xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นชี้ “โลกร้อน” ส่อแววทำคนอดอยากจนต้อง “ละทิ้งบ้าน” - ต่อสู้แย่งชิงอาหารและน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติระบุในรายงานว่าด้วยผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงฉบับสำคัญที่นำออกเผยแพร่วันนี้ (31 มี.ค.) ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง สภาวะอดอยาก น้ำท่วม และการอพยพย้ายถิ่นฐานในศตวรรษนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและต่อระบบนิเวศน์เป็นมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ ทั้งยังทำให้ค่าใช้จ่ายในการป้องกันภัยจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทะยานสูงขึ้น

รายงานฉบับนี้เตือนว่า ผลกระทบจากอากาศเปลี่ยนแปลงได้ปรากฏให้เห็นแล้ว และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่ออุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นทุกๆ 1 องศา

บทสรุปของรายงานได้ส่งสารถึงเหล่าผู้กำหนดนโยบายว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง และแผ่ขยายเป็นวงกว้างตามมา”

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เป็นบทที่สองของการประเมินผลครั้งที่ 5 โดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1988 เพื่อจัดทำแนวทางที่เป็นกลาง และตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่คณะรัฐบาลของประเทศต่างๆ

“รายงานฉบับนี้เป็นเครื่องมือชุดหนึ่งทีใช้บริหารจัดการเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังเป็นกรอบความเข้าใจ และเป็นแนวคิดในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสิ่งที่เกี่ยวข้อง” คริสโตเฟอร์ ฟีลด์ จากสถาบันคาร์เนกี ประธานร่วมของคณะนักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานฉบับนี้กล่าว

ในรายงานสรุปภาพรวมซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และกระตุ้นให้เกิดการดิ้นรนต่อสู้ทางการเมือง เพื่อผลักดันการทำสนธิสัญญาระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี 2009 ทว่าล้มเหลว

ในเอกสารฉบับใหม่ซึ่งเผยโฉมครั้งแรกที่เมืองโยโกฮามา ของญี่ปุ่น หลังการหารือกันนาน 5 วัน ไอพีซีซีได้กล่าวเตือนอย่างจริงจังว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดผลกระทบขั้นรุนแรง และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระดับภูมิภาคอย่างละเอียดมากที่สุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เอกสารฉบับนี้อ้างอิงข้อมูลจากการคาดการณ์ของไอพีซีซีที่ว่า ในศตวรรษนี้ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 0.3 ถึง 4.8 องศา

นอกจากนี้ยังคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะขยับสูงขึ้นอีก 26 ถึง 82 เซนติเมตร

รายงานฉบับใหม่ระบุว่า การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมอาจส่งผลให้โลกสูญเสียรายได้ประจำปีไป 0.2 ถึง 2.0 เปอร์เซ็นต์ โดยสมาชิกของยูเอ็นให้คำมั่นว่า ภายในสิ้นปี 2015 จะทำข้อตกลงระดับโลก เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจากในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส
แผนภาพแสดงผลกระทบที่แต่ละประเทศอาจได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่า ผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะรุนแรงยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่อุณหภูมิเพิ่มขยับขึ้น 1 องศา และจะเกิดหายนะเมื่ออุณหภูมิพุ่งทะลุ 4 องศาเซลเซียส

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจผลักดันเกิดความวุ่นวายและความขัดแย้ง กระตุ้นให้ประชาชนอพยพออกแสวงหาพื้นที่รกร้าง ตลอดจนแย่งชิงอาหารและน้ำดื่ม

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า รูปแบบของฝนก็จะเปลี่ยนไป จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและเอเชีย และความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่สภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงฝนแล้ง โดยพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดคือบริเวณที่มีประชากรอยู่หนาแน่น

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะผลกระทบต่อสุขภาพ สืบเนื่องจากคลื่นความร้อน การแพร่ระบาดของยุง และโรคทางน้ำ เช่น ไข้รากสาดน้อย อหิวาตกโรค บิด และโรคทางลำใส้อื่น ๆ

พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะปะการังที่เปราะบาง และสัตว์ที่ยู่อาศัยในทะเลอาร์กติกอาจถูกทำลาย

สถานการณ์อาจเลวร้ายลงไปอีก โดยรายงานระบุว่าระบบนิเวศที่เสี่ยงต่อการถูกทำลายมากที่สุดจะต้องเผชิญกับ “จุดพลิกผัน” จนดำดิ่งสู่สภาวะเสื่อมโทรมจนไม่สามารถยับยั้งได้

แม้กระนั้น รายงานฉบับนี้ชี้แจงว่า อันตรายเหล่านี้สามารถระงับได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษ หากลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ดินแดนต่างๆ ก็ยังจะต้องยกระดับการป้องกันอันตรายจากการสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงให้ระบบน้ำประปา พื้นที่แถบชายฝั่ง บ้านเรือน และการคมนาคมทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น

รายงานชี้ว่า มาตรการในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจำนวนมากเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ง่าย และไม่มีต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง

วิธีการเหล่านั้น คือ การประหยัดน้ำ การสร้างสวนสาธารณะที่มีต้นไม้เพื่อลดการสะสมของความร้อนในเมือง และการห้ามไม่ให้ประชาชนตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เสี่ยงภัยจากสภาพอากาศรุนแรง

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้รับการยกย่องจากบรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขากล่าวว่า เป็นการสั่งให้เหล่าผู้นำทั่วโลกเร่งลงมือดำเนินการทำอะไรบางอย่าง
 (ซ้าย) ราเชนทรา กุมาร ปาเชารี ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ขณะหารือกับ คริสโตเฟอร์ ฟีลด์ ประธานร่วมของคณะทำงานไอพีซีซีชุดที่ 2 (ขวา) ในระหว่างการแถลงข่าวที่เมืองโยโกฮามา ในวันจันทร์ (31 มี.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น