xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีฯ รุกโรงไฟฟ้าลมที่ออสเตรเลีย จ่อประมูล 100 เมกะวัตต์ รู้ผล ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ จ่อประมูลโรงไฟฟ้าพลังลม 100 เมกะวัตต์ที่ออสเตรเลีย คาดรู้ผล ธ.ค.นี้ เผยเร่งหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าในพม่า ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่จะยี่นประมูลรอบสุดท้ายเดือนหน้า โรงไฟฟ้าปากเหมืองที่เชียงตุง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มะริด ส่วนฟิลิปปินส์สนใจซื้อกิจการโรงไฟฟ้าและสร้างใหม่

นายเกรียงฤทธิ์ เจียจันทร์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 2 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนในต่างประเทศว่า บริษัทเตรียมเข้าประมูลโรงไฟฟ้าพลังลมของ Australian Capital Territory (ACT) ซึ่งเป็นของรัฐบาลออสเตรเลีย ประมาณ 100 เมกะวัตต์ในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะรู้ผลในเดือนธันวาคมนี้ โครงการนี้จะใช้เงินลงทุน 200 ล้านเหรียญออสเตรเลีย



ทั้งนี้ ACT เตรียมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากโรงไฟฟ้าพลังลมรวม 200 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอประมูลเข้ามารายละไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ สัญญาซื้อขายไฟ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีใบอนุญาตในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมที่ออสเตรเลียอยู่แล้ว 165-180 เมกะวัตต์ แต่ที่ผ่านมาต้องชะลอการลงทุนไปเนื่องจากขายไฟของออสเตรเลียเป็นแบบ Pool ทำให้ราคาค่าไฟต่ำและต้นทุนแข่งขันได้ยาก ซึ่งการรับซื้อไฟจาก ACT จะทำให้ธุรกิจไฟฟ้าในออสเตรเลียเติบโตขึ้น

ส่วนความคืบหน้าการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่มัณฑะเลย์ ประเทศพม่านั้น บริษัทฯ จะเข้ายื่นประมูลอย่างเป็นทางการรอบสุดท้ายในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2557 ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลดังกล่าวหลังจากได้ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมาแล้ว

โครงการนี้บริษัทฯ จะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น คือบริษัท กรีน เอนเนอยี่ ที่พม่า โดยบริษัทฯ จะถือหุ้น 60% ที่เหลือเป็นกรีนเอนเนอยี โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายในประเทศพม่า ซึ่งเดิมโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากรัฐบาลพม่าลดการจ่ายก๊าซฯ ทำให้ต้องลดขนาดโรงไฟฟ้าลง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าไปสำรวจแหล่งถ่านหินลิกไนต์ว่ามีปริมาณมากเพียงพอที่สร้างโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่เชียงตุง ประเทศพม่า คาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นปีนี้ว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ โดยบริษัทฯ ได้ทำบันทึกความเข้าใจกับบริษัท ลำพูนดำ ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองถ่านหินดังกล่าว หากพบว่ามีปริมาณถ่านหินเพียงพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ ก็จะดำเนินการร่วมทุนกับลำพูนดำในการสร้างโรงไฟฟ้าปากเหมืองต่อไป

ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะขายเข้าไทย ซึ่งรูปแบบการทำโรงไฟฟ้าจะเหมือนโรงไฟฟ้าหงสาที่ร่วมทุนกับ บมจ.บ้านปู ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสานี้จะทดลองจ่ายไฟในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนมิถุนายน 2558 ในเฟสแรก และจ่ายไฟครบทั้ง 3 เฟสในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

อีกโครงการหนึ่งที่บริษัทฯ ให้ความสนใจ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าที่มะริด ประเทศพม่า ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ยูนิต ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้า หากสามารถทำความเข้าใจได้แล้วรัฐบาลพม่าจึงจะอนุญาตให้มีการพัฒนาโครงการได้

นายเกรียงฤทธิ์กล่าวถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 30 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ขณะนี้บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท เชาว์สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ในการเข้าแสวงหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น โดยเบื้องต้นจะเน้นตรวจสอบรายละเอียดใบอนุญาตการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาหลักของผู้ที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ส่วนอินโดนีเซียนั้นคงต้องชะลอการลงทุนโรงไฟฟ้าไปก่อนจากเดิมที่มองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ 3 โครงการ เนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้ค้ำประกันสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ทำให้การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินทำได้ยาก ส่วนฟิลิปปินส์ก็เตรียมหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อร่วมทุนทำโรงไฟฟ้าหรือซื้อกิจการ หลังจากที่ปรึกษาการเงินเสนอขายกิจการโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์หลายโครงการ เฉลี่ยโครงการละ 300 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน


กำลังโหลดความคิดเห็น