รอยเตอร์ - ศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าไม้ในทวีปยุโรปใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าภูมิภาคนี้กำลังสูญเสียปราการหลักที่จะป้องกันผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ผลวิจัยซึ่งเผยแพร่วานนี้ (18) ระบุ
พื้นที่ป่าในยุโรปตั้งแต่สเปนเรื่อยไปจนถึงสวีเดนมีอายุเก่าแก่ขึ้นทุกวัน ต้นไม้ที่อายุมากเหล่านี้เริ่มสูญเสียศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น, ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ตลอดจนปัญหาคลื่นความร้อนและอุทกภัยที่เกิดถี่ขึ้นทุกปี
ผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Climate Change ยังเตือนถึงปัญหาไฟป่า, พายุ และการรุกรานของแมลงศัตรูพืชซึ่งเป็นตัวการทำลายต้นไม้ อีกทั้งในบางพื้นที่ของยุโรปก็มีการแผ้วถางป่ามากขึ้น
จากปัจจัยที่กล่าวมา พลเมืองยุโรปจึงไม่อาจวางใจได้อีกต่อไปว่า ป่าจะสามารถดูดซับคาร์บอนที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม, โรงไฟฟ้า และรถยนต์ได้ในระดับที่เคยเป็น ซึ่งปัจจุบันนี้ผืนป่าในยุโรปสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกมาได้เพียง 10% เท่านั้น
“ป่าที่กำลังฟื้นตัวใหม่ยังสามารถเป็นอ่างดูดซับคาร์บอนได้อีกหลายสิบปีก็จริง แต่ถึงกระนั้นก็เริ่มจะมีสัญญาณบ่งบอกถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น ทุกประเทศควรทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์ในการดูแลป่าไม้ หากเรายังต้องการให้อ่างดูดซับคาร์บอนเหล่านี้ทำหน้าที่ของมันต่อไปได้อย่างยั่งยืน” รายงานชิ้นนี้ระบุ
Ger-Jan Nubuurs หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยวาเกนินเกน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ชี้ว่า จากการคำนวณอย่างคร่าวๆ เชื่อว่าจุดอิ่มตัวที่ว่านั้นอาจมาถึงราวๆปี 2030 หากรัฐบาลในยุโรปไม่มีมาตรการป้องกัน
ปัจจุบันนี้ ยุโรปจัดว่ามีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในรอบหลายร้อยปีนับตั้งแต่ยุคกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี ข้อมูลตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาพบว่า อัตราการขยายตัวของป่าไม้เริ่มช้าลง เนื่องจากต้นไม้อายุมากขึ้น