โฆษก ปชป.เฉ่งรัฐบาลเติมเชื้อไฟ ใส่ร้ายม็อบสวนยางที่เดือดร้อนจี้เร่งแก้ปัญหาราคาตกต่ำ แนะเงินแค่ 4 หมื่นล้านบาทอุ้มราคายางกิโลฯ ละ 100 บาทจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ ยันไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ขณะเดียวกัน ฉะ “นายกฯ ปู” ตระบัดสัตย์ ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟ ค่าทางด่วน ทำค่าครองชีพพุ่ง เอื้อ ปตท.และภาคอุตสาหกรรม
นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะชุมนุมกันทั้งประเทศในวันที่ 3 ก.ย.นี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลราคายางพารา ตนคิดว่ารัฐบาลต้องยอมรับความจริงและแก้ไขปัญหา รัฐบาลไม่ควรส่งสัญญาณที่ผิดโดยพยายามกล่าวหาว่าผู้ที่ชุมนุมไม่ใช่ชาวบ้านอย่างแท้จริง และส่งสัญญาณใช้ความรุนแรงแก่ผู้ที่ชุมนุมมาตลอด เพราะจะเป็นการเติมฟืนเข้ากองไฟ
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลใส่ร้ายประชาชน คือ การบริหารงานแบบพรรคเพื่อไทย ดังนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาดูรากฐานของปัญหาที่แท้จริง และตนยืนยันว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน
ส่วนการแก้ไขปัญหาราคายางพารานั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เคยอภิปรายไว้ว่ารัฐบาลสามารถไปเจรจาตกลงประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อดึงราคายางขึ้น และแจ้งเตือนไปยังจีนและญี่ปุ่นที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลทำได้ แต่รัฐบาลไม่ทำ อีกทั้งนายกฯ ยังเข้าใจผิดว่าไทยเป็นผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งที่ไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีผลผลิตยางร้อยละ 33 ของโลก เราจึงสามารถดึงราคาตลาดโลกได้ เพียงแค่จับมือกับอินโดนีเซีย
นายชวนนท์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำตามข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่ขอให้ดูแลราคายางที่กิโลกรัมละ 100 บาท และชดเชยให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 42,900 ล้านบาท เมื่อเทียบตัวเลขจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอ แต่รัฐบาลนำเงินไปถลุงกับโครงการรับจำนำข้าว ปล่อยให้มีการโกงและปล่อยให้มีการสวมสิทธิจนเงินหมดประเทศ นี่คือปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อนำตัวเลขการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลแถลงไว้ อยู่ที่ 160,000 ล้านบาท ซึ่งชาวนาได้เงินเต็มๆ 110,000 ล้านบาท อีก 50,000 ล้านบาท สูญหายไปจากโครงการรับจำนำข้าวก็มาจากการสวมสิทธิ และการเปิดช่องให้มีการทุจริต
นายชวนนท์ยังกล่าวถึงขึ้นค่าครองชีพว่า ขอให้ประชาชนจดจำไว้ว่าวันนี้ (31 ส.ค.) เป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะได้ใช้ก๊าซราคาเดิมเป็นวันสุดท้าย เพราะก๊าซหุงต้มแอลพีจีจะขึ้นราคาอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ต่อเนื่อง 12 เดือน ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนตามปกติ 1 ถัง จะอยู่ที่ 15 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อปรับขึ้นอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ก็เท่ากับว่าจะแพงขึ้นถังละ 7.50 บาท และเมื่อครบวันที่ 1 ก.ย. 2557 ราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นเป็น 90 บาท หรือประชาชนจะได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาถังละ 400 บาท
“แก๊สภาคครัวเรือนควรกำหนดให้ราคาถูก ส่วนก๊าซในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่รัฐบาลอ้างว่านำเข้ามา ถ้าจะขายแพงไม่มีใครว่า แต่รัฐบาลอ้างว่าไม่เป็นธรรมเพราะอุตสาหกรรมใช้ก๊าซราคาแพงกว่า มันเป็นธรรมหรือไม่ อีกเหตุผลที่ต้องขึ้นราคาคือถ้าไม่ขึ้นเดี๋ยวใช้กันเปลือง ผมก็ไม่รู้ว่าบ้านรัฐมนตรีท่านไหนเปิดก๊าซเล่น ไม่สมเหตุสมผลเลย อีกเหตุผลที่ต้องขึ้นราคา คือถ้าไม่ขึ้นก๊าซจะถูกลักลอบไปขายให้ลาวและเมียนมาร์ ซึ่งเป็นเรื่องของ รมว.พลังงานที่ต้องไปจัดการ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาโดยขึ้นราคาให้เท่ากัน แล้วโยนปัญหาให้ประชาชน”
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการขึ้นราคาก๊าซ เพราะต้องการให้ภาคอุตสาหกรรม และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ได้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนมีใจเป็นธรรมพอที่จะไม่ให้ ปตท.ขาดทุน แต่เขาอย่าค้ากำไรเกินควร นี่คือสิ่งที่ตนผิดหวังและเสียใจแทนประชาชนที่นายกรัฐมนตรี ตระบัดสัตย์เรื่องค่าครองชีพ ทั้งนี้ การขึ้นค่าทางด่วน ค่าก๊าซ และค่าไฟนั้น ตนอยากถามนายกรัฐมนตรีรู้สึกอย่างไรที่ประชาชนเดือดร้อนเช่นนี้ และรู้สึกอย่างไรที่สัญญากับประชาชนไว้อีกอย่าง แต่กลับทำอีก
ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาพลังงานของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก ถือว่าวันที่ 1 ก.ย.เป็นวันกะซวกค่าครองชีพแห่งชาติ เพราะนอกจากจะขึ้นค่าแก๊สหุงต้มแล้ว รัฐบาลยังปรับขึ้นราคาค่าทางด่วน และราคาค่าเอฟทีของค่าไฟฟ้าอีกด้วย