*ปั้น“น่าน-ระยอง”เมืองต้นแบบ
*ดันเอกชนนำร่อง“เมืองคาร์บอนต่ำ”
*ชงลดภาษีจูงใจร่วมโครงการช่วยลดโลกร้อน
ต้องยอมรับว่าการพัฒนาเมืองในอดีตจะเป็นการพัฒนาที่เน้นเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเจริญมั่งคั่งให้กับประเทศ แต่ผลที่ตามมา คือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตลอดจนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas หรือ GHG) ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น และนำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และธรณีพิบัติภัย ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น
ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) นอกจากจะเป็นการพัฒนาเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพแล้ว ยังจะมุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความสมดุลโดยการสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม รวมถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น หมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วย
การพัฒนาเมืองตามแนวคิดดังกล่าว ได้ไอเดียมาจากแนวคิดของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสวีเดน ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองที่ดี ให้เมืองมีการเติบโตแบบยั่งยืน ภายใต้ ชื่อซิมไบโอซิตี้ (SymbioCity) ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า Symbiosis in a city หมายถึงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตภายในเมือง
สผ.จับมือเยอรมันลดโลกร้อน
ผศ.ดร.นพนันท์ กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดทำโครงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น โดยให้ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่านและเทศบาลเมืองน่าน และจังหวัดระยองและเทศบาลตำบลเมืองแกลงเป็นจังหวัดและท้องถิ่นเป็นโครงการนำร่อง หลังจากนั้น จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นอีก 16 จังหวัด
นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนแก่กรุงเทพมหานครในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ซึ่งได้มีการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
“น่านเป็นจังหวัดที่มีภูเขาจำนวนมาก แต่ภูเขาทุกลูกหัวโล้น อีกทั้งยังเกิดปัญหาดินถล่มในหลายพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่งผลให้เกิดปัญหาโลกร้อนขึ้นทุกปี ดังนั้น สผ.จึงต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าให้กลับมาเป็นธรรมชาติเช่นเดิม ซึ่งอาจจะมีการฟื้นฟูทั้งป่าธรรมชาติ และป่าเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับภาวะเศรษฐกิจ”ผศ.ดร.นพนันท์ กล่าว
ขณะที่ระยองเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณมากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เห็นได้จากประชาชนมีปัญหาเจ็บป่วยจากการรับสารพิษมากเกินกว่าที่ร่างการจะรับได้
“ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ แผ่นดินไหว ดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ไฟป่า ระบบนิเวศในหลายพื้นที่อ่อนแอ สูญเสียพันธุ์พืชและสัตว์ พื้นผิวโลกเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยเฉพาะการเสียพื้นที่ชายฝั่ง เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นำไปสู่การย้ายถิ่นของประชากรที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล รวมทั้งการสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน เขตท่องเที่ยว เขตอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงบริเวณชายฝั่ง”
สผ.ได้จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2556-2593 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation) ประกอบด้วย แนวทางและมาตรการ 6 สาขา ได้แก่ 1. การจัดการน้ำ อุทกภัย และภัยแล้ง 2. การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3. การท่องเที่ยว 4. สาธารณสุข 5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ 6. การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Climate Change Mitigation) ประกอบด้วย แนวทางและมาตรการ 8 สาขา ได้แก่ 1. การผลิตไฟฟ้า 2. การคมนาคมขนส่ง 3. การใช้พลังงานในอาคาร 4. ภาคอุตสาหกรรม 5. ภาคของเสีย 6. ภาคการเกษตร 7. ภาคป่าไม้ และ 8. การจัดการเมือง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Capacity Building) ประกอบด้วย แนวทางและมาตรการ 4 สาขา ได้แก่ 1. การพัฒนาข้อมูล งานศึกษาวิจัย และเทคโนโลยี 2.) การพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การสร้างความตระหนักรู้ และเสริมศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4. แนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดันเอกชนสร้างอาคารประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมให้มีการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานด้วย โดยผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 กำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หากเจ้าของหรือผู้ประกอบการจัดให้มีอาคารอนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐานที่รับรองโดยมูลนิธิอาคารเขียวไทยหรือองค์กรอื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมือง ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มได้ ดังนี้
1. อาคารที่ได้รับการรับรองการอนุรักษ์พลังงานระดับหนึ่ง ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินได้ไม่เกินร้อยละห้า
2. อาคารที่ได้รับการรับรองการอนุรักษ์พลังงานระดับสอง ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินได้ไม่เกินร้อยละสิบ
3. อาคารที่ได้รับการรับรองการอนุรักษ์พลังงานระดับสาม ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินได้ไม่เกินร้อยละสิบห้า
4. อาคารที่ได้รับการรับรองการอนุรักษ์พลังงานระดับสี่ ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบ
ทั้งนี้ อาคารปาร์ค เวนเจอร์ เพลินจิต เป็นอาคารที่ก่อสร้างแบบประหยัดพลังงานสามารถปล่อยเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานได้มากถึง 900 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ขณะที่พื้นที่อาคารสำนักในบริเวณใกล้เคียงที่ก่อสร้างแบบปกติ ปล่อยเช่าได้เพียง 750-800 บาทต่อตารางเมตรต่อดือนเท่านั้น สาเหตุที่ผู้เช่ายอมจ่ายค่าเช่ามากกว่า เพราะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายจากค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้าลดลงมาก จากการใช้พื้นที่ในอาคารที่ก่อสร้างแบบประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะสร้างแรงจูงใจด้านภาษีด้วยการลดภาษี หรือให้สิทธิพิเศษแก่ภาคเอกชนที่ลงทุนหรือพัฒนาโครงการที่มีส่วนร่วมในการช่วยลดโลกร้อน เช่น การก่อสร้างอาคารแบบประหยัดพลังงานแทนการลงทุนโดยรัฐบาลเอง