากมาย เช่น น้ำ เชื้อเพลิง มีการปล่อยน้ำเสียและคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ จึงต้องดำเนินการให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

โชคชัย เดชอมรธัญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สากล ฐินะกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, ประเสริฐ ศิรินภาพร ผอ.สำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สมชาย จริยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการฯ และ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ร่วมเสวนาในหัวข้อ นโยบาย กลไก และมาตรการที่เหมาะสม..ในการผลักดันแนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำให้เป็นกระแสหลักในท้องถิ่นไทย
ตัวแทนจากเทศบาลต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมงานสัมมนากันคึกคัก เมื่อวันที่ 11-12 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต
ด้านสมชาย จริยเจริญ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลง อ.แกลง จ.ระยอง ผู้จุดกระแสเมืองคาร์บอนต่ำในบริบทไทยสู่อาเซียน กล่าวว่า ในการเริ่มต้นพัฒนาเทศบาลสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ควรเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น จากขยะ น้ำเสียที่เกิดขึ้นอยู่ในเทศบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเทศบาลเมืองแกลงของเรามีแนวทางปฏิบัติให้กับบ้านที่สร้างใหม่ติดตั้งถังดักไขมันในแปลนบ้าน เพื่อดักไขมันก่อนปล่อยน้ำเข้าสู่การบำบัด ถ้าบ้านไหนไม่มีถังดักเทศบาลจะไม่ออกเลขที่บ้านให้
“แต่ก็เจอปัญหาเมื่อออกเลขที่บ้านให้แล้ว พอกลับไปตรวจซ้ำเจ้าบ้านกลับย้ายถังดักไขมันออกมา ก็แก้ไขด้วยการขอความร่วมมือ อธิบายให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญ ผลเสียที่จะเกิดต่อทรัพยากรน้ำในบริเวณพื้นที่ของเขา”
สำหรับ 3 ประเด็นหลักที่จะส่งเสริมการผลักดันนโยบายสร้างเมืองคาร์บอนต่ำไปสู่กระแสหลัก ประการแรก ใช้นโยบายเป็นตัวผลักดัน โดยให้นโยบายระดับประเทศมาสู่ท้องถิ่น ตามกระแสโลกที่ใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง นำบทเรียน หรือตัวอย่างการดำเนินงานของเทศบาลต่างๆ มาใช้ดำเนินงานซึ่งถือว่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้การทำงานในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการที่สาม เป็นการลงมือทำอย่างจริงจังในภาคส่วนย่อยๆ คือ เทศบาล แล้วจึงค่อยขยายวงให้กว้างออกไป
การดำเนินนโยบายพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) เพื่อจะนำไปสู่การบรรเทาความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศของโลกในโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union : EU) ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2555 และจะสิ้นสุดเดือน ม.ค. 2558 ตั้งเป้าหมายให้เทศบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันได้ไม่ต่ำกว่า 84,000 กิโลกรัมคาร์บอนภายในระยะเวลา 36 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น