วิปค้านอภิปรายซัด รบ.ทำราคายางดิ่งเหว ติงนายกฯ ข้าวไม่ยึดตลาดโลก ยางดันอ้าง เมินพบ ส.ส. จี้เลิกทัวร์นอก ซัดค่าครองชีพพุ่งหนี้สิ้น ปชช.เพิ่ม “ปู” ท่องบทปัดเลือกปฏิบัติ โยน รมต.แจงยาง อ้างบินบ่อยเพื่อการค้า “สุเทพ” บี้นายกฯ ฟังหลังลุกหนี จี้ แก้ยางเองตั้งเป้าให้ชัด ย้อน “เต้น” โม้ กก.ละ 120 ซัดกระจอก แนะคุยอินโดฯ แทนไม่แข่งราคายาง และเพิ่มราคาผู้ซื้อ เชื่อม็อบรับได้ ปัดเป็นผู้ชักใย “ปู” อ้างภารกิจชิ่งหนี “เต้น” โบ้ย ครม.อนุมัติ กก.120
วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาญัตติขอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาเรื่องพืชสวนการเกษตรราคาตกต่ำ และค่าครองชีพราคาแพง โดยมีการรวมญัตติทำนองเดียวกันทั้ง 12 เรื่องนำมาพิจารณารวมกัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ผู้เสนอญัตติฯ อภิปรายว่า เนื่องจาก รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้สินค้าเกษตรจำนวนมากราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ที่ทำให้เกษตรกรเกิดผลประทบจำนวนมาก การใช้เงินแทรกแซงและมาตรการช่วยเหลือก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกษตรกรต้องการจากราคายาง 120 บาทต่อกิโลฯ ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์ทำไว้ แต่รัฐบาลนี้ทำราคา ตกเป็น 60 บาทจะแก้ไขอย่างไร
ขณะที่นายกฯ อ้างเรื่องราคาตลาดโลก แต่เมื่อดูเรื่องข้าว รัฐบาลสามารถไปชาวเหลือทั้งที่ราคาต่ำกว่าตลาดโลก ขณะที่ยางพาราไม่สามารถช่วยเหลือให้สูงกว่าตลาดโลก กลับทำไมช่วยไม่ได้ อยากถามว่าสองมาตรฐานหรือไม่ ก่อนหน้านี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอเข้าพบนายกฯ ทั้งที่ทำเนียบและรัฐสภาก็ไม่ได้เข้าพบ โดยครั้งนี้หวังว่าการเอาเรื่องนี้มาพูดในสภาฯให้นายกฯ รับทราบและอยากฟังวิสัยทัศน์การแก้ปัญหา และวันนี้วันนี้กลับไม่เห็นนายกฯ จึงอยากบอกว่าให้เลิกไปทัวร์นอกเพราะยิ่งไปราคากลับตกต่ำลง
สำหรับค่าครองชีพขึ้นไม่หยุด อาทิ ไข่ไก่แพงที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทย ตกฟองละ 5 บาท ขณะที่ในห้างสรรพสินตกราคาไข่ไก่ 7 บาท ก๊าซหุงต้มจะขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ตกกิโลฯ ละ 6 บาท เฉลี่ยถังละ 390 บาท หรือขึ้นร้อยละ 30 ในเวลา 12 เดือนข้างหน้า ค่าไฟขึ้นเป็นหน่วย 54 หรือค่าเอฟที คิดเป็นร้อยละ 15 ค่าทางด่วนขึ้นราคา 5-10 บาท หรือร้อยละ 12 จึงอยากบอกว่าประชาชนและเกษตรกรรายได้ไม่พอกับรายจ่าย และจะส่งผลให้พวกเขามีหนี้สินครัวเรือนมากขึ้น เมื่อดูจากข้อมูลแบงค์ชาติ ในปี 53 พบว่าหนี้สินประชาชนในสถาบันการเงิน มีจำนวน 6.37 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 56 กลับมีหนี้ 8.97 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้ชาวนาจาก 103,000 บาทต่อครัวเรือน โดยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 110,000 บาทต่อครัวเรือน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นขอชี้แจงก่อน เนื่องจากติดภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยชี้แจงว่าเป็นการดีที่สภามีการพูดคุยแก้ปัญหาราคาสินค้าปัญหาเกษตรกร รัฐบาลยินดีที่จะรับฟังปัญหา ไม่เคยเลือกปฏิบัติ ส่วนเรื่องข้าวก็อาจจะแก้ไขวิธีหนึ่ง เรื่องยางก็มีหลายวิธีแก้ แต่เราจะเร่งรับฟังและพูดคุยเกษตรกรสวนยาง และข้อแนะนำสมาชิกหลายอันที่ถามมาขออนุญาตให้รัฐมนตรีชี้แจง ส่วนเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ หลายคนอาจจะมองการเดินทางไปผูกกับการส่งออก แต่การเดินทางไปของตนมีวัตถุประสงค์สร้างความสัมพันธไมตรี หลายประเทศเราแทบไม่มีการติดต่อเลย เป็นประตูเปิดการค้าขาย ตัวเลขการส่งออกค่อยๆ ตามมาแต่ไม่ใช่ตามมาทันที บางอย่างมีอุปสรรคปัญหาการค้า ปัญหาภาษีต่างๆ บางประเทศไปเพื่อเปิดความสัมพันธ์ให้กับเอกชน จากนั้นก็ให้มีเวทีกลไกลคุยกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เอกชนต่อเอกชน และจำนวนนักลงทุนที่สนใจการลงทุนก็มีมากขึ้น การท่องเที่ยวก็เติบโต การส่งออกที่ลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจผันผวนตลาดโลกลดลง
จากนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ รีบลุกขึ้นอภิปรายเมื่อเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำท่าจะลุกออกจากห้องประชุม โดยกล่าวว่าขอให้นายกฯ อยู่ฟังสัก 2 นาที ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนยกมือค้านให้คนเสนอญัตติเป็นคนพูด แต่นายสุเทพกล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมลงชื่อในการเสนอญัตติ และไม่ต้องกังวลว่าตนจะตำหนินายกฯ จึงทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยอมกลับมานั่งฟังอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายสุเทพกล่าวว่า ตนอยากให้นายกฯ มาแก้ปัญหาราคายางพาราด้วยตนเอง เพราะได้มอบหมายรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ มาแก้ไม่ได้ผล เพราะปัญหาหมักหมมมา 2 ปีแล้ว ถ้าจะตอบเหมือนที่พูดว่าต้องใช้เวลา ต้องมีคำตอบว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ 2 ปีหรืออย่างไร เพราะก็จะหมดวาระรัฐบาลของท่าน เรื่องยางพารา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยมาแถลงในสภาประกาศว่าจะทำให้ยางพาราขายได้กิโลกรัมละ 120 บาท เมื่อนายกฯมอบหมายให้รับผิดชอบเท่ากับเป็นการพูดแทนรัฐบาล ก็ต้องยอมรับตัวเลขนี้และต้องพยายามทำตัวเลขนี้ให้ได้ ส่วนที่รัฐบาลแถลงว่าที่เป็นเรื่องตลาดโลก เศรษฐกิจโลก และแทรกแซงไม่ได้ เป็นการทำลายน้ำใจความหวังของชาวสวนยาง ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคายาง ขายได้กิโลกรัมละ 37-39 บาท ถ้ารัฐบาลตอบเหมือนรัฐบาลชุดนี้ เกษตรกรก็ย่อยยับ แต่เราเข้าไปแก้ปัญหา ให้กลไกตลาดในประเทศดำเนินไปภายใต้การกำกับของรัฐบาล
“นายกฯ ต้องลงมาประชุมกับพ่อค้า ผู้ส่งออก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไม่ได้คิดหาเศษหาเลยจากการค้ายาง เพราะถ้านายกฯพูดทุกคนคงเชื่อ แต่ถ้านายณัฐวุฒิพูดคงไม่มีใครเชื่อ และ นายกฯต้องตั้งราคาเป้าหมายว่าจะให้ขายได้ราคาเท่าไหร่ ถ้าไม่ตั้ง 120 บาท ก็อาจจะบอกให้ขายได้ 110 หรือ 105 บาท ก็ประกาศมา และประกาศด้วยว่าใช้เวลากี่เดือน เช่น วันที่ 1 ม.ค. 57 รัฐบาลจะให้เกษตรกรมีรายได้ 110 บาทต่อกิโล ระหว่างนี้รัฐบาลก็จ่ายชดเชยส่วนต่าง จากนั้นนายกฯก็ไปทำสิ่งที่ถนัดคือเดินทางไปต่างประเทศ ไปพบประธานาธิบดีอินโดนีเซียด้วยตนเอง เพราะการส่งนายณัฐวุฒิไปไม่ได้พบหรอก มันกระจอกเกินไป” นายสุเทพกล่าว
นายสุเทพกล่าวว่า ที่นายกฯ ต้องไปอินโดนีเซียเพราะมีสองประเทศเท่านั้นที่ผลิตยางมากที่สุดในโลก ถ้าจับมือกับอินโดฯ ได้ก็จะไม่แข่งราคากันเอง นอกจากนี้นายกฯ ต้องเดินทางไปบอกประเทศที่รับซื้อยางพารามากที่สุด เช่น จีน ญี่ปุ่น ว่าต่อไปจะขึ้นราคา เพราะราคาเก่าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เมื่อถึงเวลาก็ปรับตามที่เจรจาไว้ ถือเป็นการให้โอกาสไม่เสียไมตรีต่อกันด้วย หากนายกฯ ประกาศตามที่เสนอ ปัญหาที่ชุมนุมก็จะคลี่คลาย
“นอกจากนี้อย่าไปเชื่อลิ่วล้อที่รายงานว่าผมอยู่เบื้องหลังการชุมนุม ถ้าผมจะร่วมมือจะประกาศให้นายกฯ รู้และเดินหน้าไม่ทำตัวเป็นอีแอบขอให้สบายใจได้ วันนี้เขาเดือดร้อนจริงๆ เขารอมา2 ปีแล้ว และทนรอไม่ได้ ขอร้องอย่าตอบเหมือนสักครูว่าใช้เวลา เราให้เวลา มา2 ปีแล้ว คงไม่รอต่อไป” นายสุเทพกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายสุเทพอภิปราย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้พูดแทรกขอให้นายกฯ ชี้แจงก่อนเพราะมีภารกิจสำคัญที่ทำเนียบ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวว่า ขออนุญาตพวกท่านเพราะมี ส.ส.จากสหรัฐอเมริกามาขอเข้าพบที่ทำเนียบ ส่วนปัญหาดังกล่าวยินดีจะรับฟังและขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงต่อไป และได้รีบออกจากห้องประชุมทันที
ด้านนายณัฐวุฒิได้ขอใช้สิทธิ์พาดพิงชี้แจงว่า การประกาศให้ราคายางพารา 120 บาท นั้นมีที่มาที่ไปก่อนที่ตนมารับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ในปลายปี 54 ชาวสวนยางปิดถนนที่สงขลา มีตัวแทนไปพบปะหารือเจรจา เรียกร้องให้มีมาตรการซื้อยางราคา120 บาท มีการนำเข้าไปหารือคระกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และได้เห็นชอบนำเข้าครม.เพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นช่วงมาเป็นรัฐมนตรีและเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก โดยครม.ก็เห็นชอบตามข้อเสนอ และอนุมัติงบ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อยางนำตลาดกิโลกรัมละ 120 บาท ตามข้อเรียกร้อง เมื่อออกมาจากห้องประชุม ครม. สื่อได้ซักถามตนก็ตอบและอธิบายความ จึงทำให้ดูเหมือนว่าตนประกาศจะทำราคายางให้ได้กิโลกรัมละ 120 บาท
“ส่วนกรณีที่นายสุเทพกล่าวหาว่าผมกระจอกนั้น ผมไม่ติดใจเพราะคนที่พูดวาจาแบบนั้นเป็นผู้กระจอกกว่า” นายณัฐวุฒิกล่าว
จากนั้นที่ประชุมเริ่มเข้าสู่การพิจารณาญัตติ โดยสมาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย