xs
xsm
sm
md
lg

ไปดู "นวัตกรรมล้านนา" ภูมิปัญญาผูกพันสายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการนวัตกรรมล้านนา ณ ห้องแสดงนิทรรศการกลาง มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 57
เมื่อครั้งยังเป็นอาณาจักรล้านนา วิถีชีวิตของชาวล้านนานั้นผูกพันและเป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำ และก่อเกิดเป็นนวัตกรรมจาก “ภูมิปัญญาน้ำ” ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ทั้ง “หลุก” กังหันน้ำขนาดใหญ่จากลำไม้ไผ่ ระบบประปาหมู่บ้าน หรือฝายทดน้ำ นับเป็นอีกสุนทรีย์ของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

หากมีโอกาสได้มาชมมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2557 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อีกนิทรรศการหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือ “นิทรรศการนวัตกรรมล้านนา” ที่สะท้อนภูมิปัญญาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตควบคู่สายน้ำของผู้คนในอาณาจักรล้านนาออกมาได้อย่างน่าสนใจ

“อาณาจักรล้านนา ถ้าเปรียบกับในปัจจุบันจะประกอบไปด้วย 7 จังหวัดทางภาคเหนือคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีการตั้งถิ่นฐานตามแหล่งน้ำ ด้วยความเชื่อว่าอาณาจักที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีเศรษฐกิจการค้าและเป็นเมืองท่าที่ดี ดังนั้นอาณาจักรล้านนาจึงถูกก่อตั้งด้วยทิศของแม่น้ำทั้งหมด” เกศรินทร์ ยอดรัตน์ ผู้ให้ข้อมูลประจำนิทรรศการ อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วยเครื่องมือจำลอง และวิดิทัศน์ประกอบคำบรรยายเพื่อง่ายแก่การเข้าใจ ที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการจะพาไปเรียนรู้กันแบบทุกซอกทุกมุม เริ่มสิ่งที่โดดเด่นที่สุดตั้งแต่เดินเข้ามาภายในนิทรรศการคือกังหันน้ำยักษ์ หรือที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “หลุก”
หลุก
“หลุก” คือ ระบบกังหันที่นำน้ำจากธรรมชาติมาใช้ในหมู่บ้าน โดยใช้ระบบสายน้ำไหลขับเคลื่อนใบพัดกังหัน ตัวกังหันจะตั้งที่บริเวณน้ำไหลโดยหันให้ใบกังหันรับกระแสน้ำ เมื่อน้ำไหลผ่านแรงดันจากน้ำก็จะดันให้ใบวงล้อกังหันหมุนและขับเคลื่อนกังหันไปเรื่อยๆ โดยทุกวงล้อกังหันจะติดตั้งกะบอกไม้ไผ่วักน้ำอยู่ แล้วเมื่อน้ำเข้าสู่กระบอกไม้ไผ่และถูกหหมุนไปตามรอบกังหันเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดและค่อยๆหมุนลงด้านล่าง น้ำจากกระบอกไม้ไผ่ก็ถูกส่งลงไปยังรางรับน้ำเพื่อเข้าสู่ระบบประปาหมูบ้านต่อไป กระบอกไม้ไผ่เปล่านั้นก็จะทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีน้ำมากพอให้กังหันหมุนได้

“ตัวของกังหันของหลุกนั้นทำมาจากไม้ทั้งหมด ส่วนมากเป็นไม้ไผ่เพราะ เป็นไม้ที่หาได้ง่ายในป่าโตเร็ว และใน 1 ต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ทำให้ไม่ต้องมีขยะจากไม้เหลือทิ้งมากเกินควร เป็นการหาวัสดุใกล้ตัวง่ายมาใช้ ซึ่งมีใช้มาตั้งแต่สมัยพ่อขุนเม็งราย โดยเฉพาะที่บ้านทุ่งหลุก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากใช้ไม้มาเป็นแผ่นเหล็กกันบ้างแล้ว หลุกมีหลายขนาดตั้งแต่เล็กประมาณหน้ากว้าง 1 เมตรไปจนถึงขนาดใหญ่หลายๆเมตร แล้วแต่คนทำ ถ้าหลุกมีขนาดใหญ่มีกระบอกไม้ไผ่จำนวนมากก็จะทำได้น้ำมากขึ้น”

“ทว่าหลุกก็มีข้อจำกัดของเช่นกันคือถ้าน้ำน้อยไป หลุกก็จะไม่มีแรงดันทำให้ไม่สามารถทำงานได้ และถ้าน้ำมากไปหลุกก็ทานแรงต้านน้ำไม่ไหวก็จะไม่ทำงานเช่นเดียวกัน เพราะการทำงานทั้งหมดใช้เพียงแค่แรงดันน้ำไม่ได้ใช้มอเตอร์หรือ เครื่องมือช่วยอื่น ปัจจุบันยังมีหลุกใช้อยู่ที่สะพานแม่แตง ริมแม่น้ำปิงและตามหมู่บ้านชนบท แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การใช้เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และคนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยรู้จักหลุกกันแล้ว” เกศรินทร์ให้ข้อมูลต่อ
นาขั้นบันได
นวัตกรรมต่อมาที่อาจจะคุ้นตากันบ้างคือ “นาขั้นบันได” ด้วยลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นที่ลาดชัน เวลาน้ำจากต้นน้ำไหลลงมายังด้านล่างก็จะไหลอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางการเกษตรได้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่จึงเกิดแนวคิดในการทำนาขั้นบันไดขึ้นโดยขุดเขาให้เป็นขั้นและเจาะร่องให้น้ำไหลตรงกลาง เพื่อกักน้ำให้ไหลลงสู่ด้านล่างอย่างช้าๆ และมีน้ำพอในการทำเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรในพื้นที่มักปลูกพืชที่ต้องการน้ำอย่างข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว รวมไปถึงชา และกาแฟ
ประปาหมูบ้าน
ต่อไปคือส่วนของระบบ “ประปาภูเขา” เป็นระบบรองน้ำจากภูเขาสูงเข้าสู่หมู่บ้าน โดยอาศัยระบบรางไม้ไผ่ที่ผ่านการเอาข้อกลางออก แล้วต่อลงจากที่สูงสู่ที่ต่ำเข้าสู่บ่อเก็บของชุมชน เป็นวิธีที่ชาญฉลาดเพราะเป็นการลงทุนลงแรงรอบเดียว แต่สามารถมีน้ำไว้ใช้ในหมูบ้านได้โดยไม่ต้องขนน้ำ และเดินทางไกลเพื่อไปตักน้ำจากแหล่งน้ำในทุกๆ วัน

การสร้างประปาภูเขาจะเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายที่จะระดมกันหาไม้ไผ่ที่ได้ขนาด และมีคุณภาพดีมาช่วยกันติดตั้งจากปลายไม้ไผ่ต้นน้ำ เพื่อรองน้ำเข้าสู่ปลายทางคือชุมชน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำนัก โดยแต่ละชุมชนจะมี “แก่น้ำ” หรือผู้ดูแลแบ่งส่วนน้ำเป็นผู้แจกจ่ายน้ำไปยังบ้านเรือนต่างๆ จากหลักฐานพบว่า ระบบประปาภูเขานี้มีใช้มาตั้งแต่ชาวล้านนาเริ่มตั้งถิ่นฐานเมื่อ 600-700 ปีก่อน

“ฝายทดน้ำ” ก็เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งน่าสนใจของชาวล้านนา โดนมักใช้ประโยชน์ใน 2 แง่ คือ ใช้กั้นน้ำไม่ให้ไหลผ่านเร็วจนเกินไป เพื่อให้สามารถเก็บไว้ใช้ในการเกษตรได้เพียงพอ และอีกแง่หนึ่งคือการจำกัดกระแสน้ำไม่ให้ไหลกินพื้นที่ชายน้ำ เพื่อลดการกัดเซาะริมฝั่ง โดยจะเป็นการนำหินหรือสิ่งก่อสร้างจากธรรมชาติมาวางกำหนดขอบและกั้นกระแสน้ำไว้
น้องๆจากโรงเรียนห้วยป่าซาง จ.เชียงใหม่กับเรือหางแมงป่อง
มาถึงด้านยานพาหนะ ด้วยลักษณะของแม่น้ำทางภาคเหนือที่จะไหลเชี่ยวลงด้านล่างทำให้การทวนน้ำของเรือเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก อีกทั้งหินและวัตถุใต้น้ำก็มีมาก ชาวล้านนาจึงออกแบบเรือให้มีลักษณะเป็นเรือโค้ง คือโค้งทั้งหน้าเรือ ท้องเรือและท้ายเรือคล้ายพฤติกรรมของแมงป่องเวลาชูหาง เพื่อลดพื้นที่ผิวสัมผัส ให้ง่ายต่อการพายทวนกระแสน้ำ เรือแบบนี้จึงมีชื่อว่า “เรือหางแมงป่อง” ที่เป็นเรือขนาดค่อนข้างใหญ่สามารถบรรทุกสินค้าและผู้โดยสารได้ 30 คน โดยตัวเรือนิยมทำจากไม้สักเนื่องจากมีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรง ซึ่งปัจจุบันเรือนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ที่ท่าเรือหางแมงป่อง ริมแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่
เครื่องมือประมงชาวบ้าน
ในส่วนของเครื่องมือหาปลาก็มีการจัดแสดงให้ได้ดูกันมากมายหลายชนิดด้วย โดยแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของแหล่งน้ำ และชนิดปลาที่จะจับ เนื่องจากล้านนาเป็นอาณาจักรที่อยู่กับสายน้ำ การประมงน้ำจืดจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวล้านนา โดยเครื่องมือที่นิยมใช้จะมี “สุ่ม” ที่ไว้จับปลาที่น้ำตื้น “จิ๋วเล็ก” ไว้ดักปลาจากทางน้ำไหล และ “อีจู้” ใช้ดักปลาไหล เป็นต้น
ลักษณะเฮือนภาคเหนือ
มาถึงส่วนของบ้านหรือ “เฮือนของชาวล้านนา” เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีการออกแบบให้เป็นบ้านแฝดแบบใต้ถุนสูงเพราะคนสมัยก่อนอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ บ้านจะมีพื้นที่ใต้ถุนบ้านไว้เก็บของ และให้เด็กวิ่งเล่นอีกทั้งยังออกแบบไว้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ตามประวัติศาสตร์กล่าวถึงอุทกภัยต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านนาว่า “อาณาจักล้านนาก่อตั้งขึ้นด้วยทิศทางของแม่น้ำทั้งหมด เดิมทีลำพูนคือเมืองหลวงของล้านนาแต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนทิศของกระแสน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่จนอาณาจักรลำพูนล่มสลาย จึงเกิดการสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นมาแทน”

หน้าบ้านของชาวล้านนาทุกบ้านจะมีคนโทรองน้ำฝนไว้เพื่อให้คนเดินทางผ่านไปมาได้ดื่มกินดับกระหาย เป็นการแสดงน้ำใจของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี และยังมีวีดิทัศน์และการจำลองเส้นทาง 4 สายหลักปิง วัง ยม น่าน ที่หล่อเลี้ยง 7 จังหวัดล้านนาให้มีความอุดมสมบูรณ์ตราบจนถึงทุกวันนี้
น้องๆตั้งใจชมการสาธิตกิจกรรมพลังของสายน้ำ
นอกจากนี้ทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังได้นำกิจกรรมพลังการไหลของน้ำ ที่เป็นการจำลองการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและแม่น้ำที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์มาให้ชมกัน ซึ่งกิจกรรมพลังการไหลของน้ำนี้สามารถเข้ามาร่วมเล่นได้ไม่จำกัดรอบ พร้อมกับมีการให้ข้อมูลความรู้จากทีมงานประจำนิทรรศการอย่างละเอียดตลอดทั้งวันอีกด้วย


เกศรินทร์ ยอดรัตน์ ผู้ให้ข้อมูลประจำนิทรรศการนวัตกรรมล้านนา
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.จนถึงวันที่ 28 ส.ค.57 และติดตามข้อมูลข่าวสาร และรายละเอียดงานได้ที่ www.nsm.or.th/nst2014 หรือสอบถามรายละเอียดงานที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2577 9960

*****
บริการรถโดยสารไปยังงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ฟรี โดยมีเส้นทางเดินรถ 2 สายดังนี้

สาย 1
เริ่มต้นสายจากห้างโรบินสัน ผ่านหน้าโรงพยาบาลราม เลี้ยวซ้ายผ่านเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว จากนั้นตรงยาวผ่านห้างเมญ่า (MAYA) เลี้ยวขวาสี่แยกโรงแรมใหม่ภูคำ มุ่งหน้าเข้าสู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557

สาย 2
เริ่มต้นจากสายโลตัสคำเที่ยง เลี้ยวขวาผ่านตลาดบริบูรณ์ เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าเข้าสู่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2557






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น