xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับมือวิกฤตภัยแล้งมาแล้ว ขาดแคลนน้ำทั้งคนกรุง-ภาคการเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมชลประทานฟันธง น้ำเหนือไม่ไหลบ่าท่วมกรุงแน่ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ 2 แบบ คือ รับมือน้ำท่วมฉับพลันในจุดเสี่ยงบางจังหวัด และการขาดแคลนน้ำภาคการเกษตรที่อาจเข้าขั้นวิกฤต ในอนาคตถึงขั้นขาดน้ำกินและน้ำใช้ ด้าน ดร.รอยล มองปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเห็นว่าในวันนี้ต้องเริ่มศึกษาและมองหาแนวทางในการวางนโยบาย เผยนำทีม สสนก.เตรียมข้อมูลสนับสนุนทุกหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำ เพื่อสกัดน้ำท่วมใหญ่ และแนวโน้มภัยแล้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้

สภาพอากาศฝนฟ้าคะนองที่มีปริมาณน้ำฝนมาก ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม สิงหาคม และกันยายน ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก อีกทั้งกระแสข่าวการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกลัวจะเกิดอุทกภัยเช่นเดียวกับปี 2554สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่ดูแลงานด้านบริหารจัดการน้ำ ออกมาประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ รวมถึงที่จังหวัดสุโขทัยและเชียงรายว่า เป็นเรื่องปกติตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่าอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กับร่องกดอากาศต่ำที่พัดผ่านทางภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานตอนบน จะส่งผลทำให้พื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยมีฝนตกมาก โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ น้ำฝนจะมีปริมาณมาก และติดต่อกันหลายวัน จึงเกิดการสะสมทำให้การระบายน้ำไม่ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมแบบฉับพลัน

โดยเฉพาะกรณีอุทกภัยที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุโขทัย นับว่าเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนมากในช่วงต้นฤดูฝน อีกทั้งในบริเวณแม่น้ำยมยังมีลักษณะภูมิประเทศการระบายน้ำไม่ดี เพราะตอนบนจะมีลักษณะกว้างและตอนล่างแคบ เมื่อมีฝนตกปริมาณมากติดต่อกันหลายวัน จึงทำให้เกิดลักษณะของน้ำท่วมฉับพลัน

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมายังไม่สร้างความเดือดร้อนในระดับรุนแรง แต่ข้อมูลจากกรมชลประทาน และ สสนก. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร) ต่างก็ให้ข้อมูลเป็นไปในทางทิศเดียวกันว่า ช่วงเวลาของฤดูฝนที่เหลืออีก 2 เดือนตั้งแต่กันยายนและตุลาคมนี้ ยังต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นฝนจะทิ้งช่วง และเมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยกำลังจะเผชิญปัญหาภัยแล้งตามมาเป็นระลอกต่อไป
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน
ขณะเดียวกัน น้ำเหนือจากเชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก กำลังจะไหลมาบรรจบรวมกันผ่านนครสวรรค์ อุทัยธานีและอยุธยาจนทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับสถานการณ์ปี 2554 ที่น้ำจากที่นี่ไหลไปอำเภอบางบัวทอง และพื้นที่ใกล้เคียงต่างๆ จนทำให้เกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักนั้น นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอย่างมั่นใจว่า ปีนี้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะในพื้นที่รอยต่อน้ำท่วมที่สุโขทัย ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อย่างโครงการแก้มลิงบางระกำ ที่สามารถหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆ ทยอยไหลออกมา ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา

เตือนจุดเสี่ยงรับน้ำเหนือ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบายน้ำในลักษณะดังกล่าวและปริมาณน้ำขนาดนี้ จะส่งผลต่อบ้านเรือนริมตลิ่งที่มีพื้นที่ต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน คือ คลองบางโผงเผง อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง และคลองบางบาน ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในระเบียบการปฏิบัติตามปกติของกรมชลฯ ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมา อีกทั้งวิถีชุมชนของที่นี่ปลูกบ้านแบบมีเสาใต้ถุนสูงมานานแล้ว จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก

เขื่อนยังมีพื้นที่รับน้ำ-ฝนทิ้งช่วง

อธิบดีกรมชลฯ บอกอีกว่า ที่มั่นใจว่าน้ำไม่ท่วม กทม.และปริมณฑลยังมีปัจจัยสำคัญคือ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในเขื่อน และน้ำในแม่น้ำยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาก ทั้งนี้ตัวเลขปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก (ณ วันที่ 12 กันยายน 2557) มีปริมาณน้ำ 5,029 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 37% ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,049 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 53% ของความจุอ่าง

นอกจากนี้จากภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งใช้น้ำจาก 2 เขื่อนหลักที่กล่าวมานั้น ยังอยู่ที่อัตรา 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยมาก คิดเป็น 1 ใน 3 ของความจุที่รับได้คือ 3,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

“สถานการณ์ที่น้ำเคยไหลไปอำเภอบางบัวทอง พื้นที่ใกล้เคียงต่างๆ จนทำให้น้ำท่วมนั้น เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะน้ำยังอยู่ในร่องน้ำ เหตุการณ์ปี 2554 เกิดขึ้น เพราะน้ำไหลออกนอกร่องน้ำ ปริมาณน้ำมีมาก จนควบคุมไม่ได้ ส่งผลทำให้คันขาดเป็นชุดๆ และเมื่อน้ำไหลออกนอกแม่น้ำแล้วทำให้ควบคุมไม่ได้เลย”

น้ำท่วมฉับพลันมาเร็วไปเร็ว

นอกจากนี้ปัจจัยหลักที่จะทำให้น้ำท่วมจะอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนตกลงมามากเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และหากระบบการระบายน้ำไม่ทัน จะเกิดน้ำท่วมแบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นลักษณะการท่วมในพื้นที่ อย่างเช่น เมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อนน้ำท่วมที่หลักสี่ แจ้งวัฒนะ เพราะน้ำระบายไม่ได้และฝนตกหนักต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่เขตกรุงเทพฯ มีความสามารถในการระบายน้ำอยู่ในขีดจำกัด

ส่วนการเตรียมแผนเพื่อรองรับอุทกภัยในพื้นที่ชลประทานที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ เช่น ทุ่งรังสิต ซึ่งมีหมู่บ้านจัดสรรอยู่หลายโครงการในพื้นที่นั้นไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าระบบการระบายคูคลองมีการขุดลอก กำจัดผักตบและเตรียมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่จะสูบน้ำออกจากบริเวณรอบๆ เพื่อลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งรองรับปริมาณได้อยู่

ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อน้ำยังอยู่ในร่องน้ำ ตลอดจนหลายๆ เขื่อนยังมีพื้นที่เก็บน้ำ และยังมีแนวโน้มอีกว่าช่วงเวลาของฤดูฝนที่เหลือต่อจากนี้ไป ฝนจะตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยน้อย รวมทั้งอาจจะหมดก่อนที่น้ำจะเพียงพอสำหรับเก็บไว้ใช้ในเขื่อนด้วยซ้ำ ซึ่งหมายความว่าควบคุมสถานการณ์ได้ 100%

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการสร้างกำแพงกันตลิ่งค่อนข้างสูง สามารถรับน้ำได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในปัจจุบันมีการระบายเพียง 1,000 ลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทั้งปี หากว่าไม่มีเงื่อนไขของพายุเข้ามา ประเมินว่าไม่น่าจะเกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตร

วิกฤตขาดแคลนน้ำในอนาคต

อธิบดีกรมชลฯ ย้ำด้วยว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ต้องกังวล เพราะในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่ปัญหา “น้ำท่วมฉับพลัน” เฉพาะพื้นที่ในวันนี้ไม่น่ากลัวเมื่อเทียบเท่ากับวิกฤตที่กำลังตามมา ซึ่งเป็นเรื่องของ “น้ำ” สำหรับการเพาะปลูกประจำปี และที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นไปอีก คืออาจต้องเจอกับสภาพของการไม่มีน้ำใช้ในอนาคต

โดยเฉพาะสถานการณ์การขาดแคลนน้ำสำหรับภาคเกษตรในวันนี้ มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่าอาจบานปลายไปถึงขั้นไม่มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค แนวทางเพื่อสร้างแหล่งน้ำ ทั้งเขื่อนหรืออ่างเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลของกรมชลประทาน ที่ว่าวันนี้ประเทศไทยมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานเพียง 20% ของพื้นที่เพาะปลูก ส่วนที่เหลืออีก 80% อาศัยน้ำที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถจะบริหารจัดการได้ โดยชุมชนกลุ่มที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำก็ใช้น้ำหมด ขณะที่ชุมชนอยู่ไกลไม่มีใช้ ซึ่งยังเป็นปัญหาของประเทศอยู่

ทั้งนี้เมื่อถามถึงพื้นที่ต้องเริ่มสร้างอย่างเร่งด่วน “อธิบดีกรมชลฯ” กล่าวว่า เกือบทุกพื้นที่ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่นอกเขตซึ่งไม่มีแหล่งน้ำถึง 80% ซึ่งมีอยู่ทั่วไป

“อยากให้ผู้เกี่ยวข้องไปสอบถามคนในพื้นที่จะรู้ว่าพวกเขารอการสร้างเขื่อนและอยากให้มีการสร้างมากกว่า และพวกที่คัดค้านลองไปตรวจสอบดูซิใช่คนพื้นที่หรือไม่”

ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต ที่เห็นได้ชัดเจนคือน้ำมีปริมาณน้อยกว่าจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำประปาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลใช้น้ำจากเขื่อนที่สร้างมาถึง 50 ปีแล้ว และวันนี้มีเขื่อนเพิ่มขึ้นคือเขื่อนป่าสักกับเขื่อนแควน้อยซึ่งเพิ่มปริมาณน้ำขึ้นมาได้ไม่มากเพียงพอกับจำนวนคน ทั้งการใช้ในภาคอุปโภคและบริโภค ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่น้ำมีเท่าเดิม และในวันข้างหน้าจะเพียงพอหรือไม่ หากประเทศไม่มีการวางแผนเพื่อรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ล่วงหน้า

“วันนี้เรายังมีน้ำกินน้ำใช้สำหรับช่วงเวลาสั้นๆ แต่พอถึงยุคต่อไปเราอาจต้องผลัดกันอาบน้ำ ผลัดกันล้างรถ โดยจัดรอบเวรเป็นซอยคู่วันนี้ ซอยคี่อีกวัน อาจจะต้องสลับกันทำอะไรที่เกี่ยวกับการใช้น้ำหลายอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะวันนี้การเพาะปลูกยังต้องสลับการส่งน้ำเป็นรอบเวร “อธิบดีกรมชลประทาน จำลองภาพเหตุการณ์การขาดแคลนน้ำในอนาคต”

ที่สำคัญกรมชลประทานมีการสร้างอ่างเก็บน้ำและสร้างเขื่อน หรือระบบกรมชลประทานมาเป็น 100 ปี และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการสร้าง 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมีประชากร 30 ล้านคน มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 2 ล้านไร่ และทำนาหน้าฝนอย่างเดียว ในปัจจุบันคนทั่วประเทศมี 70 ล้านคน โดยใน 22 จังหวัดที่ใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยามีคนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน มีพื้นที่การเพาะปลูก 10 ล้านไร่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และทำนา 2 ครั้งรวมเป็น 20 ล้านไร่

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหานั้น กรมชลฯ กำลังดำเนินการให้กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันในเรื่องการสร้างระบบชลประทานในรูปต่างๆ รวมถึงขณะนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในแผนเร่งด่วนที่จะให้ คสช.อนุมัติเป็นพิเศษอยู่บางโครงการ และบางโครงการต้องผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเรื่องที่คณะกรรมการต้องตรวจสอบแนวทางแก้ไขนั้นมีผลกระทบ ความพร้อม และมีมาตรฐานสากลเหมาะสมหรือไม่

“ที่เร่งด่วนตอนนี้คือมีคณะกรรมการที่จะต้องไปจัดสรรการใช้น้ำในเรื่องการเพราะปลูก ให้เหมาะสมเพียงพอ ไม่ใช่แห่ปลูกแล้วแย่งกันใช้น้ำ ใครอยู่ใกล้แหล่งน้ำก็ดึงไว้ก่อน จะทำให้กระทบพืชผลทางการเกษตรทั้งระบบ และคนกรุงก็จะกระทบเพราะการประปาก็ใช้น้ำจากเขื่อนเหมือนกัน ซึ่งน้ำประปาก็จะเค็ม รวมทั้งคนใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ในพื้นที่ต่างๆ ด้วย
 ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
ไม่วิตกสถานการณ์น้ำท่วม

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ซึ่งมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการบริหารจัดการน้ำและเป็นผู้จัดทำแผนพัฒนา กล่าวว่า หัวใจของการบริการจัดการน้ำในปี 57 คือ “ไม่ให้ท่วม กับไม่ให้แล้ง มีน้ำใช้” โดยระยะเวลาสำคัญอยู่ที่เดือนกันยายนจนถึงสิ้นเดือน และเมื่อย่างเข้าเดือนตุลาคมปริมาณฝนจะลดลงทันที

ที่คาดการณ์ได้เช่นนั้น เพราะขณะนี้ทะเลรอบๆ ประเทศไทย ที่จีน อันดามัน มหาสมุทรอินเดีย เกิดเอลนีโญ ลักษณะคล้ายๆ กับปี 2539 จึงจะทำให้ฝนตกหนักกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 130 เพราะฉะนั้นเดือนนี้ต้องเก็บน้ำและระบายน้ำควบคู่กันไป โดยจากข้อมูลที่ได้มาจากแบบจำลองสถานการณ์ที่ทีมมอนิเตอร์ของสสนก.จัดทำขึ้นมาวันละ 2 รอบ และกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งคาดการณ์ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายนนั้น ฝนจะกลับมาตกหนักในภาคอีสานตอนกลาง-ตอนใต้ ที่จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา ข้อดีคือมีโอกาสเก็บน้ำที่เขื่อนลำพระเพลิง เพราะตอนนี้มีปริมาณน้ำน้อยมาก

แต่สิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังติดตามต่อไป คือ ฝนจะมาตกหนักที่จังหวัดนครนายกอีก และถ้าฝนเปลี่ยนทิศทางเข้าไปที่ประเทศลาวและจีนตอนล่าง ปริมาณน้ำฝนนี้จะไหลลงสมทบลงแม่น้ำโขง ซึ่งขีดความสามารถในการระบายแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน อยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3.6 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โดยสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่มีอะไรน่าวิตก จากข้อมูลที่รวบรวมและมอนิเตอร์อย่างต่อเนื่อง ไม่พบตัวแปรที่จะมีผลให้เกิดวิกฤต ฝนรายชั่วโมง และฝนสะสมรายวัน สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ เริ่มเคลื่อนจากเหนือลงไปใต้ และเมื่อมาดูข้อมูลภาพรวมของ สสนก. ก็จะเห็นว่าระดับน้ำลดลงหมดแล้ว รวมทั้งระดับน้ำที่เขื่อนป่าสักซึ่งอยู่ในระดับตลิ่ง คือ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

หวั่นวิกฤตน้ำแล้ง

ดังนั้นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นตามมาก็คือความกังวลเกี่ยวกับน้ำแล้ง เนื่องจากเรายังไม่มีเครื่องมือ เมื่อฝนตกท้ายเขื่อน จึงต้องอาศัยพื้นที่เกษตรเป็นตัวเก็บน้ำ เช่น สระ หนอง แก้มลิง แม่น้ำ และคลอง สำหรับสำรองน้ำเอาไว้ใช้สำหรับช่วงหน้าแล้ง ซึ่งตามพื้นที่เกษตรที่อาศัยเก็บน้ำและแก้มลิงยังมีน้อย รวมทั้งมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรจากเดิมที่ทำแบบร่องสวนลึกประมาณ 1-2 เมตรเพื่ออาศัยเก็บกักน้ำสำหรับพื้นที่น้ำท่วมขังได้ ก็หมดความนิยม ปัจจุบันมีการถมที่เพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้เกษตรกรไม่มีที่เก็บน้ำไว้ใช้ของตนเอง

ปัญหาดังกล่าวทางกระทรวงเกษตรฯ สนนก. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ กระทรวงมหาดไทยได้เข้าไปช่วยรณรงค์ให้ความรู้ เพื่อชี้ให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาภัยแล้ง และความสำคัญของการเก็บน้ำไว้ใช้ ปัจจุบันหลายชุมชน อาทิ ชุมชนคลองรังสิต เริ่มเห็นความสำคัญเพราะได้รับผลกระทบนานารูปแบบ ทั้งน้ำเค็มรุก และน้ำท่วมในชุมชน จึงเริ่มกลับมาบริหารจัดการ เก็บน้ำไว้ใช้ตอนน้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ หลังจากที่กลับมาทำร่องสวนกันเองพบมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

สร้างเขื่อนดี / ไม่ดี

ส่วนในเรื่องของการสร้างเขื่อนนั้น ดร.รอยล ให้ความเห็นว่าจะต้องดูสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ประการแรกเมื่อเรามาดูพื้นที่ลาดชัน อย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีพื้นที่ป่า 70% ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 20% เพราะฉะนั้นถ้าจะถามเรื่องเขื่อน ต้องย้อนกลับไปที่สภาวะแวดล้อม และสภาพไคลเมตเชนจ์ หากเป็นแบบนี้ ถ้าจะฟื้นป่าขึ้นมาต้องใช้เวลา 30 กว่าปี

ประการที่สอง เราจะย้ายคนที่อยู่ในป่า และในพื้นที่ไปอย่างไร ตัวเลขคร่าวๆ มีคนอยู่กว่า 10 ล้านคน เราจึงต้องการโครงสร้าง เราเห็นภาพของภัยแล้ง น้ำท่วม แต่ปัจจุบันเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม เพราะด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนใหญ่ เขื่อนเล็กก็ได้ และบริหารร่วมกันโดยใช้ไอที

ประการที่สาม ปัญหาที่มาหลังจากสร้างเขื่อน คือเรารักษาป่าต้นไม้ไว้ไม่ได้ อย่างเขื่อนสิริกิติ์เหนือป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน กลายเป็นป่าข้าวโพด ขณะที่เขื่อนภูมิพลรักษาเขื่อนต้นน้ำไว้ได้ ตะกอนน้อย อายุการใช้งานของเขื่อนใช้ได้นาน

ดังนั้นองค์ประกอบต่างๆ จึงตอบแบบเดี่ยวๆไม่ได้ มีเงื่อนไขว่า ถ้าเราจะเดินต่อไปบนความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มอีกประมาณ 3-4 หมื่นลูกบาศก์เมตร ต้องมีโครงสร้างที่สมบูรณ์พอ

หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำเพื่อไว้ใช้ แล้วจะเกิดวิกฤตในวันข้างหน้าหรือไม่ ต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ ต้องแยกการบริหารและการพัฒนา ซึ่งในวันนี้เรานำมาปนกัน

 ประเด็นแรก ต้องสรุปก่อนว่า โครงสร้างพอหรือไม่ ดูที่ความต้องการใช้น้ำ หากไม่พอจะเพิ่มเท่าไร หรือของเดิมไม่เหมาะสมจะดัดแปลงอย่างไร ต้องทำตรงนี้ให้จบ และเมื่อโครงสร้างเปลี่ยน การบริหารจัดการจะนำมาวางบนโครงสร้างอย่างไร ต้องไม่นำมาปนกัน เหมือนเราสร้างถนนเสร็จเราต้องมีการกำหนดว่า ถนนเส้นนี้จะวันเวย์หรือจะวิ่ง 2 เวย์ บางเส้นตอนเช้าวิ่ง 3 เลน อีกด้านเหลือ 2 เลน

ประเด็นที่สอง นำเหตุการณ์วิกฤตมาดูว่าน้ำหลากมาอย่างไร ต้องการโครงสร้างเพิ่มหรือไม่

ประเด็นที่สาม คือให้ดูสมดุลของธรรมชาติ คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อย่าไปแยกคนออกไป บางกลุ่มอนุรักษ์ มองว่าให้แยกคนออกมาเลย ควรต้องมองว่าคนคือตัวหลักของธรรมชาติ แยกคนออกมา เหลือน้ำ เหลือดิน เหลือป่า ทำไมไม่นำคนมาพิจารณาร่วมว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

นำไอทีมาช่วยบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ดร.รอยล ย้ำว่าแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเปิด-ปิดประตูน้ำทุกเขื่อนด้วยระบบไอทีแบบเรียลไทม์นั้น เป็นการทำงานร่วมกันของ สนนก. กรมชลฯ กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรวบรวมข้อมูล และรายงานสถานการณ์ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำลองเป็นโมเดลขึ้นมา ตั้งแต่ฝนตก น้ำหลาก โดยโครงการนี้มีการนำร่องแล้วที่เขื่อนเจ้าพระยา และจากนี้จะมีการขยายผลไปที่ภาคอีสานโดยจะเริ่มในปีนี้ และถัดไป คือภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคตะวันตก จนครบทั้งประเทศคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี

“การนำระบบไอทีมาใช้กับการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา ในด้านการขุดลอกลำคลองแม่น้ำ ซึ่งจากระบบเดิมเห็นเพียงภาพน้ำที่อยู่ริมตลิ่ง 2 ฝั่งของเจ้าพระยา แต่หลังจากที่ใช้ไอทีเข้ามาช่วยจะทำให้เห็นได้ว่า ตะกอนไปกองอยู่ตรงไหน ดังนั้นเวลาขุดลอกไม่จำเป็นต้องขุดลอกทั้งลำน้ำอีกต่อไป”

ขณะเดียวกันยังมีแผนการจัดการน้ำในขั้นต่อไปของกรมทรัพยากรน้ำที่อยู่ระหว่างจัดทำโมเดลสำหรับนอกเขตชลประทาน เพื่อมาต่อเข้ากับระบบชลประทาน และเชื่อมต่อเข้ากับระดับน้ำที่อ่าวไทย ซึ่งโครงการนี้จะทำให้การบริหารจัดการน้ำนอกเขตพื้นที่กรมชลประทานมีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือซึ่งมีพื้นที่นอกเขตชลประทาน 87% และภาคอีสานถึง 94%

เมื่อโครงการนี้วางระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะทำให้สามารถบริหารจัดการได้ล่วงหน้า 7 วัน และสามารถประเมินสถานการณ์ เช่น ที่เขื่อนแม่กวงจะสามารถประเมินได้ว่ามีปริมาณน้ำในระดับใกล้จุดที่ต้องการเตือนหรือเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จากนั้นจะนำข้อมูลเหล่านี้มาลงในระบบ เพื่อจะจำลองการไหลของลำน้ำได้ทั้งหมด

ดังนั้นการที่ภาครัฐมีแผนการจัดการน้ำที่ดีแล้ว จะทำให้แก้ปัญหาน้ำได้ทั้งระบบคือไม่ให้มีน้ำท่วมและในช่วงหน้าแล้งก็ไม่เกิดปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำเหมือนที่ผ่านมา!

กำลังโหลดความคิดเห็น