สกว. – คืบหน้าโครงการพัฒนาเครื่องตรวจระเบิดด้วยระบบเรดาร์ สกว.หนุนทุนวิจัย 25 ล้านบาทอีก 2 ปี เพื่อพัฒนาระบบประมวลผลจากเรดาร์
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานการนำเสนอผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมขีดความสามารถเรดาร์สำหรับการป้องกันการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่อง ที่มี พ.ท.ดร.สันทนะ บุรินทรามาตย์ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เป็นหัวหน้าโครงการ
พร้อมกันนี้ตัวแทนจากหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) กองทัพบก และผบ.ร.5พัน3 รวมถึง รศ. ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว สำนักประสานงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศ สกว. จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น ณ สกว. เมื่อเร็วๆ นี้
ผอ.ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.เผยว่า จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลอบวางระเบิดที่ส่งผลสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อีกทั้งส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง รวมถึงเป็นวิธีการที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เหตุระเบิดยังได้ผลอยู่เสมอคือ ความยากลำบากในการตรวจพบวัตถุระเบิดโดยเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
"สกว.เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 7.6 ล้านบาท แก่คณะวิจัยซึ่งมีแนวคิดในการนำระบบเรดาร์ที่ใช้งานอยู่ทั่วไปทางพลเรือนมาประยุกต์ใช้กับการทหารเพื่อตรวจหาการลอบวางระเบิด โดยมีเป้าหมายในการออกแบบระบบประมวลผลข้อมูลเรดาร์ให้สามารถตรวจหาและแจ้งเตือนได้โดยอัตโนมัติ" ดร.จันทรวิภากล่าว
การทำงานดังกล่าวถือเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างการใช้งานเรดาร์ทางพลเรือนและทางทหาร เนื่องจากการใช้งานของพลเรือนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วิเคราะห์ตีความข้อมูลสัญญาณเรดาร์ภายหลังเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูล แต่การใช้งานทางทหารจะต้องสามารถทำการแจ้งเตือนได้โดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้สภาพการทำงานที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทย
หลังจากดำเนินการศึกษาเป็นระยะเวลา 18 เดือน คณะวิจัยประสบความสำเร็จในการออกแบบระบบการประมวลผลสัญญาณเรดาร์เพื่อใช้ในการตรวจหาวัตถุระเบิดแบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟต์แวร์การประมวลผลสัญญาณเรดาร์เฉพาะทางสำหรับใช้งานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำมาซึ่งการลดการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และยุทโธปกรณ์ของกองทัพ อีกทั้งคาดหวังว่าจะพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับการประมวลผลเรดาร์เฉพาะทางและจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพื่อปรับปรุงเรดาร์ของพลเรือนที่มีจำหน่ายในท้องตลาดให้เป็นเรดาร์สำหรับงานด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศของ สกว.
“สกว.ยินดีที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะวิจัยโครงการนี้ต่อไปเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี ภายใต้งบประมาณไม่เกิน 25 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบประมวลผลสัญญาณเรดาร์ทางทหารให้สามารถใช้งานได้ง่ายโดยไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอยากให้คณะวิจัยเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและลดการสูญเสียกำลังพลในการปฏิบัติงาน โดยได้เสนอแนะให้มีผู้แทนของหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของคณะวิจัยด้วย เพื่อจะได้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม” ผอ.ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. กล่าวสรุป