ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการสร้างผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร นอกไปจากความมุ่งมั่นในบทบาทของรัฐวิสาหกิจที่ดูแลกิจการไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า
จึงเป็นแนวทางและบทบาทขององค์กรรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในยุคผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 12 สุนชัย คำนูญเศรษฐ์
ต่อยอดโครงการตามแนวพระราชดำรัส
สุนชัย คำนูญเศรษฐ์ กล่าวถึงโครงการของ กฟผ. ที่ดำเนินการมาแล้วตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ
ส่วนโครงการที่ต่อยอดพัฒนามาจากโครงการในพระราชดำริและประสบผลสำเร็จ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าบ้านคลองเรือ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่ กฟผ. ให้การสนับสนุนผ่านนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ที่มุ่งเน้นประสิทธิผลมากกว่าการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ โดยเน้นการสร้างประโยชน์ให้ชุมชนสังคมและประเทศชาติได้ตระหนักและรู้จักใช้ทุนชุมชนสู่การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จนได้รับรางวัลดีเด่นจากเวที Thailand Energy Awards 2013 ด้านพลังงานทดแทน ประเภท โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวที ASEAN Energy Awards 2013 ด้านโครงการพลังงานหมุนเวียนระดับชุมชน ประเภทโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกป่า กฟผ. ซึ่งดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 เริ่มจากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาส ทรงครองราชย์ปีที่ 50 มาจนถึงปัจจุบัน กฟผ.ดำเนินการปลูกและบำรุงรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง รวมพื้นที่ปลูกป่าทั้งหมดกว่า 4 แสนไร่ หรือประมาณ 80 ล้านต้น สามารถลดภาวะโลกร้อนโดยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12 ล้านตันต่อปี
“ในการดำเนินการดังกล่าว กฟผ. มุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ และหลังจากนี้ ในปี 2557 จะเป็นปีที่โครงการปลูกป่า กฟผ. ครบรอบ 20 ปี ซึ่งมีนโยบายในการปลูกป่าต่อไปอีกโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การปลูกและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องปีละไม่น้อยกว่า 1 ล้านต้นในพื้นที่ทั้งป่าบกและป่าชายเลน”
หนุนโครงการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกองค์กร
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วม พร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อย่างต่อเนื่อง โครงการเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีโครงการที่ได้รับหนังสือรับรองโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทาน 5 โครงการ ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแม่กลอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนแควน้อย โดยโครงการดังกล่าว เป็นการใช้น้ำมาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะไม่มีมลภาวะ และไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จึงมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกด้วย
นอกจากนี้ ยังต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพ ทั้งในด้าน Demand Side คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและระบบส่ง และด้าน Supply Side คือ การรณรงค์ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ โดย กฟผ.สร้างกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ อุปกรณ์ อาคาร และอุปนิสัย เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคที่อยู่อาศัย ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างจิตสำนึกด้านการประหยัดพลังงานแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ตลอดจน กฟผ. ได้สนับสนุนโครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 215 ราย สามารถจ่ายฉลากประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 รวมทั้งสิ้น 21 ชนิด กว่า 236 ล้านฉลาก อาทิ เครื่องซักผ้า เตารีด เตาไมโครเวฟ และเตาไฟฟ้าแบบเหนี่ยวนำ
ชี้พลังงานไทย ต้องพัฒนาให้มีความหลากหลาย
ปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างมีความเสี่ยงด้านพลังงาน เนื่องจากเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากถึงเกือบร้อยละ 70 จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าให้มีความหลากหลาย เพื่อสร้างความมั่นคง และเสถียรภาพทางด้านพลังงานไฟฟ้า
ผู้ว่าการ กฟผ. บอกว่าแนวนโยบายเร่งด่วนของ กฟผ. คือจะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ควบคู่กับการพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยให้มีการผลิตพลังงานทดแทนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นผ่านโครงการส่งเสริมชุมชนลงทุนพลังงานทดแทน ได้แก่ ต้นแบบการเรียนรู้ Biogas การพัฒนาชุมชนต้นแบบการจัดการพลังงาน (Low Carbon Model Town) ตลอดจนการผลักดันข้อกฎหมายเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลพลังงานทดแทน เพื่อให้คนไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพในต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน
พร้อมกันนี้จะต้องส่งเสริมพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาล โดย กฟผ. ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีงานวิจัยพัฒนา และ เป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ในเรื่องของพลังงานทดแทน พยายามผลักดันโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เกิดจากงานวิจัยให้เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากการหมักหญ้าเนเปียร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีของคนไทย นอกจากนี้ ยังจะเร่งดำเนินการในเรื่องการใช้พลังน้ำแบบหมุนเวียนโดยพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับเครื่องที่ 3-4 จ.นครราชสีมา จำนวน 500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ จ.ชัยภูมิ 800 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เราจะดำเนินการในด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชน และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงการยอมรับของประชาชนเป็นสำคัญ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี และการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงแบบผสมผสาน เช่น ใช้น้ำมันปาล์มของชาวบ้านร่วมกับน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เชื้อเพลิงอัดแท่งมาเผาร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านจะได้รับประโยชน์โดยตรง
“สิ่งหนึ่งที่เห็นว่า กฟผ. ควรจะเป็นคือดูแลในเรื่องของพลังงาน สร้างความเชื่อมั่นเรื่องของพลังงาน และต้องเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย และผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย กฟผ. ต้องเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยี ผู้นำในเรื่องประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า กฟผ.เป็นผู้นำเรื่ององค์ความรู้เรื่องการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนำของโลก” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว
แนวนโยบายเร่งด่วนของ กฟผ. คือจะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ควบคู่กับการพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยให้มีการผลิตพลังงานทดแทนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น
เร่งสร้างแหล่งพลังงานทดแทน
การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีคุณภาพ มีราคาที่เหมาะสม กฟผ.ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลพลังงานไฟฟ้า จึงเร่งดำเนินการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า โดยเตรียมความพร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคตที่จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชนรายเล็ก หรือเอสพีพี และรายเล็กมาก หรือวีเอสพีพี ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทพลังงานหมุนเวียน ที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน ASEAN Power Grid (APG) เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี โดย กฟผ. กำลังพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า Main Trunk 500 เควีหลัก เพื่อรองรับ APG ในทุกภาคของประเทศ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ พัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูก สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
สำหรับงบลงทุนของ กฟผ. ในปี 2557 จะอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2556 ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการลงทุนระบบสายส่งไฟฟ้า และปี 2558 ใช้งบ 6.4 หมื่นล้านบาท ปี 2559 ใช้งบ 7.8 หมื่นล้านบาท และปี 2560 ใช้งบ 8.1 หมื่นล้านบาท