xs
xsm
sm
md
lg

รายงานคณะนักวิทย์ UN ย้ำมหันตภัยโลกร้อน ชี้ต้องแก้ทันทีก่อนลามเกินควบคุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอพี - รายงานจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของสหประชาชาติเตือน หากไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาวะโลกร้อนจะลุกลาม “เกินควบคุม” และสร้างผลกระทบที่ไม่อาจแก้ไขได้ ชี้ไฟป่าในอเมริกาและน้ำท่วมใหญ่ในไทย คือตัวอย่างตอกย้ำความเสี่ยงที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญสภาพภูมิอากาศอากาศรุนแรงซึ่งจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีก หากทุกคนทุกฝ่ายยังไม่เริ่มลงมือแก้ปัญหา

ราเชนทรา ปาเชารี ประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UNIPCC) ซึ่งเผยแพร่รายงานฉบับยาวเหยียดที่ต้องแบ่งเป็น 32 เล่มและความยาว 2,610 หน้า เมื่อเช้าวันจันทร์ (31 มี.ค.) ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะลุกลามเกินความควบคุม

มาร์เทน ฟาน อาอัลสต์ หนึ่งในผู้จัดทำรายงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการกาชาดและเสี้ยวเดือนแดงสากล ขานรับว่า หากไม่มีการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกโดยเร็ว ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแล้วจะเกินระดับที่ควบคุมได้

รายงานจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชนะรางวัลโนเบลฉบับนี้ชี้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 21 เป็นต้นว่า คลื่นความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในยุโรป ไฟป่าในอเมริกา ภัยแล้งในออสเตรเลีย และอุทกภัยรุนแรงในโมซัมบิก ไทย และปากีสถาน เหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นว่ามนุษยชาติมีความเปราะบางแค่ไหนเมื่อเผชิญสภาพอากาศรุนแรง และในเมื่อภูมิอากาศกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น อันตรายจึงกำลังยิ่งร้ายแรงขึ้นไปอีก

คริส ฟิลด์ แห่งสถาบันคาร์เนกีเพื่อวิทยาศาสตร์ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผู้นำโดยองค์รวมของคณะผู้เขียนรายงานฉบับนี้ สำทับว่า เราทุกคนอยู่ในยุคซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงแค่สมมติฐานในอนาคต หากแต่เรากำลังพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศซึ่งทั้งครอบคลุมกว้างขวางและอยู่ในระดับสาหัสรุนแรงอยู่แล้วในขณะนี้
ยูเอ็นเตือนถ้าไม่แก้ “โลกร้อน” จะส่งผลถึง “มนุษย์” รุนแรงแน่นอน – ราเชนทรา ปาโชรี (ซ้าย) ประธานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UNIPCC) แถลงข่าวที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในวันจันทร์ (31) โดยเตือนว่า หากไม่รีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ภาวะโลกร้อนอาจลุกลามเกินควบคุม และสร้างผลกระทบที่ไม่อาจแก้ไขได้ เป็นต้นว่า เกิดไฟป่ามากขึ้นในอเมริกา, น้ำท่วมใหญ่ในไทย
ไม่มีใครเลยที่มีภูมิคุ้มกันให้ปลอดภัยจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้ไปได้ ปาเชารี และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ กล่าวย้ำ

หลังจากถกเถียงกันจนดึกมาหลายคืน ในที่สุดคณะผู้แทนของรัฐบาลจากกว่า 100 ประเทศก็ลงมติเอกฉันท์รับรองรายงานสรุปอันมีความยาว 49 หน้าของรายงานชุดใหญ่นี้ ทั้งนี้คณะนักวิทยาศาสตร์จัดทำรายงานสรุปนี้ขึ้นมา สำหรับเสนอต่อเหล่าผู้นำทางการเมืองทั่วโลก

รายงานสรุปนี้เต็มไปด้วยคำว่า “เสี่ยง” เฉลี่ยแล้วในแต่ละหน้ามีการใช้คำๆ นี้ 5.5 ครั้ง โดยที่งความเสี่ยงเหล่านี้มีทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งในขณะนี้และในอนาคต ส่งผลกระทบกระเทือนทั้งต่อเกษตรกรและนครใหญ่ ในพื้นที่บางแห่งอาจเผชิญภาวะน้ำมากเกินไป ขณะที่บางแห่งมีน้ำไม่พอใช้ นอกจากนั้น ความเสี่ยงอื่นๆ ที่ระบุในรายงานนี้ยังมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับราคาอาหารและความสามารถในการจัดหาอาหารมาสำหรับการบริโภค ตลอดจนพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บบางชนิด ต้นทุนทางการเงิน และกระทั่งสันติภาพของโลก

ซาลีมุล ฮัก หนึ่งผู้ร่วมเขียนรายงาน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอินดิเพนเดนท์ในบังคลาเทศ เสริมว่า ความเสี่ยงหลายอย่างเลวร้ายกว่าที่เคยคาดไว้ในปี 2007 และโลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นและเร็วขึ้น

ปัญหาต่างๆ เพิ่มทวีความเลวร้ายจนกระทั่งคณะกรรมการต้องทำการปรับเพิ่มยกระดับความเสี่ยงขึ้นไปอีก ในรายงานของ UNIPCC ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2007 นั้น ระดับความเสี่ยงสูงที่สุดในกราฟฟิกสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งยังมีเพียงแค่ “สูง” โดยทำเป็นสีแดงจัดจ้าน แต่ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ต้องเพิ่มอีกระดับหนึ่งเป็น “สูงมาก” และใช้สีม่วงอันดูล้ำลึกเป็นสีประจำของระดับนี้

คุณอาจจะเรียกมันว่าเป็นความเสี่ยงในระดับ “น่าสยดสยอง” ก็ได้ ฟาน อาอัลสต์ กล่าว “ความสยดสยองเป็นคำที่เข้าท่าอยู่เหมือนกัน และพวกเราก็ยังไม่สามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขลดทอนความเสี่ยงนี้ได้”

รายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับนี้ ซึ่งอิงกับงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์กว่า 12,000 ฉบับและตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ คาดการณ์ว่า ความเสี่ยงระดับสูงสุดจะเกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรกกับพืชและสัตว์ ทั้งบนบกและในมหาสมุทรที่เปลี่ยนเป็นกรด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่สังคมเผชิญอยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายลงอีก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเจ็บป่วย และผู้อพยพ นอกจากนั้น ในทางกลับกัน มันยังกลายเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้ได้รับผลประโยชน์จากสังคมสมัยใหม่ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอและระบบเกษตรกรรมที่มีประสิทธิผลมากขึ้น ทั้งนี้หากผู้คนยังนิ่งนอนใจ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็มีแนวโน้มรุนแรง แพร่หลาย และไม่สามารถแก้ไขได้

รายงานแจงว่า แม้ปัญหาจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อทุกๆ คน แต่จะรุนแรงกว่าสำหรับคนที่มีกำลังรับมือน้อยกว่า รวมทั้งยังทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างขึ้น

อย่างไรก็ดี รายงานยอมรับว่า มีความไม่แน่นอนในการทำความเข้าใจและการคาดการณ์ความเสี่ยงจากสภาพอากาศในอนาคต

รายงานฉบับนี้ซึ่งถือเป็นรายงานว่าด้วยภาวะโลกร้อนฉบับที่ 5 ครอบคลุมความเสี่ยงต่อระบบนิเวศของโลก ซึ่งรวมถึงการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือ และมีเป้าหมายโดยตรงต่อสิ่งที่มีความหมายสำหรับมนุษย์มากกว่ารายงานฉบับก่อนๆ

นอกจากนั้น รายงานยังตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญจากภาวะโลกร้อนขึ้นคือ มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำคัญเพียงเหตุการณ์เดียวซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่จะส่งผลอย่างมากต่อโลก เช่น การละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ที่ปกติแล้วใช้เวลานานกว่า 1,000 ปี

ฟาน อาอัลสต์ ชี้ว่า แม้พายุรุนแรง เช่น ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในปีที่ผ่านมา, พายุซูเปอร์เฮอร์ริเคนแซนดี้ในปี 2012 และไซโคลนนาร์กิสในปี 2008 อาจไม่ได้เกิดจากภาวะโลกร้อนโดยตรง แต่คลื่นพายุซัดฝั่งมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากระดับน้ำทะเลมีความสูงมากขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ส่วนหนึ่งของรายงานกล่าวถึงสิ่งที่สามารถทำได้ เช่น การลดมลพิษจากคาร์บอน การปรับตัวและเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการพัฒนาอย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น

รายงานฉบับนี้ตอกย้ำสิ่งที่ UNIPCC เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือ หากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 3.5-4 องศาเซลเซียสในปี 2100 แทนที่จะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกขยับขึ้นเกิน 1.2 องศาเซลเซียสตามเป้าหมายสากล

แพทริเซีย โรเมโร-แลงเกา ผู้ร่วมจัดทำรายงานจากศูนย์เพื่อการวิจัยสภาพบรรยากาศแห่งชาติในโคโลราโด ทิ้งท้ายว่า ยังพอมีเวลาในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก จึงถือว่า เวลานี้ยังไม่ถึงกับเลวร้ายมากนัก เพียงแต่ทุกคนต้องเริ่มลงมือแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น