xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ กรุงเก่าสั่งเก็บข้อมูล ปชช.ก่อนถูกน้ำท่วม “อ่างทอง” เร่งทำคันดิน-เกี่ยวข้าวหนีน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่น่าห่วง
พระนครศรีอยุธยา/อ่างทอง - ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา สั่ง 6 อำเภอพื้นที่เสี่ยงเก็บข้อมูล ปชช.ก่อนถูกน้ำท่วม ป้องกันการเรียกร้องรับค่าชดเชยเกินจริง ด้านชาวนาอ่างทอง เร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำทั้งที่ยังเขียวอยู่ เผยยอมขาดทุนดีกว่าผลผลิตจมน้ำเน่าเสีย ขณะที่เทศบาลเมืองอ่างทองเร่งเสริมคันดินป้องกันจุดเสี่ยงเขตเศรษฐกิจกลางเมืองริมเจ้าพระยา “อธิบดีกรมชลประทาน” ยันไม่มีน้ำเหนือไหลหลากจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยา และคาดว่าปริมาณน้ำปีนี้ถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่กระทบต่อภาคการเกษตร

นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางไทร อ.บางบาล อ.บางปะอิน และ อ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ได้รับน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้มีคำสั่งให้ทุกหมู่บ้านที่มีรายชื่อผู้นำท้องถิ่นถ่ายรูปบ้านเรือนประชาชนทุกหลังก่อนถูกน้ำท่วม ช่วงน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม หากเกิดสถานการณ์จะได้รายงานได้ทันที

พร้อมทั้งให้สำรวจพื้นที่ทำนากี่ไร่ เก็บเกี่ยวไปแล้วกี่ไร่ ยังไม่ได้ทำกี่ไร่ บ่อปลา เลี้ยงกุ้งมีจำนวนเท่าไหร่ พืชไร่ สวนครัว เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ มีจำนวนกี่ไร่ เรือแต่ละบ้านมีจำนวนกี่ลำ ให้รีบดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 วัน ก่อนที่มวลน้ำลูกใหญ่จะมาถึงเพื่อป้องกันการเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริง

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำตามโบราณสำคัญต่างๆ รอบเกาะเมือง จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ด้านหน้าวัดไชยวัฒนารามระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งเกือบ 2 เมตร แม้พบว่าน้ำสีแดงไหลแรง แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง

ส่วนตรงจุดหน้าโบราณสถาน ป้อมเพชร ตรงข้ามกับวัดพนัญเชิงวรวิหาร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สาย ได้แก่แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลรวมกัน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ส่งผลกับโบราณสถานริมน้ำแต่อย่างไร

ส่วนการระบายน้ำ วันนี้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 1020 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 22 ลบ.ม./วินาที เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำอยู่ที่ 80.03 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 29.55 ลบ.ม./วินาที เขื่อนพระรามหก ระบายน้ำอยู่ที่ 48.10 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 32.55 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำเฉลี่ยสูงขึ้น 5–10 เซนติเมตร ในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางบาล อ.บางปะอิน อ.บางไทร อ.เสนา และ อ.ผักไห่

**ชาวนาอ่างทองเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ

ที่ จ.อ่างทอง นายมงคล ธูปเหลือง อายุ 43 ปี ชาวนาพื้นที่ 1 ต.ตลาดใหม่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทำให้นาข้าวของชาวบ้านหลายพันไร่ในพื้นที่ ต.ตลาดใหม่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่กำลังใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตจมน้ำเสียหายจำนวนมาก ส่วนตนทำนาไว้ จำนวน 13 ไร่ ซึ่งใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว แต่พบว่า ฝนที่กระหน่ำตกลงมาทำให้เกิดน้ำท่วมข้าวในแปลงนาของตน จนไม่มีที่ระบายน้ำได้ เนื่องจากพื้นนาที่ติดกันก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน ตนจึงได้ตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมได้ว่าจ้างรถเกี่ยวข้าว จำนวน 3 คัน มาเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนาของตนทั้งที่ยังเขียวขจีอยู่เพื่อนำไปขายได้ต้นทุนกลับมาบ้างก็ยังดีกว่าปล่อยให้ข้าวจมน้ำข้าวเน่าเสียเก็บเกี่ยวไม่ได้

**เร่งเสริมคันดินป้องกันจุดเสี่ยงเขตเศรษฐกิจ

ด้านนายชัย สุวพันธุ์ นายกเทศมนตรีเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งเสริมคันดินป้องกันจุดเสี่ยงบริเวณบริเวณสำนักงานประปะส่วนภูมิภาคอ่างทอง ไปจนถึงด้านหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองอ่างทอง สูง 2 เมตร กว้าง 2 เมตร ระยะทาง 350 เมตร เนื่องจากเขื่อนเรียงหินสร้างเสร็จไม่ทันน้ำท่วม โดยดำเนินงานสร้างคันดินเพื่อเชื่อมต่อกำแพงเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วเพื่อรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"เมื่อถมคันดินเสร็จ ทางเทศบาลเมืองอ่างทองก็จะดำเนินงานนำแท่งแบริเออร์ตั้งแนวสองชั้นและเสริมคันดินระหว่างกลางสูงประมาณ 4 เมตรขนานไปกับคันดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณหน้าเทศบาลเมืองอ่างทองไปจนถึงหน้าประปาอ่างทอง ระยะทางประมาณ 350 เมตร เพื่อเพิ่มความเข็งแรงในการรับสถานการณ์เพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองอ่างทองต่อไป"

ด้านสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่สถานีชลมาตร C 7A หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง น้ำไหลผ่าน 988 ลบ.เมตร/วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 4.82 เมตรจากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเตือนบ้านริมตลิ่งเตรียมพร้อมรับสถานการณแล้ว

**“อธิบดีกรมชลประทาน” คาดปีนีน้ำเหนือไม่มาก

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ปริมาณน้ำขณะนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งปกติช่วงเดือนกันยายน จะมีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ และจะมีการระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีทุกปี โดยได้แจ้งไปยังชุมชนริมน้ำ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว และจากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ว่า ช่วงฤดูฝนที่เหลือจะมีปริมาณฝนตกมีเกณฑ์เฉลี่ยน้อย

ดังนั้น ปริมาณน้ำปีนี้จึงน่าจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่ง ยังมีปริมาณน้ำน้อยไม่ถึงร้อยละ 30 อยู่ถึง 5 แห่ง มีน้ำพอใช้ 16 แห่ง น้ำดี 10 แห่ง ปริมาณน้ำดีมากเพียง 2 แห่ง ซึ่งถือว่าสถานการณ์น้ำปีนี้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 35 และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 48 ทั้งที่เป็นเขื่อนหลักใช้เลี้ยงดู 22 จังหวัดที่ราบลุ่มภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

นายเลิศวิโรจน์ ยืนยันว่า ช่วงฤดูฝนขณะนี้ปริมาณน้ำปกติ ยังไม่มีน้ำเหนือไหลหลากจำนวนมาก โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเฉพาะบางพื้นที่ที่ไม่สามารถระบายได้ทันแต่คาดว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาะปกติ อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูฝนนี้อาจทำให้บางพื้นที่ฝนตกชุกต่อเนื่อง จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ เช่น จังหวัดสุโขทัย แต่ก็ยังมีแก้มลิงบางระกำใต้ลำน้ำยม ที่จะหน่วงน้ำไว้ ทำให้ไม่มีผลต่อปริมาณน้ำในภาพรวมที่จะมีผลต่อแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนการเพาะปลูกไม่มีปัญหา แต่เป็นห่วงพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำน้อยหลังสิ้นฤดูฝนอาจต้องเตรียมตัวเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้เหมาะสมต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่ ทั้งนี้ ก็จะต้องเฝ้าระวังหากฝนตกมากจนน้ำล้นตลิ่ง ก็ต้องเข้าไปบริหารจัดการร่วมกับทางจังหวัด โดยใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา กรมชลประทาน จะมีระบบป้องกันพื้นที่ให้สามารถรองรับน้ำ รวมถึงมีระบบสูบน้ำออกทะเลได้
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่น่าห่วง
เทศบาลเมืองอ่างทองเร่งสร้างคันดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ
เทศบาลเมืองอ่างทองเร่งสร้างคันดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ
ชาวนาในพื้นที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม
ชาวนาในพื้นที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม
ชาวนาในพื้นที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น