เรกูเลเตอร์ส่งสัญญาณค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 57 มีโอกาสขยับต่อหลังยังแบกภาระงวดนี้ไว้อีกกว่า 2.91 สตางค์ต่อหน่วย ต้องลุ้นบาทแข็งช่วยสถานเดียว ส่วนค่าไฟ ก.ย.-ธ.ค.เคาะแล้วขึ้น 7.08 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมเปิดรับซื้อไฟจากแสงอาทิตย์ให้ยื่นได้ 23 ก.ย.-11 ต.ค.นี้
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที งวด ม.ค.-เม.ย. 57 ยอมรับว่ามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 56 ยังมีภาระที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระอยู่ 2.91 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งปัจจัยหลักที่ต้องติดตามคือค่าเงินบาทและราคาน้ำมันตลาดโลกที่จะสะท้อนไปยังราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟ
“หากค่าเงินบาทอ่อนค่าและราคาน้ำมันปรับขึ้นช่วงสิ้นปีก็คงยากที่ค่าไฟจะไม่ปรับขึ้นเพราะค่าเงินบาทหากอ่อนค่า 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐจะมีผลค่าไฟขึ้นถึง 6 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากแข็งค่า 1 บาทก็จะลดลงทันทีเช่นกันก็คงจะต้องลุ้นค่าเงินบาทเป็นหลักเพราะหากดูจากน้ำมันแล้วยอมรับว่าช่วงสิ้นปีจะขาขึ้น” นายดิเรกกล่าว
สำหรับค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 56 จากการรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 23-30 ส.ค.ปรากฏมีผู้เข้ามาชม 159 ราย ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 ก.ย.เรกูเลเตอร์ได้รับทราบความคิดเห็นและได้เห็นชอบค่าเอฟทีรอบบิล ก.ย.-ธ.ค.เท่ากับ 54 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยเพิ่มขึ้น 7.08 สตางค์ต่อหน่วย (ค่าเอฟทีงวดที่แล้วเก็บที่ 46.92 สตางค์ต่อหน่วย)
“จากคำนวณเอฟทีงวดนี้จะต้องปรับขึ้น 14.18 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อลดภาระให้กับประชาชนจึงนำเงินชดเชยจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขนอมและเงินค่าปรับโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวน 2,247.32 ล้านบาทคิดเป็น 4.19 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งให้ กฟผ.ช่วยรับภาระอีก 1,566 ล้านบาทรวมเป็น 7.10 สตางค์ต่อหน่วย” นายดิเรกกล่าว
นายดิเรกยังกล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟตั้งแต่ 23 ก.ย.-11 ต.ค. เวลา 09.00-15.00 น. และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นคำขอขายไฟที่ผ่านคัดเลือกวันที่ 14 ต.ค.เป็นต้นไป โดย กฟภ.ยื่นได้ 12 เขต กฟน.18 เขต
การรับซื้อรอบแรก 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยกำลังติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์รวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์ อีก 100 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อหากไปก่อนเวลาก็ต้องจับสลากรับบัตรคิวเพื่อยื่น และการยื่นก่อนจะได้หรือไม่ก็อยู่ที่ข้อเสนอ ส่วนอาคารรัฐจะยื่นติดตั้งไม่ได้” นายดิเรกกล่าว
ส่วนกรณีปัญหาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) กำลังหารือที่จะยกเว้นการต้องขอ รง.4 กรณีผลิตไฟไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ โดยได้เสนอไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว และหากที่สุดมีปัญหาจริงก็จะต้องปรับเวลาติดตั้งที่กำหนดภายใน 31 ธ.ค. 56 ออกไป