พพ.จับมือ กฟภ. เดินหน้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาในอาคารภาครัฐในภูมิภาค ยันนำร่องติดตั้งหลังศาลากลางจังหวัด และอาคาร อบต. เทศบาลทั่วประเทศ หวังผลิตไฟฟ้าได้ 25 เมกะวัตต์ ช่วยชาติประหยัดเงิน 146 ล้านบาทต่อปี แถมประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง 11 ล้านลิตรต่อปี ช่วยเซฟได้อีก 330 ล้านบาทต่อปี
วันนี้ (23 ก.ย.) พลตำรวจโท ดร.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในงานแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคานำร่องในอาคารของรัฐในภูมิภาค
ดร.วิเชียรโชติกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีความตั้งใจให้การส่งเสริมระบบ Solar Rooftop ดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างสัมฤทธิผล โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการติดตั้งนำร่องให้แก่อาคารภาครัฐในส่วนภูมิภาค ซึ่งเบื้องต้นจะดำเนินการติดตั้งบนหลังคาศาลากลางจังหวัดในเขตรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 74 จังหวัด และบนหลังคาอาคารของรัฐ เช่น อบต. เทศบาล ทั้ง 74 จังหวัดเช่นเดียวกัน และได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาดังกล่าวให้ได้ประมาณ 25 เมกะวัตต์ ซึ่งมีวงเงินลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 1,847,000,000 บาท
ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนั้นจะสามารถประหยัดพลังงานได้ 36.5 กิโลวัตต์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 146 ล้านบาทต่อปี (คำนวณจากค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วย) เกิดการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 11 ล้านลิตรต่อปี หรือประมาณ 330 ล้านบาทต่อปี (คำนวณจากราคาน้ำมันดีเซลคิดที่ 30 บาทต่อลิตร) รวมไปถึงสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อนได้สูงถึง 18,980 ตันต่อปีอีกด้วย
นายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า เบื้องต้นในการดำเนินโครงการเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในกลุ่มอาคารภาครัฐในภูมิภาค ซึ่งมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ พพ.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 1,847 ล้านบาท โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในวันนี้เชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้โครงการฯ ดังกล่าวสามารถสัมฤทธิผลได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นการผลักดันเพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์บรรลุผลตามเป้าหมายของแผน AEDP ของกระทรวงพลังงานต่อไป