xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แบบแผน “พลังงานโลก” กำลังเปลี่ยนแปลงใหญ่ ทำให้ สหรัฐฯ มีต้นทุนถูกลง-แข่งขันได้เปรียบมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - การที่สหรัฐฯและแคนาดาสามารถใช้ประโยชน์จาก “หินน้ำมัน” ขณะที่พลังงานทางเลือกที่สามารถสร้างทดแทนได้ก็กำลังเฟื่องฟู ประกอบกับดีมานด์ความต้องการใช้พลังงานซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นในพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เหล่านี้ทำให้แผนที่ทางด้านพลังงานของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โต นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานและความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมทั้งต่อความพรักพร้อมในการรับมือภาวะโลกร้อนด้วย

รายงานประจำปีของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ที่เผยแพร่ออกมาในวันอังคาร (12 พ.ย.) คาดการณ์ว่า แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลสำรอง โดยเฉพาะทรัพยากรหินน้ำมันในอเมริกาและแคนาดาจะชดเชยแหล่งน้ำมันและก๊าซปัจจุบันที่เริ่มแห้งเหือดลง ส่งผลให้ประเทศที่มีเทคโนโลยีสามารถใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงประเภทนี้ มีสถานการณ์แข่งขันเข้มแข็งขึ้น

ในรายงานล่าสุดฉบับนี้ องค์การระหว่างรัฐบาลทางด้านพลังงาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายในกรอบขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) แห่งนี้ ประเมินราคาเฉลี่ยน้ำมันที่ไม่รวมผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อในปี 2035 ไว้ที่ 128 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับประมาณ 125 ดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ขณะที่สำหรับปีนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ดอลลาร์โดยประมาณ

พวกประเทศกำลังพัฒนานั้นได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นตัวขับเคลื่อนดีมานด์ความต้องการใช้พลังงานในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า

ไออีเอแจงว่า ขณะนี้การบูมของการขุดค้นนำเอาหินน้ำมันและน้ำมันขึ้นมาใช้ในอเมริกาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในตลาดพลังงาน ซึ่งเมื่อประกอบกับการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ในจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ทำให้คาดว่า ตลาดพลังงานโลกจะพลิกโฉมหน้าอย่างใหญ่โตในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้

หนึ่งในผลลัพธ์จากการเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมหินน้ำมันคือ ต้นทุนพลังงานสำหรับบริษัทอเมริกันกำลังลดลง ทำให้ประเทศอื่นกังวลมากขึ้นว่า ผู้เล่นแดนอินทรีกำลังมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มว่า บราซิลจะกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานไฮโดรคาร์บอน ตลอดจนพลังงานที่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้ ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานของไออีเอระบุว่า หลักการมากมายที่เชื่อถือกันมานานนั้น กำลังจะถูกลบทิ้งและเขียนกันใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ก๊าซธรรมชาติในอเมริกาขณะนี้มีราคาเพียง 1 ใน 3 ของราคานำเข้าสู่สหภาพยุโรป (อียู) และ 1 ใน 5 ของราคาในญี่ปุ่น

ทว่าแม้คาดหมายว่าในที่สุดแล้วราคาก๊าซจะปรับตัวอยู่ในระดับเดียวกันเนื่องจากตลาดมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นจากการขยายการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แต่ไออีเอเชื่อว่า ค่าไฟฟ้าในแต่ละประเทศหรือภูมิภาคจะยังคงแตกต่างกันอยู่

ขณะเดียวกัน การที่เอเชียมีความต้องการสินค้าที่ต้องใช้พลังงานในการผลิตสูง มีแนวโน้มผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว

ทั้งนี้ ต้นทุนสัมพัทธ์ของพลังงานอาจมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการผลิตเคมีภัณฑ์ อลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า กระดาษ กระจก และผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่น

ไออีเอทำนายว่า อเมริกาจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในการส่งออกสินค้าที่ใช้พลังงานในการผลิตสูงออกสู่ตลาดโลก และนี่คือเครื่องบ่งชี้ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่างราคาพลังงานที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ กับทิศทางแนวโน้มของอุตสาหกรรมแห่งสินค้าเหล่านี้

ในทางกลับกัน อียูและญี่ปุ่นจะมีส่วนแบ่งการส่งออกลดฮวบลงรวมกันถึงราว 1 ใน 3 จากส่วนแบ่งปัจจุบัน

รายงานของไออีเอเสนอแนะว่า ประเทศต่างๆ สามารถที่จะลดปัจจัยต้นทุนพลังงานไม่พึงประสงค์ได้ ด้วยการส่งเสริมประสิทธิภาพในตลอดทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจของพวกตน ขณะเดียวกันการขยายการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะสามารถขจัดความเชื่อมโยงระหว่างราคาส่งออกก๊าซกับราคาน้ำมันได้

ไออีเอซึ่งเป็นองค์การที่จัดทำข้อมูลและคำแนะนำให้แก่ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าต่างๆ 34 ชาติ ยังบอกอีกว่า ขณะที่แผนที่พลังงานด้านอุปทานกำลังเปลี่ยนแปลงจากการบูมของหินน้ำมันที่ทำให้อเมริกามีแนวโน้มสามารถพึ่งพิงตนเองด้านพลังงานได้ใน 3 ทศวรรษข้างหน้านั้น ด้านอุปสงค์ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกันโดยที่ศูนย์กลางแรงดึงดูดเคลื่อนไปอยู่ที่พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ที่ช่วยกันผลักดันให้การใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1 ใน 3

อีกไม่นานจีนจะแทนที่อเมริกาในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันหมายเลข 1 ส่วนอินเดียมีแนวโน้มแย่งตำแหน่งผู้นำเข้าถ่านหินสูงสุดในโลกจากจีนในทศวรรษ 2020

รายงานระบุว่า ภาคพลังงานซึ่งเป็นแหล่งแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกถึงราว 2 ใน 3 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ว่า เป้าหมายของการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะสามารถบรรลุได้หรือไม่

ไออีเอคาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเนื่องมาจากพลังงาน จะยังคงเพิ่มขึ้น 20% เมื่อถึงปี 2035 ถึงแม้มีการใช้ความพยายามต่างๆ เพื่อลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกแล้วก็ตาม และเมื่อเป็นเช่นนี้ โลกก็กำลังเคลื่อนเข้าสู่สภาวะที่อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นในระยะยาวเฉลี่ย 3.6 องศาเซลเซียส สูงกว่าเป้าหมายที่พยายามจะจำกัดเอาไว้ที่ระดับ 2 องศา
กำลังโหลดความคิดเห็น