xs
xsm
sm
md
lg

“ซิมไบโอซิตี้” แนวคิด“เมืองสีเขียว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางภาวะความเป็นเมืองที่นับวันจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลายประเทศมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเพื่อสร้างความอยู่รอด หนึ่งในนั้นคือสวีเดนซึ่งได้สร้างแนวคิดที่มาจากวิสัยทัศน์ และเป็นเสมือนพิมพ์เขียวของเมืองยั่งยืน และเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่น เป็นแนวคิดภายใต้ชื่อว่า ซิมไบโอซิตี้ (SymbioCity) มาจากภาษาอังกฤษว่า Symbiosis in a city หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตภายในเมือง

ไขพิมพ์เขียวซิมไบโอซิตี้
ซิมไบโอซิตี้ หมายถึง การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่แบบองค์รวม คำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ของความเป็นเมือง อาทิ ระบบผังเมือง สถาปัตยกรรมของอาคารสถานที่ ตั้งแต่บ้านเรือน ที่ทำงาน ถึงโรงงานอุตสาหกรรม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง รวมทั้งการจัดการของเสีย เช่น ขยะหรือน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ เช่น บูรณาการการใช้ที่ดินร่วมกับระบบคมนาคม ช่วยลดความต้องการการใช้ยานพาหนะ ส่งผลให้ช่วยลดการใช้พลังงาน และลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

องค์ประกอบของการบริหารจัดการเมืองแบบซิมไบโอซิตี้เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ดังนี้
การจัดการผังเมือง : ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ มีระบบผังเมืองดี กำหนดเขตที่อยู่อาศัย เขตธุรกิจ แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีแบบแผน รวมทั้งสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ดี
สถาปัตยกรรม : มีการออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียวหรืออาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง คือในขั้นตอนการก่อสร้างจะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด ในขั้นตอนการใช้งานหรืออยู่อาศัยก็จัดให้มีการจัดการด้านพลังงานและการกำจัดของเสียที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
พลังงาน : ส่งเสริมการสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าด้านพลังงาน อาทิ นำพลังงานความร้อนส่วนเกินจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมาผลิตไฟฟ้า แปลงขยะให้เป็นพลังงาน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อีกทั้งโรงงานที่ออกแบบเชื่อมโยงระบบความร้อนส่วนเกินจากโรงงานไปยังอาคารพลังงานของเทศบาลเมืองหรือรัฐบาลท้องถิ่นสามารถทำรายได้จากการขายพลังงานได้ด้วย
การขนส่งและยานพาหนะ : ระบบการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก ปลอดภัยและประหยัดเงิน ด้วยการวางแผนผังเมืองให้มีเส้นทางเดินเท้า จักรยาน และรถประจำทางเพื่อลดรถยนต์ส่วนบุคคล สร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการวางนโยบายหรือออกกฎหมาย เช่น จำกัดเขตการใช้รถส่วนบุคคล
การประปาและสุขอนามัย : พัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำที่สามารถแปลงน้ำเสียให้เป็นน้ำดื่มได้ รวมทั้งขยะที่ย่อยสลายได้มาผลิตก๊าซชีวภาพ ทำเชื้อเพลิง เครื่องทำความร้อน หรือผลิตไฟฟ้า
การจัดการขยะ: อุตสาหกรรมด้านการบำบัดของเสีย และการรีไซเคิลเป็นหัวใจสำคัญของซิมไบโอซิตี้ เพราะช่วยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือประหยัดทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบในการผลิต ประหยัดพลังงานและเงิน และการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพยังส่งผลดีในด้านสุขอนามัย
การสื่อสาร : การแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วนต่างๆ อาทิ เทศบาล องค์กรสาธารณะ มหาวิทยาลัย บริษัท และสถาบันต่างๆ จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ความรู้และข้อมูลที่ได้จากการสื่อสารระหว่างกันจะช่วยในการตัดสินใจดำเนินงาน อีกทั้งระบบการสื่อสารที่ดีช่วยลดการเดินทาง ประหยัดไฟฟ้า และประหยัดค่าใช้จ่าย
การริเริ่มของสวีเดน และการดำเนินงานโดยภาคธุรกิจ ความสำเร็จของซิมไบโอซิตี้ เป็นการร่วมกันทำงานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งองค์กรในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนด้วย แต่ละภาคส่วนจะทำหน้าที่ของตนและประสานความร่วมมือกับส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ อาทิ ภาครัฐดำเนินการในส่วนของนโยบายที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรม เช่น ลดภาษีสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด จัดเก็บภาษีรถติดจากรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าในเมือง หรือผู้ผลิตและพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจะได้รับ Green Certificate ซึ่งนำไปขายได้ เป็นต้น ขณะเดียวกัน บุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็สามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนตามบทบาทหน้าที่ของตนเองได้เช่นกัน อาทิ นักออกแบบผลิตภัณฑ์รวมตัวกันทำโครงการออกแบบและพัฒนาเครื่องใช้ในบ้านเพื่อจุดประกายหรือกระตุ้นให้คนทั่วไปสนใจในการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น
ซิมไบโอซิตี้ จึงไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังทำให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหลักการของแนวคิดนี้สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับเมืองอื่นๆ ได้ตามบริบทของแต่ละเมือง

ผช.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ซิมไบโอซิตี้เป็นความคิดเชิงบูรณาการ เป็นการมองภาพรวมมากกว่าแยกส่วน ในหลักการคิดพยายามทำให้เห็นถึงการเชื่อมโยงหลายเรื่องเข้าด้วยกัน ที่โดดเด่นก็คือ สวีเดนใช้กลุ่มการค้ามาเป็นตัวผลักดัน แล้วอาจเป็นกลยุทธ์ เพราะเรามักจะคิดว่าภาครัฐเป็นคนดำเนินการจัดการดังที่เห็นในหลายๆ ประเทศ
โดยนำเงินภาษีมาทำประโยชน์ แต่สวีเดนคิดต่างออกไป เน้นเรื่องการลงทุน พยายามใช้แรงผลักดันทางเศรษฐกิจมากระตุ้น สร้างกลุ่มบริษัท ให้ Trademark กับบริษัทที่เข้าร่วม คือทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนทางการลงทุนได้ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนเป็นคนทำ ไม่ใช่ภาครัฐเป็นคนทำ ทำให้ตอบโจทย์ 2 ด้านคือกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คือโยงสองสิ่งเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีคิด holistic วิธีหนึ่ง”

ที่มา :สื่อพลัง บมจ.ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น