อพท. ตั้งเป้าพื้นที่เขตพิเศษบริเวณเกาะกูด จังหวัดตราด และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง รวมถึงพื้นที่เกาะหมากด้วยเป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น พร้อมดึงชุมชนเข้าร่วมใช้พลังงานทางเลือก ชูแผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลมผลิตไฟฟ้า หวังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การใช้พลังงานทางเลือกไม่ใช่เรื่องยากหรือเรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว เพราะยิ่งอุณหภูมิอากาศร้อนมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ หันมาใส่ใจหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ทดแทนการใช้พลังงานในรูปแบบเดิมๆ มากขึ้นเท่านั้น
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทค่อนข้างสูงในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาสนใจในพลังงานทางเลือก
อพท.มีเป้าหมายให้พื้นที่เขตพิเศษบริเวณเกาะกูด จังหวัดตราด และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งรวมถึงพื้นที่เกาะหมากด้วย ให้เป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น (Low carbon Destination) หรือ พื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในพื้นที่บริเวณเกาะช้าง เกาะหมาก และเกาะกูด มีการจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่การจัดการขยะจากโรงกำจัดขยะระบบ Zero Weste การจัดการน้ำเสีย แต่ที่น่าสนใจและจะนำเสนอต่อไปนี้คือ การใช้ไฟฟ้าพลังงานทางเลือกจากแผง “โซลาร์เซลล์” โดย อพท. ไม่ได้ใช้งบประมาณซื้อแผงโซลาร์เซลล์ ไปติดตั้งให้ชุมชน แต่เป็นการให้องค์ความรู้แก่ชาวบ้านและชุมชนให้รู้จักประโยชน์และวิธีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เอง โดยมีต้นแบบอยู่ที่สำนักงานพื้นที่พิเศษ บ้านท่าโสม จังหวัดตราด
พลตรีหญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง อพท. กล่าวว่า ที่สำนักงานอพท.ท่าโสมแห่งนี้ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้เป็นต้นแบบในการสอนชาวบ้านและชุมชน และยังผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในสำนักงานท่าโสม เช่น ไฟส่องสว่าง และเครื่องใช้ในครัว ตู้เย็น ไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อนของสำนักงาน ทั้งหมดล้วนเป็นกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์ที่วางเรียงอยู่ด้านข้างสำนักงานทั้งสิ้น
“เราสอนชาวบ้านให้รู้จักประโยชน์และวิธีประกอบติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ใช้กันเอง ซึ่งมีราคาถูกกว่าไปจ้างช่างมาติดตั้ง และในอนาคต อพท.จะใช้สำนักงานฯท่าโสมเป็นศูนย์ศึกษาดูงานด้านการใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ รวมถึงแหล่งดูงานด้านการจัดการขยะและการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากขยะ ซึ่งจะเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ หรือผู้สนใจ เข้ามาศึกษาดูงานและนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่หรือในจังหวัดของตัวเอง ส่วนราคาค่าติดตั้งก็ไม่ได้แพงอย่างที่กลัวกัน และถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แถมยังได้ใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม”
“จากยุทธศาสตร์และนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากพันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการอพท. ที่ต้องการให้พัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงให้เป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น ทางสำนักงานจึงสร้างกิจกรรมและภาคีเครือข่ายมาโดยตลอด ทั้งการทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายอย่าง GIZ จัดทำปฏิญญาเกาะหมาก เป้าหมายคือเป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น” พลตรีหญิงจรัสพิมพ์ กล่าว
อาจารย์ณรงค์ ถาวรวงศ์ หรือครูโต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองเจ้า อำเภอเกาะกูด กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากอพท. เรื่องการใช้พลังงานทางเลือก ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม เพื่อนำพลังงานที่ได้มาผลิตเป็นไฟฟ้าส่องสว่างใช้ในห้องเรียน และบริเวณรอบโรงเรียนยามค่ำคืน ทำให้ทุกวันนี้โรงเรียนสามารถลดค่าไฟฟ้าได้เดือนละ 30% ซึ่งองค์ความรู้นี้ชาวบ้านและผู้สนใจสามารถนำไปต่อยอดด้วยการนำระบบนี้ไปใช้ในบ้านเรือนของตัวเองได้
“ข้อดีของการใช้โซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้า คือกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะมีความสม่ำเสมอ ไม่เหมือนกระแสไฟที่จ่ายมาจากโรงผลิตไฟฟ้า อาจมีตกมีเกินได้ขึ้นอยู่กับจำนวนและปริมาณการใช้ไฟในแต่ละเวลา ดังนั้นการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นเองนี้ช่วยยืดอายุเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ที่สำคัญ อพท. พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง ได้แจ้งว่า ยินดีสอนความรู้นี้ให้แก่ทุกคนที่สนใจ”
ชุมชนส่วนใหญ่ ใส่ใจแนวทางโลว์คาร์บอนของ อพท.
จากบันทึกการทำงานของ อพท. ปี 2556 ระบุว่า ผลการดำเนินงานด้านโลว์คาร์บอนตลอด 10 ปี ใน 6 พื้นที่พิเศษของ อพท. มีสถานประกอบการและชุมชนเข้าร่วมโครงการดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนครั้งนี้รวม 51 แห่ง ในที่นี้ผ่านเกณฑ์การประเมินจำนวน 49 แห่ง คือต้องได้คะแนนมากกว่า 3 จากเต็ม 5 โดยทั้ง 49 แห่งที่ผ่านเกณฑ์นี้สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนรวมกันได้ 43,117 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบได้ว่าปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ลดลงนั้นเท่ากับการปลูกต้นไม้ยืนต้นในพื้นที่พิเศษถึง 2,000 ต้น
ตัวเลขดังกล่าว อพท.จะใช้เป็นปีฐาน เพื่อทำการจัดเก็บตัวเลขลดการปลดปล่อยคาร์บอน ในปี 2557 นี้ โดยจะเพิ่มจำนวนชุมชนและสถานประกอบการ ส่วนชุมชนและสถานประกอบการเดิมที่ทำแล้วในปี 2556 ก็จะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น โดยเกณฑ์ที่ อพท.กำหนดในโครงการนี้ มี 4 ข้อ คือ 1.การจัดการขยะ 2.การจัดการน้ำเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 3.การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และ4.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผลการศึกษาขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ (GIZ : German International Coorperation) ได้จัดเก็บตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่า นักท่องเที่ยว 1 คน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยที่ 11 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อคนต่อวัน ขณะที่ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพื้นที่เกาะช้าง เกาะหมากและเกาะกูด มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อวัน ที่ 19.74 และ 21.12 และ 20.72 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า