xs
xsm
sm
md
lg

“เอ็กโก” รุกโรงไฟฟ้าลมที่ออสเตรเลีย จ่อขยายเพิ่มอีก 30-40 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอ็กโก กรุ๊ป” จ่อชิงดำประมูลโรงไฟฟ้าพลังลม 30-40 กว่าเมกะวัตต์ที่ออสเตรเลีย คาดได้ข้อสรุปปลายปีนี้ พร้อมดอดเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อินโดนีเซียขนาด 100-200 เมกะวัตต์ คาดได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นประมูลโรงไฟฟ้าพลังลมที่ออสเตรเลียเพิ่มอีก 30-40 กว่าเมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่บริษัทฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมโบโคร็อค กำลังผลิตติดตั้ง 113 เมกะวัตต์จะเสร็จในเดือน ก.พ. 58 ซึ่งเป็นโครงการที่ Australian Capital Territory (ACT) ของออสเตรเลียได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังลม โดย บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เองก็สนใจที่จะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าพลังลมจำนวน 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้

ทั้งนี้ ทาง ACT ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังลม 200 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นข้อเสนอประมูลเข้ามารายละไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟนาน 20 ปี สาเหตุที่ประมูลโรงไฟฟ้าแค่ 30-40 กว่าเมกะวัตต์ เนื่องจากพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังลมโมโคร็อค เฟส 1 สามารถขยายกำลังการผลิตได้เท่านั้น และมีใบอนุญาตในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมอยู่แล้ว

นายสหัสกล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นว่า จากผลการศึกษาพบว่าโครงการดังกล่าวจะติดปัญหาเรื่องพื้นที่ในการก่อสร้าง และผลตอบแทนการลงทุนไม่สูงมากนัก จึงตัดสินใจว่าจะไม่เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็มองโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในพม่าด้วย

ที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ปได้มีการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านนอกเหนือจาก สปป.ลาวแล้ว ล่าสุดได้เข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค ที่ฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วน 49.95% กำลังผลิต 315 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 300-600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 6 เดือนนี้

นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะลงทุนประมูลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากต้องรอให้การเลือกตั้งของอินโดนีเซียและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ด้วยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า ทั้งนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของอินโดนีเซียยังมีมาก แต่ติดปัญหาสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าระยะสั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มองหาโอกาสที่จะเข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในอินโดนีเซียด้วย โดยเจรจาแล้วหลายราย ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 100-200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้

นายสหัสกล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2557 พบว่ามีผลการดำเนินงานดีกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้และดีกว่าไตรมาส 1/2557 เนื่องจากโรงไฟฟ้าหลายโรงเดินเครื่องได้ดี โดยไตรมาส 1/2557 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2.48 พันล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น