เอเอฟพี - โรงงานไฟฟ้าของเกาหลีใต้ 2 แห่งหยุดการดำเนินงานในวันนี้ (12 ส.ค.) ภายหลังที่ประสบเหตุขัดข้องทางด้านเทคนิค ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกกันว่าจะเกิดไฟดับ หลังจากที่รัฐมนตรีออกมากล่าวเตือนวานนี้ (11) ว่าโสมขาวกำลังอยู่ที่ริมขอบแห่งวิกฤตการณ์พลังงานครั้งสำคัญ
โรงไฟฟ้าแดงจิน 3 ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 500,000 กิโลวัตต์หยุดทำงานเนื่องจากปัญหาด้านเครื่องจักร และน่าจะปิดตัวต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ โฆษกคนหนึ่งของรัฐวิสาหกิจจัดจำหน่ายไฟฟ้า โคเรียเพาเวอร์เอ็กซ์เชนจ์ (เคพีอี) ระบุ
นอกจากนี้ ปัญหาด้านเทคนิคยังเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าโซชอนในบริเวณใกล้เคียงกันในเช้าวันนี้ (12) ด้วย แม้โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกครั้งหนึ่งในชั่วโมงต่อมา แต่ก็จ่ายไฟฟ้าได้เพียงครึ่งหนึ่งจากกำลังการผลิตที่มีอยู่ 200,000 กิโลวัตต์ โฆษกผู้นี้ชี้แจง
โรงไฟฟ้าทั้งสองมีปัญหาขึ้นมาในจังหวะเวลาซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายอย่างที่สุด เนื่องจากเกาหลีใต้กำลังประสบกับคลื่นความร้อนที่แผ่เข้าปกคลุม อีกทั้งขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับวิกฤตย่อมๆ ในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
“เป็นไปได้ว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงานครั้งเลวร้ายที่สุด” ยุน ซางจิค รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อุตสาหกรรมและพลังงานแถลงเมื่อวานนี้ (11)
“เราอาจต้องประสบปัญหาไฟดับเป็นพักๆ หากเกิดมีโรงไฟฟ้าแม้แต่แห่งเดียวต้องยุติการดำเนินการ” ยุนกล่าว และเรียกร้องให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือน และร้านค้าร่วมกันประหยัดไฟฟ้าในช่วงเวลาสามวันต่อจากนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลเคยได้รับแรงกดดันให้หันไปใช้วิธีการลดจ่ายไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน ปี 2011 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงเกินคาดจนทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองตกลงมาในระดับต่ำสุดชนิดที่ไม่เกิดขึ้นมาในรอบหลายทศวรรษแล้ว
โฆษกของเคพีอีเผยว่า มีความเสี่ยงที่ไฟฟ้าสำรองจะลดต่ำลงกว่า 2.0 ล้านกิโลวัตต์ในช่วงบ่ายวันนี้ (12) ซึ่งจะกระตุ้นให้รัฐบาลต้องส่งสัญญาณเตือนโดยอัตโนมัติให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลปิดเครื่องปรับอากาศ หลอดไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น
อุณหภูมิซึ่งคาดการณ์กันว่าจะสูงกว่าระดับปกติในฤดูร้อนเช่นนี้ต่อไปอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ได้ส่งผลให้ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทะยานขึ้นสูงตามไปด้วย
ในเวลาเดียวกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โสมขาวกำลังดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะชะงักงันอย่างยาวนาน ซึ่งบีบให้ต้องปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นจำนวนหลายเครื่อง โดยหากไม่เป็นการปิดเพื่อซ่อมแซม ก็เป็นผลมาจากกรณีอื้อฉาวในเรื่องใบรับประกันความปลอดภัยที่ถูกปลอมแปลงขึ้น
ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 23 เครื่องซึ่งในความเป็นจริงควรจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการ ทว่าบัดนี้มี 6 เครื่องที่ปิดใช้งาน