xs
xsm
sm
md
lg

รองนายก อบต.ห้วงน้ำขาว รณรงค์ให้ ปชช.ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตราด - รองนายก อบต.ห้วงน้ำขาว รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หลังใช้จ่าย เรื่องค่ากระแสไฟฟ้าลดลง 20-30%

นายชูวิทย์ สุขสวัสดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนเอง และเพื่อนๆ ที่เป็นอาสาสมัครรณรงค์ให้ประชนหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งที่ผ่านมา ได้ทำการติดตั้งการใช้แผงโซลาร์เซลล์ ทาง อบต.จะใช้การเชื่อมต่อในลักษณะไฮบริดกับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในสำนักงาน อบต. ทั้งเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องคอมพิวเตอร์ พัดลม กระติกน้ำร้อน หรือเครื่องพรินต์ ซึ่งการทำงานเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อแผงโซลาร์เซลล์ทำงานทันที่ทีมีแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์จะทดแทนไฟฟ้าจากบ้านทันที และจะทำให้การใช้ไฟฟ้าลด หากแสงอาทิตย์ยิ่งแรง หรือเข้มข้นมากขึ้นการใช้ไฟฟ้าในบ้านก็จะลดลงเรื่อยๆ

“การทำงานเหมือนกับการติดตั้งแก๊สรถยนต์ที่มีระบบในการเปลี่ยนการใช้น้ำมันในครั้งแรก หลังจากเครื่องติดแล้วระบบจะเปลี่ยนให้เป็นการใช้แก๊สโดยอัตโนมัติ วิธีนี้ไม่ยุ่งยาก และสามารถดำเนินการได้ง่าย ที่ อบต.ห้วงน้ำขาว ใช้งานมาได้ 6 เดือน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจนเมื่อค่าใช้จ่ายไฟฟ้าจากที่เคยจ่ายเดือนหมื่นกว่าบาท ลดลงมาเหลือ 6-7,000 บาท/เดือน หรือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเดือนมิถุนายนทำได้ถึง 40 เปอร์เซนต์ จึงเป็นการสะท้อนให้ว่าการเลือกใช้พลังงานทดแทนสามารถทดแทนได้จริง แต่ประชาชน หรือองค์การ หรือส่วนราชการไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าไรนักทั้งที่ทำได้ทันที” นายชูวิทย์กล่าว

นายชูวิทย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ตนทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครในเรื่องการรณรงค์ให้ประชาชน หรือองค์กรได้หันมาใช้พลังงานทดแทนไม่ต้องเป็นแผงโซลาร์เซลล์อย่างเดียวก็ได้ เพราะพลังงานลม หรือพลังงานอื่นๆ ก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ใดเหมาะสม ที่ ต.ห้วงน้ำขาว จะได้รณรงค์ให้ประชาชนได้หันมาใช้ในเรื่องนี้มากขึ้นโดยเริ่มทำในแต่ละครัวเรือนก่อน แม้ในครั้งแรกจะลงทุนสูง แต่เมื่อติดตั้งแล้วจะไม้ต้องเสียค่าไฟฟ้าทั้งหมดเป็นเวลาถึง 20 ปีทีเดียว

ขณะนี้ประชาชนเริ่มให้ความสนใจในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ไฟฟ้าไม่มีใช้ ประชาชนได้หันมาสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่ใช้พลังงานทดแทนเคยมีการยกตัวอย่างว่าหากพลังงานทดแทนเหลือจากการใช้จะเอาไปไว้ไหน ก็มีทางออกว่าในแบตเตอรี่ แต่ถ้ายังมีจะทำอย่างไร ในขณะนี้จึงมีแนวคิดว่าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้รับซื้อได้หรือไม่ หรือถ้าวันนี้ชุมชนทำขึ้นเองไฟฟ้าที่เหลือมากๆ จะมีใครรับซื้อ หรืออนุญาตให้ทำหรือไม่ เช่น 1 เมกะวัตต์/ชุมชน จะเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายรองรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น