แม้รายงานล่าสุดของไอพีพีซีจะระบุว่า อุณหภูมิโลกไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เคยฉายภาพไว้ในรายงานก่อนหน้าเมื่อปี 2007 แต่ผู้สื่อข่าวบีบีซีซึ่งได้เห็นรายงานใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อมูลซับซ้อน ระบุว่านักวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นกว่าครั้งไหนๆ ว่าโลกร้อนขึ้นจริง และมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 50 ปีหลังนี้
ระหว่างสัปดาห์นี้ผู้ช่วยเชี่ยวชาญทั้งนักวิทยาศาสตร์และตัวแทนรัฐบาลจาก 195 ประเทศได้ประชุมร่วมกันที่กรุงสต็อคโฮล์ม สวีเดน เพื่อเตรียมเผยแพร่รายงานของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี (IPCC) ภายใต้กรอบสหประชาชาติ ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่ารายงานดังกล่าวให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานที่จับต้องได้ซึ่งอยู่เบื้องหลังภาวะโลกร้อน
ตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้หารือและถกเถียงกันจนถึงดึกวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น เพื่อระบุคำจำกัดความสุดท้ายสำหรับบทสรุปแก่ผู้กำหนดนโนบายของประเทศต่างๆ ด้วยเอกสารอันหนาแน่นและเต็มไปด้วยข้อมูลซับซ้อนที่ผู้สื่อข่าวของบีบีซีได้เห็น ชี้ว่านักวิทยาศาสตร์มีความเชื่อมั่นมากกว่าครั้งไหนๆ ว่าโลกเรากำลังร้อนขึ้น และมนุษย์นั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลดังกล่าวดูเหมือนจะได้รับการหนุนหลักฐานด้วยการสำรวจที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งพบการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิ แม้ว่าการฉายภาพอุณภูมิที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้ถูกปรับให้ลดลงต่ำกว่าที่ระบุในรายงานของไอพีซีซีเมื่อปี 2007 เนื่องจากมีการหยุดชะงักหรือหยุดร้อนขึ้นชั่วคราวเมื่อปี 1998
ถึงกระนั้น ศ.ฌ็อง ปาสคาล แวน อีแปร์แชล (Prof Jean Pascal van Ypersele) รองประธานไอพีซี เน้นว่าแถลงการณ์ของคณะกรรมการนั้นหนักแน่นและสร้างความความกังวลว่า เป้าหมายที่จะคงการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสนั้นยิ่งยากจะไปถึงเป้าหมาย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2009 นักการเมืองได้ตัดสินใจภายในการประชุมด้านการภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ที่จะพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกเฉลี่ยในระยะยาวให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเพดานเหนือระดับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เป็นอันตรายบนโลก
ทว่ารองประธานไอพีซีซีระบุว่า โลกได้เลยจุดที่ยังสามารถคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะคงอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกินเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียส เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการของภาวะเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ 400 ส่วนต่อล้านส่วน หรือ 400 พีพีเอ็ม (ppm) ไปเรียบร้อยแล้ว
“ตัวเลขดังกล่าววัดจากก๊าซเรือนกระจกที่เรามีอยู่ทั่วโลก ตราบเท่าที่ความหนาของมันยังเพิ่มขึ้น ผมไม่เห็นทางที่จะไม่กังวลว่า มันยากจะบรรลุเป้าหมาย” แวน อีแปร์แชลกล่าว
บีบีซีรายงานว่ามีการถกเถียงยาวนานในที่ประชุมเกี่ยวกับผลกระทบของการหยุดเพิ่มอุณหภูมิในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยรายงานของบางรัฐบาลที่พยายามจะลดความสำคัญของการหยุดชะงักดังกล่าว แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คำพูดอาจถูกปรับแต่งให้ดูดีได้ แต่ไม่มีอะไรที่สามารถซ่อนอยู่ใต้พรม
สำนักงานอังกฤษระบุอีกว่า รายงานของไอพีซีซีที่เผยในวันศุกร์ที่ 27 ก.ย.นี้ ระบุว่านักวิทยาศาสตร์ถึง 95% มั่นใจว่ามนุษย์คือสาเหตุสำคัญของภาวะโลกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นบนพื้นโลก ในอากาศและมหาสมุทรนั้นเกิดขึ้นไม่เท่ากัน และเสริมอีกว่า การหยุดร้อนขึ้นของโลกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานั้น สั้นเกินกว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มในระยะยาว
ไอพีซีซียังเตือนอีกว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องจะเป็นสาเหตุให้โลกร้อนขึ้นไปอีก และจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบภูมิอากาศทั้งหมด และเพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาลและยั่งยืน ในแต่ละทศวรรษของช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พื้นผิวโลกร้อนขึ้น และร้อนกว่าช่วงใดๆ มาตั้งแต่ปี 1850 และอาจจะร้อนกว่าช่วงเวลาใดๆ ในรอบ 1,400 ปีที่ผ่านมา
“การประเมินด้านวิทยาศาสตร์พบว่าชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรร้อนขึ้น และปริมาณหิมะและน้ำแข็งลดลง ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้น และความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกก็เพิ่มขึ้นด้วย” ควิน ดาเฮ (Qin Dahe) ประธานร่วมไอพีซีซีของคณะทำงานกลุ่ม 1 ผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างแถลงข่าว ศ.โทมัส สต็อคเกอร์ (Prof Thomas Stocker) ประธานร่วมอีกคนของไอพีซีซี กล่าวระหว่างแถลงข่าวที่เมืองหลวงของสวีเดนว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้ท้าทายทรัพยากรและระบบนิเวศหลักที่สำคัญของมนุษย์ คือ แผ่นดินและน้ำ หรือกล่าวย่อคือมันกำลังคุกคามโลกของเรา โลกที่เป็นบ้านเพียงหลังเดียวของเรา
ส่วนบทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโนบายนั้น นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราที่เร็วขึ้นกว่าที่เราเคยประสบมาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากรายงานระบว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 26 เซ็นติเมตร ซึ่งเป็นคาดการณ์ต่ำสุด ถึง 82 เซ็นติเมตร ซึ่งเป็นคาดการณ์สูงสุด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในศตวรรษนี้
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นมีอิทธิพลต่อการเพิ่มขึ้นของพลังงานที่เก็บในระบบภูมิอากาศ คิดเป็น 90% ของพลังงานที่สะสมระหว่างปี 1971-2010 และในอนาคตโลกยังคงร้อนขึ้นต่อไป โดยคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100