xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จับมือมูลนิธิผู้บริโภค ยื่นศาล ปค.ระงับขึ้น LPG ชี้เอื้อ ปตท. มีประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ว.กทม.พร้อมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นศาลปกครองถอนมติ ครม.ปรับราคา LPG ฉะเอื้อ ปตท.ผูกขาด ขัด กม.ไม่ฟังองค์กรคุ้มครองบริโภคตาม รธน. หนุนคงราคาก๊าซครัวเรือน จนกว่าพลังงานเป็นธรรม บี้อุตสหากรรมปิโตรเคมีจ่ายกองทุนน้ำมันเท่าเทียม ปรับค่าผ่านท่อเป็นธรรม กำหนดราคาเนื้อก๊าซเท่ากันเลิก เชื่อขึ้นราคา ปชช.รับได้ ตอก คกก.กิจการพลังงานฯ ไร้อำนาจจัดสรรก๊าซ อ้างต้นทุนผลิตสูงไม่เป็นธรรม มีประโยชน์ทับซ้อน ชี้ไม่ขึ้นราคาไม่กระทบทุกฝ่าย



วันนี้ (29 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมานคร น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวกรวม 5 คน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายชาลี ลอยสูง ผู้ฟ้องคดี 1-5 เข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโบบายพลังงานแห่งชาติ รมว.พลังงาน คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1-5 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติ ครม.วันที่ 13 ส.ค. ที่เห็นชอบให้มีการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ที่ให้ปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาท/กิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กิโลกรัม และเห็นชอบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ทั้งในส่วนของครัวเรือนรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารโดยให้คงราคาขายปลีกภาคครัวเรือน ทั้งในส่วนของภาคเรือนรายได้น้อย และร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร โดยให้คงราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท เรื่อยไปจนกว่าจะมีมติที่ชอบด้วยกฎหมายให้ปรับขึ้นราคา

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดียังได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งระงับการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย.นี้ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี โดยให้สั่งคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาทไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างพลังงานให้ถูกต้องเป็นธรรม

น.ส.สาลีกล่าวว่า เหตุที่ต้องฟ้องคดีเพราะเห็นว่าการปรับขั้นราคาครั้งนี้ขัดกฎหมาย ขั้นตอนการดำเนินการรัฐบาลไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 ซึ่งบ้านเราโครงสร้างพลังงานไม่เป็นธรรม ซึ่งหากมีการปฏิบัติใน 3 เรื่องคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ 1. รัฐบาลจะต้องกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จ่ายสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเช่นเดียวกับอตุสาหกรรมอื่นในอัตรา12.55 บาท/กก. ไม่ใช่จ่ายเพียง กก.ละ 1 บาท เพราะเหตุที่รัฐอ้างว่าต้องปรับขึ้นราคาก๊าซ เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีฐานะติดลบสุทธิประมาณ 4,628 ล้านบาท แต่ถ้าให้อุตสหากรรมปิโตรเคมี จ่ายในอัตราเท่ากับกลุ่มอุตสากรรมอื่น จะทำให้ปีหน้ามีเงินในกองทุนน้ำมัน 3 หมื่นล้านโดยไม่ต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ

2. ปรับอัตราค่าผ่านท่อให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบัน คิดราคาแพงเกินความเป็นจริง 3. กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเท่ากัน ไม่ควรมีรายใดได้อภิสิทธิ์ เหนือกว่า เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายมีการเลือกปฏิบัติ โดยมีการจำหน่ายก๊าซจากอ่าวไทยให้แก่โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในอัตรา 220 บาท/ล้านบีทียู ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และ ผู้บริโภคต้องซื้อก๊าซจากพม่าในราคา 274 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าราคาเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยประมาณร้อยละ 25 โดยหากที่สุดแล้วรัฐทำโครงสร้างราคาเนื้อก๊าซในทุกกิจการพลังงานให้เท่ากันแล้วตอนนั้นจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ ก็เชื่อว่าประชาชนสามารถยอมรับได้

ด้าน น.ส.รสนามองว่ามติ ครม.ที่ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติไม่มีอำนาจที่จะไปจัดสรรก๊าซในประเทศจากโรงแยกให้กับภาคครัวเรือนและอุตสากรรมภาคปิโตรเคมีใช้ก่อน และเมื่อมีมติก็ทำให้มตินั้นไม่ได้ และเมื่อมตินั้นถูกเสนอ ครม.แล้ว ครม.เห็นชอบจึงทำให้มติครม.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เพราะคณะกรรมการฯไม่มีอำนาจ อีกทั้งมติครม.ดังกล่าวยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพียงเจ้าเดียวรายเดียว เมื่อบมจ.ปต แยกได้ก๊าซ LPG แล้วก็จะขายเป็นวัตถุดิบของปิโตรเคมีให้แก่บริษัทในเครือ ซึ่งอุตสหากรรมปิโตรเคมีอื่นไม่ได้อยู่ในแนวท่อก๊าซเดียวกับ ปตท. มติ ครม.จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84(5) ที่กำหนดให้การประกอบกิจการต้องมีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมและคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การอ้างต้นทุนโรงแยกก๊าซที่ 24.82 บาท/กิโลกรัมตามมติ ครม.เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม เพราะราคาก๊าซที่ได้จากแหล่งสัมปทานก๊าซธรรมชาติสิริกิติ์ เดือน ม.ค.-พ.ค. 56 อยู่ 8-9 บาท/กก.ดังนั้นราคาต้นทุนการผลิตจึงไม่ควรจะถึง กก.ละ 24.82 บาท

“ต้นทุนโรงแยกก๊าซที่ 24.82 บาท/กิโลกรัมที่ ครม.มีมตินั้นเป็นไปตามผลการศึกษาที่นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ว่าจ้างบริษัท เอ็นไวร์ เทค คอนซัลแต้นท์ จำกัด และบริษัท ดี ลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศที่ปรึกษาจำกัด ทำการศึกษา ซึ่งนายสุเทพเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติโดยตำแหน่ง แต่ก็ยังมีชื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระ ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ข้อเสนอการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อ ครม.จึงย่อมมีประโยชน์ทับซ้อน จึงจำเป็นที่จะต้องฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอน” น.ส.รสนากล่าว

ทั้งนี้ น.ส.รสนายังกล่าวด้วยว่า หากศาลมีคำสั่งระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซในวันที่ 1 ก.ย.นี้ไว้ก่อนก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารของรัฐ เพราะการปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนไม่มีผลกระทบ เนื่องจากผู้ค้า ผู้จำหน่ายต้นทุนที่ซื้อหรือกำไร ก็เท่าเดิม ขณะที่ผู้ผลิต LPG ในประเทศส่วนใหญ่ คือ บริษัท ปตท.จำกัด และบริษัทในเครือยังคงได้รับเงินชดเชยจากองทุนน้ำมันอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ชดเชยก็มีกำไรจากธุรกิจก๊าซทั้งในส่วนการสำรวจ ผลิต จำหน่าย เป็นแสนล้านบาทต่อปี ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ไม่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพราะขณะนี้ก็ทราบว่า การไฟฟ้าก็จ่อที่จะขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก 70% พลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติครม.ที่ขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือนและขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือนในวันที่ 1 ก.ย.นี้นั้น พนักงานคดีได้แจ้งไปยังทนายความของผู้ฟ้องคดีว่าศาลนัดไต่สวนคดีในวันที่ 10 ก.ย.เวลา 09.30 น.










กำลังโหลดความคิดเห็น