xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีฯรุกโรงไฟฟ้าลมที่ออสเตรเลีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯจ่อประมูลโรงไฟฟ้าพลังลม 100 เมกะวัตต์ที่ออสเตรเลียคาดรู้ผลธ.ค.นี้ เผยเร่งหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมาร์ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯขนาด 200 เมกะวัตต์ที่จะยี่นอประมูลรอบสุดท้ายเดือนหน้า-โรงไฟฟ้าปากเหมืองที่เชียงตุง-โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มะริด ส่วนฟิลิปปินส์สนใจซื้อกิจการโรงไฟฟ้าและสร้างใหม่

นายเกรียงฤทธิ์ เจียจันทร์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 2 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนในต่างประเทศว่า บริษัทเตรียมเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังลมของ Australian Capital Territory ( ACT) ซึ่งเป็นของรัฐบาลออสเตรเลีย ประมาณ 100 เมกะวัตต์ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะรู้ผลในเดือนธันวาคมนี้ โครงการนี้จะใช้เงินลงทุน200 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ทั้งนี้ ACT เตรียมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA ) จากโรงไฟฟ้าพลังลมรวม 200 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอประมูลเข้ามารายละไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟ 20ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีใบอนุญาตในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมที่ออสเตรเลียอยู่แล้ว 165-180 เมกะวัตต์ แต่ที่ผ่านมา ต้องชะลอการลงทุนไปเนื่องจากขายไฟของออสเตรเลียเป็นแบบPool ทำให้ราคาค่าไฟต่ำและต้นทุนแข่งขันได้ยาก ซึ่งการรับซื้อไฟจากACT จะทำให้ธุรกิจไฟฟ้าในออสเตรเลียเติบโตขึ้น

ส่วนความคืบหน้าการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯขนาด 200 เมกะวัตต์ที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์นั้น บริษัทฯจะยื่นเข้าประมูลอย่างเป็นทางการรอบสุดท้ายในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2557 ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลดังกล่าว หลังจากได้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมาแล้ว

โครงการนี้บริษัทจะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น คือบริษัท กรีน เอนเนอยี่ ที่เมียนมาร์ โดยบริษัทฯจะถือหุ้น 60%ที่เหลือเป็นกรีน เอนเนอยี่ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเดิมโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์แต่เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์ลดการจ่ายก๊าซฯ ทำให้ต้องลดขนาดโรงไฟฟ้าลง

นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้เข้าไปสำรวจแหล่งถ่านหินลิกไนต์ว่ามีปริมาณมากเพียงพอที่สร้างโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่เชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ โดยบริษัทได้ทำบันทึกความเข้าใจกับบริษัท ลำพูนดำ ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองถ่านหินดังกล่าว หากพบว่ามีปริมาณถ่านหินเพียงพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 300
เมกะวัตต์ ก็จะดำเนินการร่วมทุนกับลำพูนดำในการสร้างโรงไฟฟ้าปากเหมืองต่อไป

ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะขายเข้าไทย ซึ่งรูปแบบการทำโรงไฟฟ้าจะเหมือนโรงไฟฟ้าหงสาที่ร่วมทุนกับบมจ. บ้านปู ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสานี้ จะทดลองจ่ายไฟในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)ในเดือนมิ.ย.2558 ในเฟสแรก และจ่ายไฟครบทั้ง 3 เฟสในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

อีกโครงการหนึ่งที่บริษัทฯให้ความสนใจ คือโรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าที่มะริด ประเทศเมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์จำนวน 2 ยูนิต ซึ่งขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้า หากสามารถทำความเข้าใจได้แล้วรัฐบาลเมียนมาร์จึงจะอนุญาตให้มีการพัฒนาโครงการได้

นายเกรียงฤทธิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ขณะนี้ บริษัทฯร่วมกับบริษัท เชาว์สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ในการเข้าแสวงหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นจะเน้นตรวจสอบรายละเอียดใบอนุญาตการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของผู้ที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ส่วนอินโดนีเซียนั้นคงต้งอชะลอการลงทุนโรงไฟฟ้าไปก่อนจากเดิมที่มองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ 3 โครงการ เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้ค้ำประกันสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ทำให้การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทำได้ยาก ส่วนฟิลิปปินส์ก็เตรียมหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อร่วมทุนทำโรงไฟฟ้าหรือซื้อกิจการ หลังจากที่ปรึกษาการเงินเสนอขายกิจการโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์หลายเฉลี่ยโครงการละ 300 เมกะวัตต์ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมื่อเร็วๆนี้ ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ จัดโครงการ “ปลูกป่าต้นน้ำ สร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอน” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อำเภอปัว จ.น่าน เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อสร้างแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือคาร์บอนซิงค์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่มีปริมาณลดน้อยลงและมีสภาพเสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยชะลอการไหลบ่าของน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง

โดยโครงการจะดำเนินการปลูกต้นไม้ท้องถิ่นจำนวน 200,000 ต้นบนพื้นที่ 1,000 ไร่ และจะจัดทำแนวกันไฟและสร้างหอดูไฟเพื่อการป้องกันแล เฝ้าระวังไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง โดยโครงการมีระยะเวลา 3 ปี (ปี 2557-2559) ตั้งเป้าหมายอัตราการรอดตายของต้นไม้ไว้ไม่น้อยกว่า 90% และคาดว่าต้นไม้ที่รอดจะเติบโตเป็นแหล่งน้ำและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดโลกร้อนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น