xs
xsm
sm
md
lg

นาซาเปิดข้อมูลโลกยังร้อนขึ้น แม้ตอนนี้หลายพื้นที่กำลังหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่แสดงความแตกต่างของอุณหภูมิโลกเมื่อปี 2013 กับอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 1951-1980
ทั้งปรากฏการณ์โพลาร์วอร์เทกซ์หรืออากาศหนาวที่คนไทยสัมผัส ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพฯ ที่หนาวต่อเนื่องหลายสัปดาห์ อาจทำให้หลายคนคิดไปไกลว่า โลกคงใกล้เข้าสู่ยุคน้ำแข็งแล้ว แต่...ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้บอกแบบนั้น

ข้อมูลจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยปีว่า 2013 เป็นปีที่โลกร้อนเป็นอันดับที่ 7 นับแต่ปี 1880 ซึ่งเป็นอันดับเดียวกับปี 2006 และ 2009 ส่วนปีที่ร้อนที่สุดคือปี 2010 และปี 2005 โดย 9 ใน 10 ของปีที่ติดอันดับร้อนที่สุดเป็นปีหลังปี 2000

นาซายังได้แสดงแผนที่อุณหภูมิทั่วโลกในปี 2013 ที่แสดงถึงอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลงไปกี่องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 1951-1980 โดยเป็นผลการศึกษาของสถาบันศึกษาอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Institute for Space Studies) หรือ GISS ของนาซา

GISS เลือกช่วงเปรียบเทียบ 3 ทศวรรษ เพื่อให้ได้ข้อมูลเฉลี่ย และเริ่มเปรียบเทียบช่วงอุณหภูมิดังกล่าว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ทุกวันนี้อยู่ในวัยเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งอ้างอิงได้ว่าทุกคนยังจำได้

ทีมศึกษารวบรวมข้อมูลจากสถานีอุตุนิยมวิทยากว่า 6,000 ทั่วโลก ทั้งสถานีบนบก สถานีบนเรือในมหาสมุทร สถานีที่แอนตาร์กติกา และดาวเทียมที่สำรวจอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร

ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกที่ถูกบันทึกนั้นเป็นค่าเฉลี่ยของทุกพื้นผิวบนโลก ดังนั้นอุณหภูมิที่เราเผชิญกันในท้องถิ่นหรือช่วงเวลาสั้นๆ จึงมีความแปรปรวนมากกว่า ขึ้นอยู่กับวัฏจักรประจำ เช่น กลางวัน กลางคืน ฤดูร้อน ฤดูหนาว เป็นต้น รวมถึงปัจจัยด้านลมและรูปแบบอากาศที่ยากจะคาดเดา

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกหลักๆ แล้วขึ้นกับพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์แล้วสะท้อนกลับไป แต่ปริมาณดังกล่าวเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ส่วนพลังงานที่โลกปล่อยออกมานั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะปริมาณความร้อนที่ถูกกักไว้ด้วยก๊าซเรือนกระจก

"การเปลี่ยนแปลงเพียง 1 องศานั้นมีความสำคัญมาก เพราะต้องใช้ความร้อนปริมาณมหาศาลเพื่อทำให้มหาสมุทร บรรยากาศ และผืนดิน ร้อนขึ้นได้ขนาดนั้น ในอดีตอุณหภูมิเฉลี่ยลดลงเพียง 1-2 องศาเซลเซียสก็ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age) และหากลดลงถึง 5 องศาเซลเซียสก็เพียงพอที่จะทำให้ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือจมอยู่ใต้น้ำแข็งเหมือนเมื่อ 20,000 ปีก่อน" รายงานจากนาซาระบุ

ทว่าแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางปีที่อุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยนับแต่บันทึกข้อมูลจากปี 1950 มี 38 ปีที่อุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิในปีเอลนีโญ (El Niño) และปีลานีญา (La Niña) รวมกัน

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2013 อยู่ที่ 14.6 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนกว่ากลางศตวรรษที่ 20 อยู่ 0.6 องศาเซลเซียส และนับแต่ปี 1880 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 0.8 องศาเซลเซียส

"แนวโน้มระยะยาวของอุณหภูมิพื้นผิวไม่ปกติ และปี 2013 ก็เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้น ขณะที่ปีเดียวหรือฤดูกาลเดียวได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไร้ระเบียบแผน การวิเคราะห์นี้แสดงถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเฝ้าดูในระยะยาวต่อไป" กาวิน ชมิดท์ (Gavin Schmidt) นักภูมิอากาศของ GISS ระบุ

ลักษณะสภาพอากาศและวัฏจักรธรรมชาติอื่นๆ เป็นเหตุให้เกิดความแปรปรวนในอุณหภูมิเฉลี่ยปีต่อปี โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น เช่น ในปี 2013 อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น แต่สหรัฐฯ เผชิญกับปีที่หนาวเย็นกว่าปีอื่นๆ ส่วนออสเตรเลียกับประสบกับปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ได้ขับให้อุณหภูมิโลกในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น แต่ปีตามปฎิทินก็ไม่จำเป็นต้องร้อนกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งระดับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ในแต่ละทศวรรษอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กราฟของนาซาจ
ยังแสดงให้เห็น ไม่ว่าโลกจะร้อนขึ้นในปีเอลนีโญหรือเย็นลงในปีลานีญา โดยแนวโน้มโลกก็ร้อนขึ้น
แผนที่แสดงอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละทศวรรษ







กำลังโหลดความคิดเห็น