xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.-ลาดกระบังเผยผลวิจัยคลื่นจากเสามือถือ ท่ามกลางความเคลือบแคลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสทช. จับมือ พระจอมเกล้าลาดกระบัง เผยการวิจัยผลกระทบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณมือถือต่อมนุษย์ หวังคนไทยเลิกกังวล แต่ผู้ร่วมงานแย้งงานวิจัยไม่ครอบคลุม และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดแถลงผลการศึกษากระทบของการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของมนุษย์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.57 ณ สโมสรทหารบก ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมฟังการแถลงด้วย

นายธวัชชัย พุ่มพวง นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงงานวิจัยว่า ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันคนเรามากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการติดตั้งสถานีสัญญาณให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยจุดประสงค์ที่ทำการวิจัยนั้นเพื่อเป็นการศึกษา วิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นการทำงาน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านชีวอนามัยเพื่อผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจเกิดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ทีมวิจัยได้ศึกษากลุ่มประชากรในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในรัศมีน้อยกว่า 300 เมตร เพื่อหาค่าการดูดซับพลังงานจำเพาะ (specific absorption rate : SAR) ซึ่งเป็นอัตราพลังงานที่ถูกดูดกลืนโดยเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนของร่างกายเปรียบเทียบกับขีดจำกัดมาตรฐานของคณะกรรมการนานาชาติด้านการดูแลคลื่นความถี่ที่ไม่ใช่กัมมันตภาพรังสี (International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection) หรือ ICNIRP เพื่อศึกษาผลกระทบของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเสาส่งสัญญาณที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค

ข้อมูลจากทีมวิจัยระบุว่า ผลจากการวัดระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานทั้งสิ้น 40 สถานีที่บริเวณห่างออกไปจากเสาสัญญาณทั้งสิ้น 6 ระดับคือ 0-50 เมตร, 100-200 เมตร, 200-300 เมตร, 300-400 เมตร, 400-500 เมตร พบว่า ยิ่งบริเวณห่างจากเสาสัญญาณจะมีความแรงของสัญญาณน้อยลง โดยในแต่ละพื้นที่สถานี พบว่าค่าการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน "ต่ำกว่าขีดจำกัดมาตรฐานที่กำหนดไว้มาก" โดยค่าที่วัดได้น้อยกว่า 5% ของมาตรฐานค่าขีดจำกัดความเข้มสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่ออ้างตามมาตรฐานสากล "โดยประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีวิทยุคมนาคมที่ทำการตรวจวัดมีความปลอดภัยจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกจากฐาน"

ส่วนผลการวิเคราะห์ค่าดูดซับพลังงานจำเพาะที่บริเวณศีรษะด้วยระบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ โดยใช้ค่าความแรงสนามไฟฟ้าสูงสุดจากสถานีฐานในพื้นที่จริง ต่อเนื้อเยื่อ 10 กรัม นายธวัชชัยระบุว่า ค่าดูดซับพลังงานจำเพาะสูงสุดในทุกภูมิภาค มีค่าต่ำกว่าขีดจำกัดมาตรฐานของ ICNIRP อย่างมาก โดยค่าอัตราดูดซับพลังงานจำเพาะสูงสุดที่วัดได้มีค่า 23.4 มิลลิวัตต์ต่อกิโลกรัม (mW/Kg) ซึ่งขีดจำกัดตามมาตรฐานที่ไทยยอมรับได้อยู่ที่ 2.0 วัตต์ต่อกิโลกรัม (W/Kg)

“ทุกสถานีพบการแผ่นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน ต่ำกว่าขีดจำกัดตามมาตรฐาน ICNIRP ที่ 58 โวลต์ต่อเมตรที่ความถี่ 1800 เมกกะเฮิร์ตซ์ โดยค่าสูงสุดที่วัดได้คือ 1.5 โวลต์ต่อเมตร ที่ ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี อีกทั้งการกระจายตัวของค่าอัตราการดูดซับพลังงานจำเพาะในบริเวณสมองนั้น มีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าสูงสุดที่พบบริเวณผิวหนังและกระโหลกศีรษะ เมื่ออ้างอิงกับขีดจำกัดตามมาตรฐานสากล ค่าอัตราการดูดซับพลังงานจำเพาะที่บริเวณศีรษะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ" นายธวัชชัยกล่าว

จากการวิจัยทั้งในทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและทางชีวการแพทย์ ที่พิจารณาค่าขีดจำกัดความเข้มสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และค่าอัตราการดูดซับพลังงานจำเพาะโดยอ้างอิงมาตรฐานสากล ทีมวิจัยสรุปว่า การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประะทศไทยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และให้ข้อมูลเพิ่มว่า ผลจากหลักฐานที่มีในปัจจุบันยังบอกอีกว่า ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าาจากตัวเครื่อง มากกว่า จากเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่

“คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้ในระบบการสื่อสารอาจก่อมะเร็งกลุ่ม 2B แต่มีหลักฐานน้อยมากที่ระบุว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และมีหลักฐานน้อยเกินไปที่จะระบุว่าก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในสมองและประสาทหู ในผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเวลานาน มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนผลต่อความจำ ระบบสืบพันธุ์และการเกิดโรคในอวัยวะอื่นๆ ยังไม่ชัดเจน” นายธวัชชัยระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ธเนศ พัฒนธาดาพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ภารกิจหลักของทีมวิจัยคือ การทำความเข้าใจกับประชาชน ให้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการวิจัย ค่าที่ได้จะนำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อเป็นจุดอ้างอิง ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและความปลอดภัย

“เนื่องจากเทคโนโลยีทุกชนิดมีข้อจำกัด เราจำเป็นต้องลงพื้นที่ดูเสาสัญญาณ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์กับฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ แล้วอธิบายผลการศึกษาที่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ และความร่วมมือจากภาคประชาชนที่อาจจะยังมีอคติต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้เปลี่ยนมุมมอง เราไม่ได้ฟันธงว่าแม่เหล็กไฟฟ้าปลอดภัย แต่เราต้องการทำความเข้าใจกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่มีการตั้งสถานีฐานส่งสัญญาณ" ผศ.ดร.ธเนศ กล่าว
อย่างไรก็ดี ทางด้าน ผศ.ชาครี มาลีวรรณ อาจารย์ด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมาฟังแถลงข่าวในนามส่วนตัวให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาเห็นว่างานวิจัยนี้ยังไม่ครอบคลุม และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นประโยชน์เมื่อเหมาะสม แต่จะเป็นโทษหากไม่มีการควบคุม

“สำคัญที่สุดคือการติดตั้งเสาส่งสัญญาณว่าได้มาตรฐานหรือไม่ นักวิชาการพูดความจริงกับประชาชนทั้งหมดหรือเปล่า และควรจะมีการศึกษาในเชิงระบาดวิทยาเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์จริง เพราะ"หากมีผู้หวังผล มากกว่าความจริง และสุขภาพประชาชน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ" ผศ.ชาครีให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์

เช่นเดียวกับนายสุพล สุขศรีมั่งมี นักวิชาการอิสระ ที่มีความเห็นต่องานวิจัยนี้ในเชิงเดียวกันว่า นอกจากงานวิจัยนี้จะไม่ครอบคลุมแล้ว ยังอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่อันตราย แต่ความจริงแล้วมันมีแน่นอน ผู้วิจัยควรให้ความชัดเจนทางด้านสุขภาพของประชาชนมากกว่านี้และต้องมีการอ้างอิงที่ชัดเจน ทั้งยังแนะอีกว่า กสทช.ควรแก้กฏหมายการจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่

"ถ้าผมเป็นครู ผมให้โปรเจคต์นี้ตก" นายสุพลให้ความเห็นอย่างติดตลกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์


ผศ.ชาครี มาลีวรรณ
นายสุพล สุขศรีมั่งมี ขณะซักถามข้อสงสัย

Instagram









กำลังโหลดความคิดเห็น