xs
xsm
sm
md
lg

1 ก.ย. “วันกะซวกค่าครองชีพ” ปชป. จี้ “รัฐบาลปู” หยุดใช้ปากบริหารเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะทำงานเศรษฐกิจ ปชป.แถลงข่าวปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ยกวันนี้กะซวกค่าครองชีพของชาติ ตกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาล ร้องหยุดพฤติกรรมใช้ปากบริหารเศรษฐกิจ เลิกบอกประชาชนคิดไปเองว่าของแพง ชี้แก้ปัญหาหน่อมแน้ม ออกนโยบายกระทืบคนจน วอนชะลอขึ้นค่าแก๊สหุงต้ม แนะถอนเงินกู้ 3.5 แสนล้าน-2 ล้านล้านออก ทำงบกลางปีทดแทน เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน



วันนี้ (1 ก.ย.) คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายสรรเสริญ สมะลาภา นายชนินทร์ รุ่งแสง และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ร่วมกันแถลงเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพ โดยนายสรรเสริญกล่าวว่า ตัวเลขเศรษกิจติดลบหมด มีเพียงแค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ไม่ติดลบ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุด หมายถึงว่าอีก 1-2 เดือนอาจลงต่ำกว่านี้ เพราะมีแรงส่งด้านลบสูงมาก ทั้งการบริโภค ลงทุน และการส่งออก เนื่องจากประชาชนชะลอการบริโภคเพราะหนี้ครัวเรือนมาก ในขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการแก้ไข มีแค่การชะลอการจ่ายเงินต้นและลดดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ให้กับหนี้ดีของ ธ.ก.ส.แต่ไม่แก้หนี้นอกระบบ เพราะฉะนั้นการบริโภคที่ซบเซาจะดำเนินต่อไป อีกทั้งงบลงทุนไม่ออกเพราะรัฐบาลดื้อดึงในเรื่องเงินกู้ 3.5 แสนล้านไม่ใส่ในงบประมาณ มีปัญหาด้านกฎหมาย ทำให้ใช้เงินส่วนนี้ไม่ได้

นอกจากนี้ การส่งออกทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมนั้นแม้ว่าอุตสาหกรรมจะพอไปได้ แต่ภาคเกษตรติดลบ โดยเหตุผลหลักมาจากการส่งออกข้าวเพราะความผิดพลาดในเรื่องการจำนำข้าว ถ้ารัฐบาลยังไม่เลิกนโยบายนี้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขปีนี้เศรษฐกิจจะลงไปเรื่อย พึ่งได้แค่อย่างเดียวคือส่งออกอุตสาหกรรม แต่จีนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจจะกระทบการลงทุนและการส่งออกไทยไปจีน ลดคิวอีของสหรัฐฯ หลายคนมองเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น แต่มีผลกระทบทางอ้อมเพราะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไทยติดลบเงินไหลกลับไป แต่ถ้าสหรัฐฯ ฟื้นตัวก็ถือว่ารัฐบาลโชคดี

นายสรรเสริญกล่าวว่า ขอเรียกร้องรัฐบาลหยุดพฤติกรรมการใช้ปากบริหารเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลมีแต่ข้ออ้างและข้อโต้แย้ง ต้องหยุดใช้ปากบริหารเศรษฐกิจแล้วหันมาทำงาน ไม่ใช่บอกว่าของแพงเพราะประชาชนคิดไปเอง เศรษฐกิจไม่ดีเพราะมีวันหยุดเยอะ หนี้ครัวเรือนสูงเพราะแบงก์ชาติใช้นิยามคำนวณผิด รัฐบาลต้องหยุดเรื่องเหล่านี้ เพราะเป็นการบริหารที่หน่อมแน้มและมีแต่การสร้างภาพ ความมั่นใจที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง พูดนั้นไม่ได้มาจากการสร้างภาพแต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติ

1. ของแพง หลังจากปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อนมาร่วมปี สร้างวาทกรรมว่าแพงเพราะประชาชนคิดไปเอง แต่วันที่ 12 ก.ค. 56 รัฐบาลก็จัดเวิร์กชอปแก้ปัญหาของแพงออก 6 มาตรการ แสดงว่ายอมรับแล้วว่าสินค้าแพงจริง โดยบอกจะดูต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมกับจะประชุมต่อเนื่องทุกเดือน อยากถามว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลไม่มีความจริงใจเอาแต่สร้างภาพอย่างเดียวควรเลิกพูดดูแลต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำได้แล้วเพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ สินค้าด้านอาหารแพงขึ้นประมาณ ร้อยละ7

2. หลังมีข่าวว่าเศรษฐกิจหดตัวรัฐบาลก็กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีมติ ครม. 6 ส.ค. 56 สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เรียกได้อย่างไรเพราะมาตรการที่ออกมาเป็นการช่วยเหลือรายภาคและขนาดการช่วยเหลือน้อยมาก เช่น สนับสนุนการจัดสัมมนาในประเทศ ให้นำค่าใช้จ่ายไปคำนวณหักภาษีเงินได้ สนับสนุนเครื่องไฟฟ้าประหยัดพลังจัดมหกรรม

“สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยเหลือรายภาคที่ต้องเรียกว่าหน่อมแน้ม มีเพียงเรื่องเดียวที่เข้าข่ายคือการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ปัญหาปัจจุบันคืองบลงทุนไม่ออก การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นมาตรการที่เหมาะสมแต่ถ้ารัฐบาลทำตามที่พรรคประชาธิปัตย์พูดตั้งแต่แรกว่าให้นำเงินกู้ 3.5 แสนล้านไปใส่ในงบประมาณปกติ ป้านนี้งบลงทุนออกมาแล้วและเศรษฐกิจคงไม่ซบเซาขนาดนี้ ถ้าไม่มีการแก้ไขเศรษฐกิจจะดิ่งเหวลงไปเรื่อยๆ จึงขอแนะนำให้ถอน พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านมาใส่ในงบประมาณปกติ คือจัดในงบกลางปีซึ่งเป็นช่องทางตามปกติ”

ด้านนายอรรถวิชช์กล่าวถึงราคาสินค้า ค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า เป็นยุคหนี้พุ่งของแพง โดยวันนี้เป็นวันโชคร้ายที่สินค้าจะขึ้นราคา คือ แก๊สหุงต้มกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ถังแก๊ส 15 กิโลกรัมขึ้นเดือนละ 7.50 บาท เป็นเวลา 12 เดือน ทำให้ราคาจะไปอยู่ที่ 380 บาท จากราคา 290 บาทในปัจจุบัน มีการขึ้นค่าเอฟทีไฟหน่วยละ 7 สตางค์ ครอบครัวคนชั้นกลางมีตู้เย็น เปิดทีวี แอร์ ปกติใช้ประมาณ 700 หน่วยต่อเดือน จะต้องจ่ายเพิ่ม 50 บาทต่อเดือนจากการปรับค่าเอฟทีดังกล่าว ส่วนการขึ้นค่าทางด่วน 5-10 บาทนั้น สี่ล้อจาก 45 บาท เป็น 50 บาท

ทั้งนี้ นี่คือการกระชากค่าครองชีพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะที่หนี้พุ่งโดยแบงก์ชาติแถลงไปแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากนโยบายผิดพลาดในเรื่องรถยนต์คันแรก 1 ล้านคันใช้ภาษี 9 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ในขณะที่หนี้สาธารณะปี 2554 อยู่ที่ 4.245 ล้านล้านบาท ล่าสุดตัวเลขจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 อยู่ที่ 5.224 ล้านล้านบาท เท่ากับหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมหนี้เงินกู้ 2 ล้านล้าน

“ยิ่งลักษณ์อยู่มา 2 ปี กระชากหนี้ไปอีก 1 ล้านล้านบาท จึงเป็นยุคหนี้พุ่งของแพง แอลพีจีขึ้น ทางด่วนขึ้น ค่าไฟขึ้น ขอวิงวอนในเรื่องค่าครองชีพยังแก้ตัวได้ อย่าซ้ำเติมประชาชนโดยอ้างกลไกตลาด เพราะแตกต่างจากที่เคยหาเสียงเอาไว้ ขอให้ทบทวนนโยบายที่ไปซ้ำเติมให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น หนี้คัวเรือนสูงถึงร้อยละ 78 ของจีดีพีเท่ากับมาจ่อคอหอยแล้ว ถ้าขึ้นถึงร้อยละ 80 จะแย่หนักเพราะการบริโภคภายในจะไม่เกิด จึงเหลือเพียงการกระตุ้นรายจ่ายจากภาครัฐที่ต้องเร่งรัดโดยเร็วจึงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ที่เศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลบริหารงานไม่เป็น” นายอรรถวิชช์กล่าว

ขณะที่นายชนินทร์กล่าวว่า วันนี้เป็นวันกระซวกค่าครองชีพของชาติและเป็นการยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ และอยู่ในเศรษฐกิจขาลง ค่าครองชีพขาขึ้น ประชาชนเดือดร้อน พวกตนต้องการให้รัฐบาลหันมาสนใจการแก้ปัญหาประชาชนอย่างจริงจัง แต่รัฐบาลดื้อด้าน ลอยตัวอยู่ตลอดเวลาในการแก้ปัญหาประชาชน จนทำให้พรรคต้องทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ติดตามการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่รัฐบาลทั่วถึงเป็นธรรมทั้งการขึ้นแก๊ส ทางด่วน และไฟ ทั้งๆ ที่พรรคท้วงติงและให้คำแนะนำรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้วว่าขอให้ชะลอการขึ้นค่าแก๊สแอลพีจีเพราะจะกระทบประชาชน ทั้งนี้ ตนได้ลงพื้นที่ติดตามข้อมูลราคาสินค้าอย่างแท้จริงแตกต่างจากรัฐบาลที่ฟังจากหน่วยงานต่างๆ หรือลงพื้นที่แบบผักชีโรยหน้าทำให้ไม่ได้ข้อมูลความจริง ทางพรรคพบว่ากรณีที่รัฐบาลอ้างเรื่องผลกระทบเงินเฟ้อ ถึงเวลาต้องคำนวณว่าการขึ้นทางด่วน ไฟ และแก๊ส กระทบเงินเฟ้อน้อยมาก เพราะบางหมวดไม่กระทบประชาชนโดยตรง

นายชนินทร์กล่าวว่า ราคาสินค้าที่ไม่ขึ้นไม่ใช่ความสำเร็จในการดูแลต้นทุนสินค้า แต่เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงต้องขายขาดทุนหรือลดคุณภาพ ปริมาณลง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่ว่าเงินเฟ้อกระทบนิดเดียวประชาชนไม่เดือดร้อน ทั้งนี้ พรรคเคยตั้งคำถามเรื่องการขึ้นราคาแก๊สแอลพีจีหลายครั้งว่าต้นทุนเป็นธรรมที่แท้จริงอยู่ที่ตัวเลขใด และใครได้ประโยชน์ ถ้าบอกว่าเป็นธรรมกัคนใช้น้ำมันเบนซินอย่างไร เพราะยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเท่าเดิมจ่ายค่าน้ำมันเบนซินเท่าเดิม

สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ซื้อแก๊สในราคาเดิมโดยเปิดให้ขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้รับสิทธิ์นั้น ปรากฏว่ามีไม่ถึงครึ่งที่ไปลงทะเบียน เพราะประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลควรทบทวนวิธีช่วยเหลือให้ทั่วถึงก่อน เพราะพ่อค้าแม่ค้าไม่รู้เรื่องการขึ้นทะเบียน ดังนั้น การขึ้นแก๊สแอลพีจีต้องทบทวนหรือชะลอออกไปเพื่อพิจารณาเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในขาลง ไม่ใช่มองข้ามปัญหาประชาชน และขณะนี้ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่ตนเป็นประธานกำลังตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงโครงการที่งบประมาณค้างท่อ เช่น กรณีการซื้อนาฬิกา 75,000 บาท ไม่ได้เกิดจากงบประมาณประจำปี แต่ใช้จากเงินเหลือจ่าย








กำลังโหลดความคิดเห็น