สกว.-นักวิจัยแม่โจ้เปิดตัวลูกชิ้นตีนไก่ประดู่หางดำเสริมคอลลาเจนแก่ผู้บริโภค รสอร่อยเคี้ยวมันเหมือนลูกชิ้นเอ็น ในงานเสวนาไก่พื้นเมืองพร้อมใช้ ด้าน สกว.จับมือภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และเกษตรกร สร้างความเชื่อมั่นและยกระดับมาตรฐานคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสัตว์ปีกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยถึงความพร้อมของไก่พื้นเมือง ซึ่งปัจจุบันพร้อมนำไปสู่การประกอบอาชีพทุกระดับ ระหว่างการประชุมเสวนา “ไก่พื้นเมืองพร้อมใช้: ความหวังใหม่ของเกษตรกรและปศุสัตว์” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อเร็วๆ นี้ และรายงานให้ทราบเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของไก่พื้นเมืองที่ผ่านมา พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์และพันธกิจในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาไก่พื้นเมือง รวมถึงการผลิตในระบบอุตสาหกรรมสัตว์ปีกต่อไป ระหว่างการ
ด้าน ผศ.ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงพันธุ์และความแข็งแกร่งทางวิชาการว่า นับตั้งแต่ปี 2544 สกว.ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองโดยดึงศักยภาพที่โดดเด่นของไก่แต่ละสายพันธุ์ เพื่อทำการปรับปรุงพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดตั้งแต่รายย่อยจนถึงภาคอุตสาหกรรม ทั้งผลผลิตไข่ การเจริญเติบโต และคุณภาพเนื้อไก่ โดยมีหัวใจสำคัญคือ การคัดเลือกสายพันธุ์ การผสมพันธุ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและสร้างองค์ควมรู้ในการประเมินพันธุกรรมและยีน จนเกิดความก้าวหน้าและผลตอบสนองในแต่ละรุ่น ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
"ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นสามารถพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองได้ 5 สายพันธุ์แล้ว แต่ยังจะต้องทำการวิจัยและพัฒนาต่อไปเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ซึ่งคุณลักษณะที่ดีท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงระบบการตรวจสอบการปลมปน ทั้งนี้จะร่วมกับเครือข่ยต่าง ๆ ในการหาแนวทางการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่ามีความก้าวหน้าในงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และยืนยันได้ว่ามีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนการผลิตไก่พื้นเมืองอย่างเต็มที่" ผศ.ดร.วุฒิไกรกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า รูปแบบตอบสนองอาชีพของชุมชนและเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มจากการสร้างระบบอาชีพให้เกษตรกร จุดขาย จุดต่าง และความภาคภูมิใจในอาชีพ โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ สกว. และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีใจเกินร้อยแต่มีโอกาสในการเข้าถึงสายพันธุ์ที่ดีได้น้อยจึงต้องพึ่งพานักวิชาการ
"นับตั้งแต่ปี 2555 คณะวิจัยได้เริ่มการสร้างอาชีพโดยนำนวัตกรรมองค์ความรู้ลงสนามในสภาพที่แท้จริงของเกษตรกรใน 8 จังหวัดภาคเหนือ สร้างความเข้าใจว่าการเลี้ยงไก่ไม่ใช่เพียงเลี้ยงให้รอดแต่ต้องมีมาตรฐานและรายได้ที่มากพออย่างสม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการไก่พร้อมใช้ และให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมมรดกที่ตกทอดมาได้ รวมถึงการสร้างตลาดชุมชนใกล้ตัวเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองอันเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเกษตรกร ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี ภายใต้ตัวชี้วัด 3 ประการคือ มีกำไร ขยายโอกาสการผลิตสู่เกษตรกรรายอื่นหรือชุมชนใกล้เคียง และการพึ่งพาตนเอง ทั้งจากการสร้างฝูงพ่อแม่พันธุ์และการใช้ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อเป็นพืชอาหารและลดการใช้อาหารสำเร็จรูป ซึ่งในปีที่สองนี้จะเน้นเรื่องมาตรฐานและการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยตัวเกษตรกรเอง" รศ.ดร.ศิริพร
สำหรับโอกาสไก่ไทยในต่างประเทศนั้น นายกณพ สุจิฆะระ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด กล่าวว่า การเจรจาธุรกิจกับตัวแทนจากญี่ปุ่นซึ่งนิยมสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง พบว่า มีในการขอเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาถูกผูกขาดและไม่เกิดผลดีในการทำธุรกิจระยะยาว เช่นเดียวกับตลาดในประเทศก็ควรกำหนดโครงสร้างราคาที่เหมาะสมเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของไก่พื้นเมือง เพื่อไม่ให้มีการปลอมปน การตกค้างของสารเคมีและยาต้องห้ามนับตั้งแต่กระบวนการเลี้ยง จนถึงกระบวนการจำหน่ายและส่งออก จึงต้องมาทบทวนกันว่าจะมีหน่วยงานใดเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการทำงาน มาตรฐานการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยอาหารให้เกิดแต้มต่อกลไกราคา ซึ่งจะต้องทำร่วมกันเป็นกลุ่มทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และภาครัฐ
ขณะที่นายอนันต์ สินมานนท์ รองประธานฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคมและประสานงานภาครัฐ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงแผนงาน “ครัวโคราช...ไก่โคราช” ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก นครราชสีมาก็ทำแผนแม่บทครัวโคราชสู่ครัวโลกบนฐานวัตถุดิบที่มีอยู่ ซึ่งหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้จัดทำแผนช่องทางการตลาดโดยขอความร่วมมือจากโรงแรมและร้านอาหารในการจัดชุดเมนูไก่โคราช การจำหน่ายในร้านขายของฝาก ร้านส้มตำ ร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมัน รวมถึงบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ อาทิ ป้ายผ้า โปสเตอร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น
ในโอกาสนี้ รศ. ดร.ศิริพร ได้เปิดตัวลูกชิ้นตีนไก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปล่าสุดจากไก่ประดู่หางดำ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตีนไก่เหลือใช้นอกเหนือจากเมนูไก่ซุปเปอร์ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเปี่ยมด้วยโปรตีนและคอลลาเจน อีกทั้งผู้บริโภคยังได้อรรถรสในการรับประทานเช่นเดียวกับลูกชิ้นเอ็น จึงได้รับความนิยมเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยปัจจุบันมีวางจำหน่ายเฉพาะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่เท่านั้น เนื่องจากมีกำลังการผลิตเพียง 50 กก. เพราะผลิตในโรงงานแปรรูปของกรมปศุสัตว์เพียงเดือนละครั้ง