xs
xsm
sm
md
lg

พลิกสวนส้มสู่สวนปาล์มต้นแบบจัดการน้ำจากคลองรังสิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (คนที่ 5 จากซ้าย)
จากสวนส้มที่เผชิญโรคระบาดและเปลี่ยนสภาพเป็นดินเปรี้ยว เพาะปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้ ชุมชนคลองรังสิตในปทุมจึงผลิกผืนดินมาเป็นสวนปาล์ม สร้างร่องน้ำและกลายเป็นแก้มลิงรองรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จนกลายเป็นต้นแบบการจัดการน้ำที่ถูกยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนอื่นๆ



นายอักษร น้อยสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ชุมชนคลองรังสิตมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำการเกษตรกรรมแบบร่องสวนเป็นหลักโดยพึ่งพาแหล่งน้ำจากคลองรังสิตมาใช้ใน พื้นที่เกษตรกรรม แต่เดิมทำสวนส้มเขียวหวานแต่ประสบปัญหาโรคส้มระบาด เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสม ดินเปรี้ยว ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชทนต่อสภาวะดินเปรี้ยวและน้ำท่วมขังได้

“อีกทั้งในปี '54 ที่มีการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พื้นที่บริเวณคลอง 8 คลอง 9 และคลอง 10 ก็สามารถเก็บกักและหน่วงน้ำไว้ได้ตามคลองหลัก คลองซอยและร่องสวนปาล์ม จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรุนแรงเหมือนในพื้นที่อื่นๆ แต่ด้วยโครงสร้างการควบคุมระดับน้ำในพื้นที่ชำรุด ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ชุมชนจึงหันมาบริหารจัดการน้ำควบคู่กับการปรับวิถีเกษตรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่”

ล่าสุด มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับอำเภอหนองเสือและองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ จ.ปทุมธานี เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนคลองรังสิต จ.ปทุมธานี เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ กรอบแนวคิด มาพัฒนาการจัดการน้ำชุมชนจนประสบความสำเร็จ อันจะเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นมาศึกษาเรียนรู้โดยใช้พื้นที่จริงของชุมชน

ในส่วนของ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่า โครงการนี้สำเร็จได้ด้วยการที่ชุมชนนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้อย่างมีระเบียบแบบแผนและมีการพัฒนา ที่พระองค์ทรงมีราชพระประสงค์ให้ประชาชนรู้จักการจัดการน้ำอย่างถูกต้อง ด้วยพื้นที่คลองรังสิตเดิม ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ปีละ 700-800 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำจริงมีปริมาณถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

“อีกทั้งยังมีปัญหาดินเปรี้ยว ที่ทำให้ให้ปลูกส้มเขียวหวานไม่ได้ผล จนเกษตรกรในพื้นที่สวนส้มกว่า 50,000 ไร่ ได้รับผลกระทบขาดทุนและเป็นหนี้ธนาคารเกือบทั้งหมด หน่วยงานทางการเกษตรอย่างกรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเข้ามาช่วยเหลือโดยให้ชุมชนลองหันมาปลูกพืชอย่างอื่นแทน ประกอบกับการทำแก้มลิงเพื่อลดปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในพื้นที่” ดร.รอยลเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

พืชที่ชาวบ้านในพื้นที่นิยมปลูกในปัจจุบัน คือ ปาล์มน้ำมัน ซึ่ง ดร.รอยลกลาสวว่ามีข้อดี คือ สามารถปลูกตามแนวร่องสวนส้มเดิมได้เลย โดยไม่ต้องไถกลบ อายุเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้นเพียงแค่ 2 ปีก็มีทะลายปาล์มพร้อมตัดจำหน่าย โตเร็ว เป็นพืชที่ทนน้ำได้นานนับเดือนและที่สำคัญคือ ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตราคาดีที่สามารถนำมาแปรรูปได้ทั้งอาหาร พลังงานและยา ซึ่งนอกจากจะได้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่สวนยกร่องเดิม และในส่วนของการปลูกพืชแบบผสมผสานก็มีการปลูกมากมายหลายชนิด อาทิ แก้วมังกร มะม่วง ขนุน ตะไคร้ กล้วย ดาหลา ยางอินเดีย ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนอย่างเป็นกอบเป็นกำ แทนที่การทิ้งร่องสวนให้กลายเป็นพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์

“โครงการนี้ได้รับน้ำพระทัยจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงสนับสนุนแนวทางการบริหารจัดการน้ำ จึงได้พระราชทานเงินบริจาคของวิทยาลัยกระบวนการยุติธรรมกว่า 9 ล้านบาท เพื่อให้ สสกน.ใช้ดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และพัฒนาพื้นที่คลองรังสิตเป็นแก้มลิงแบบเพิ่มรายได้ ขยายผลการดำเนินงานโดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโคคา-โคลาประเทศไทย จาก 4 ตำบลเป็น 8 ตำบล 2 อำเภอครอบคลุมพื้นที่กว่า 230,000 ไร่ ซึ่งชุมชนหนองเสือเป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จ สมควรเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่น”

“มูลนิธิจึงได้จัดตั้งชุมชนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามพระดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงอยากให้มีไลฟ์มิวเซียม (Life museum) หรือพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้อยู่ในตัวอาคาร แต่อยู่ในพื้นที่จริงขึ้น เพื่อให้ประชาชนหรือชุมชนอื่นที่ยังประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ได้มาศึกษาดูงานและเรียนรู้เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาในชุมชนตัวเองต่อไป” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์กล่าว

ด้านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบึงชำอ้อ เสริมอีกว่าในขณะนี้โครงการปลูกปาล์มน้ำมันได้ดำเนินมาเรื่อยๆตั้งแต่ปี '54 จนถึงปัจจุบันปลูกไปแล้วกว่า 13,000 ต้น และเจริญเติบโตเป็นที่น่าพอใจ โดยในอนาคตยังมีมุมมองจากผู้รับซื้อปาล์มอีกด้วยว่า พื้นที่ชุมชนคลองรังสิตอาจกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าปาล์มน้ำมัน เนื่องจากการขนส่งที่สะดวกกว่า อีกทั้งคุณภาพของเนื้อปาล์มยังดีกว่าปาล์มน้ำมันจากทางภาคใต้อีกด้วย

สำหรับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนคลองรังสิต จ.ปทุมธานี แบ่งออกเป็น 3 จุดด้วยกัน

จุดที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เป็นการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ร่องสวน ที่มีการดูแลขุดลอกร่องสวนด้วยเรือขุดเลน ที่มีการพัฒนาขึ้นด้วยความรู้ความสามารถของชาวบ้านเอง

จุดที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในร่องสวนปาล์มน้ำมัน เป็นจุดตัวอย่างของบ่อพักน้ำและประตูระบายน้ำที่คนในชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง

จุดที่ 3 เพิ่มการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองรังสิต ด้วยการทำปาล์มน้ำมันและเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ มีการปลูกกล้วย ใบยางอินเดีย กูด แก้วมังกร ตะไคร้ สลับกับต้นปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

ดร.รอยลระบุอีกว่า เป็นความโชคดีที่ชุมชนหนองเสือเปิดใจยอมรับและน้อมนำการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ปัจจุบันนี้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าแต่เดิมมาก ชาวบ้านเริ่มตั้งตัวได้จากการเกษตรที่มีประสิทธิภาพด้วยการบริหารจัดการกันเองโดยแทบไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากทางการ เป็นชุมชนที่ยืนด้วยขาตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มและดำเนินไปได้ด้วยดีจากผู้นำชุมชนที่ดี และคนในชุมชนที่พร้อมเปลี่ยนแปลง

“การทำแก้มลิงแบบเพิ่มรายได้ เป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว เลยหากรู้และเข้าใจกันว่าเมื่อใด ควรนำน้ำเข้าและเมื่อใดควรเอาน้ำออก เพียงแค่รู้จังหวะของน้ำเพียงเท่านั้น คนที่ไม่เข้าใจจะมองว่าแก้มลิงคือสิ่งน่ากลัว เหมือนเป็นการนำน้ำมาทิ้งในพื้นที่ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ และยังมีพื้นที่อีกมากที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ในรูปแบบเดียวกับชุมชนหนองเสือ ไม่ใช่รอแต่ความช่วยเหลือจากกรมชลประทาน รอแต่ความช่วยเหลือจากคนอื่น” ดร.รอยล กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ภาพพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนคลองรังสิต จ.ปทุมธานี

นายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานในพิธี
จุดเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในร่องสวนปาล์มน้ำมัน (บ่อพักน้ำและประตูระบายน้ำ)
การปลูกปาล์มน้ำมันในร่องสวนสลับกับกล้วย
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ  ด้วยเรือขุดเลนที่ชาวบ้านพัฒนาขึ้น
การใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองรังสิต ด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่
การใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองรังสิต ด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่
การปลูกปาล์มน้ำมันริมคันนา






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น