ปรับความเข้าใจกันใหม่! แมงมุมน่ากลัวจริงหรือไม่? กัดคนตายจริงหรือมั่ว? มาทำความรู้จักกับ 2 แมงมุมชื่อชวนสับสน "แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล - แมงมุมน้ำตาล" และ "แมงมุมพเนจร" ที่กำลังกลายเป็นแพะรับบาป
สำหรับหมู "วิลเบอร์" แมงมุม "ชาร์ลอตต์" คือ "เพื่อนรัก" แต่ถึงแม้โลกจะรู้จักวรรณกรรมเยาวชนดังกล่าวมากกว่า 60 ปี แต่ทัศนคติของเราที่มีต่อแมง 8 ขากลับไม่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไร ยิ่งมีข่าวร้ายๆ ที่แมงมุมตกเป็นจำเลย สัตว์ตัวน้อยที่รักสงบจึงกลายเป็น "สัตว์ร้าย" ของสังคม ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ อาสาพาผู้อ่าน มาทำความรู้จักแมงมุมในมุมมองใหม่ๆ อีกครั้ง
นายประสิทธิ์ วงษ์พรม นักวิจัยด้านกีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุมหนึ่งเดียว ของเมืองไทยกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า หลายวันนี้เขาได้รับโทรศัพท์เยอะมากจากทั้งสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจ นับเป็นเรื่องที่ดีที่คนจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแมงมุม เพราะคนทั่วไปจะไม่ทราบว่าแมงมุมตัวไหนคือสายพันธุ์อะไร เพราะ ยังขาดความรู้ อีกทั้งยังดูลำบากด้วยขนาดตัวที่ไม่ใหญ่มากนัก และชื่อก็ยังคล้ายกันทำให้เกิดความสับสน โดยแมงมุมที่กำลังเป็นประเด็นและเกิดการเข้าใจผิดกันอยู่นั้นมี 3 ตัวด้วยกัน
ตัวแรกคือ "แมงมุมน้ำตาล" หรือ "แมงมุมพิษน้ำตาล" แมงมุมชนิดนี้คือแมงมุมที่ได้รับการยืนยันทางทีมแพทย์ ว่าเป็นสายพันธุ์ที่กัดชายหนุ่มที่จังหวัดแพร่ ลักษณะลำตัวของมันจะค่อนข้างยาว มีสีน้ำตาลซึ่งอาจมีได้หลายเฉดทั้งน้ำตาลอีอนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม มีขนขึ้นปกคลุมลำตัว มีตา 6 ตาเรียงกัน 3 กลุ่ม กลุ่มละ 2 ตา ขนาดตัวเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร วางไข่บนแผ่นไม้ ผนังหรือกระดาษ มักอาศัยอยู่ตามซอกที่แห้งแต่รกโดยรังจะไม่รกรุงรัง และออกหากินตอนกลางคืน
"ข้อสังเกตที่สำคัญคือ แมงมุมน้ำตาลจะมีสัญลักษณ์รูปไวโอลินอยู่ที่หน้าผาก ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดเจน และขาทั้ง 8 ขามีความยาวที่ใกล้เคียงกัน แมงมุมน้ำตาลไม่ดุร้าย ไม่ก้าวร้าว แต่มีพิษ โดยพิษนี้จะเป็นพิษที่มีผลต่อระบบเลือด ผู้ที่ถูกกัดอาจเป็นแผลและอักเสบ แต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมงมุมกล่าว
อีกตัวหนึ่งที่นับว่าเป็นแมงมุมที่มีพิษร้ายเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล แมงมุมชนิดนี้ไม่ใช่แมงมุมที่มีมาแต่เดิมในประเทศไทย แต่ปัจจุบันพบการแพร่ไปทั่วโลกรวมถึงไทยด้วยการขนส่งระหว่างประเทศ จัดได้ว่าเป็นแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงรองจากแมงมุมแม่ม่ายดำที่คาดว่ายังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทย แมงมุมแม่ม่ายจะมีลักษณะเฉพาะคือ หัวเล็กและส่วนท้องที่กลมโต แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลมีลำตัวสีน้ำตาลซึ่งอาจมีได้หลายเฉดตั้งแต่น้ำตาลเข้มจนถึงอ่อน
ข้อสังเกตแมงมุมแม่ม่ายที่สำคัญ 3 ข้อคือ เมื่อจับหงายท้องจะพบสัญลักษณ์คล้ายรูปนาฬิกาทรายสีส้มแดงอยู่คล้ายเครื่องหมายเตือนภัย ลักษณะขาที่ยาวไม่เท่ากัน โดยขาคู่หน้าและคู่หลังจะยาว ส่วนขา 2 คู่กลางจะสั้น และมีลักษณะถุงไข่ที่ไม่เหมือนแมงมุมชนิดอื่น โดยจะเป็นถุงไข่สีขาวนวลลักษณะฟูนุ่มแต่มีก้านสำหรับเกาะยึดอยู่ภายนอกจำนวนมาก
"แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลค่อนข้างรักสงบ ไม่รบกวนใคร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ชอบให้ใครมารบกวน พิษของมันค่อนข้างรุนแรงแต่การปล่อยพิษแต่ละครั้งก็ทำได้ไม่มาก แต่ต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที พิษของมันจะมีผลต่อระบบประสาททำให้ผู้ถูกกัดมีอาการชา และเป็นแผลไหม้แดงพุพอง"
มาถึงแมงมุมใจดีที่กลายเป็นแพะรับบาป นั่นคือ แมงมุมพเนจร แมงมุมชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่า 2 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้น มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีหนามที่ขา มีขนปกคลุมร่างกาย มีตา 8 ตาแบ่งเป็น 2 แถว แถวละ 4 ตา ลำตัวมีสีน้ำตาลอาจพบได้หลายเฉดตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม บางครั้งอาจเป็นลายสีน้ำตาลสลับกัน ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ขา 8 ขามีความยาวใกล้เคียงกัน
"แมงมุมนี้ไม่ทำรังเพราะจะย้ายที่อยู่ พเนจรไปเรื่อยๆ ตามชื่อของมัน โดยจะคาบไข่ที่มีลักษณะแบนๆ ไว้ที่ปาก เป็นแมงมุมใจดีที่คอยปราบแมลงสาบในบ้านกินแมลงสาบและแมลงตัวเล็กๆ เป็นอาหาร แต่ด้วยหน้าตาและลักษณะที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับแมงมุมน้ำตาล ทำให้แมงมุมพเนจรโดนหางเลขกลายเป็นผู้ร้ายไปด้วยจนถึงขั้นมีคำกล่าวที่ว่า "เจอที่ไหนให้ทำลายทิ้งทันที" ประสิทธิ์กล่าว
ในส่วนของ ผศ.ดร.ดวงแข สิทธิเจริญชัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านกีฏวิทยาและผู้เลี้ยงแมงมุมเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ความจริงแล้วในธรรมชาติแมงมุมมีประโยชน์มากทั้งทางด้านการช่วยกำจัดแมลง กำจัดศัตรูพืช นอกจากการเป็นผู้ล่าที่ดีแล้วแมงมุมยังจัดเป็นผู้รักษาระบบนิเวศน์ที่ดีมากตัวหนึ่ง แต่ถ้าหากพบแมงมุมทั่วไปก็ไม่ควรไปจับหรือสัมผัสมัน
"เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันจะกัดเราหรือไม่ เพราะแมงมุมเกือบทุกชนิดมีพิษทั้งสิ้น ความรุนแรงและความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคลและปัจจัยอื่นๆ และโดยส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยกับการกำจัดแมงมุมเพราะนอกจากจะทำให้ระบบนิเวศน์เสียแล้วยังเป็นการทารุณสัตว์ ควรแก้ไขจากการเก็บกวาดบ้านเรือนตนเองให้สะอาดไม่เป็นที่หลบซ่อนของแมงมุมจะดีเสียกว่า" ผศ.ดร.ดวงแขให้ความเห็น
ทางด้านของ นายฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เอื้อเฟื้อภาพถ่ายแมงมุมให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พูดถึงความรู้สึกในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ว่า แมงมุมไม่ใช่สัตว์ที่น่ากลัว ตอนถ่ายภาพยังมีโอกาสได้เอามือเขี่ยเล่นอยู่บ่อยครั้ง แต่ทำแค่เบาๆ ไม่ใช่การรบกวนจนแมงมุมหงุดหงิด ส่วนที่มีการบอกให้ทำลายแมงมุมเมื่อพบ ส่วนตัวเขาคิดว่ามันคือเรื่องธรรมดา เพราะความกลัวทำให้คนเรามองไม่เห็นทาง ความกลัวทำให้เราทำได้ทุกอย่างเพื่อให้เราได้อยู่รอด แต่เหล่านี้ล้วนอยู่บนฐานของการขาดซึ่งข้อมูล การขาดซึ่งข้อมูลก็มาจากการศึกษาที่ผิดพลาดมาตั้งแต่เรื่องของนโยบายและวิสัยทัศน์
"เราต้องแก้ปัญหาที่เรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เช่นเรื่องแบบนี้ แค่เรื่องแมงมุม สัตว์ตัวเล็กๆ ยังเป็นเรื่องที่คนเข้าใจกันผิด เพราะการเผยแพร่ให้คนในประเทศรู้นั้นมีน้อยมาก เราเน้นกันแต่การตีพิมพ์งานวิจัยระดับนานาชาติ เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง แล้วชาวบ้านที่ไหนเขาจะเข้าถึงข้อมูลได้ ตนว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลเองก็ยังเป็นเรื่องที่ล่าช้าไม่ทันการณ์อยู่มาก ผมมองว่าชาวบ้านเขาขาดข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้เขาก็กลัว เมื่อกลัวเขาก็พยายามทำทุกอย่างที่จะรอดได้ การแตกตื่นกระโตกกระตากไปเรื่อยไม่ได้ช่วยอะไร การตระหนักแล้วมองข้อเท็จจริงจากธรรมชาติน่าจะดีที่สุด" นายฉัตรพรรษกล่าว