นักวิจัย สกว.ย้ำชัดสึนามิยังไม่เกิดในไทย แต่เตือนอย่าประมาทและเตรียมพร้อมรับมือ แจงข้อเท็จจริงควรทราบ สึนามิจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7-8 ริกเตอร์ขึ้นไป หรืออุกกาบาตชนโลกหรือเกิดพื้นดินถล่มลงในมหาสมุทร
รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นประธานแถลงข่าว เรื่อง “สึนามิเมืองไทยรอบสอง ความเป็นไปได้หรือข่าวลือ” ณ ห้องประชุม สกว. เมื่อ 25 มิ.ย.57 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอการวิเคราะห์เหตุการณ์คลื่นลมแรงทั้งจากฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย จากเครือข่ายนักวิชาการของ สกว. ที่จะชี้แจงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงคลายข้อวิตกกังวลว่าจะเกิดสึนามิในประเทศไทยอีกครั้งหรือไม่ ด้วยองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพิบัติภัยธรรมชาติของนักวิจัยจาก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นเวทีรับฟังแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันหาทางออกในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ
รศ.ดร.อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร อธิบายว่า ปรากฏการณ์คลื่นลมแรงที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยมีแหล่งกำเนิดจากมหาสมุทรอินเดียที่นำมวลอากาศชื้นมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุกทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเลและเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมก็จะอ่อนกำลังลงและมีลมหนาวพัดจากจีนเข้ามาแทนที่
ส่วนแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ที่ทำให้เกิดสึนามิในปี 2547 นั้น เกิดขึ้นตามแนวมุดตัวระหว่างแผ่นมหาสมุทรอินเดียมุดใต้แผ่นพื้นทวีปพม่า แล้วปลดปล่อยพลังงานเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา 2.3 หมื่นลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเนื่องจากไม่มีระบบเตือนภัย ทั้งนี้ แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจะเกิดแผ่นดินไหวได้มากมายทั้งแนวด้านตะวันตกและตะวันออกของประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยตามลำดับ
“แต่คำถามของสังคมว่าจะมีโอกาสเกิดสึนามิรอบสองหรือไม่นั้น ตามหลักแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกที่ชายฝั่งตะวันตกบริเวณเกาะสุมาตรา มีการมุดตัวด้วยอัตรา 67 มิลลิเมตรต่อปี และเป็นแนวที่ยาว ทำให้พลังงานจำนวนมหาศาลถูกปลดปล่อยไปและอาจกระตุ้นให้เกิดแรงสั่นสะเทือนยังจุดอื่นได้ จึงยังนับว่ามีความเสี่ยงอยู่” รศ.ดร.อมรกล่าว
การเกิดซ้ำของแผ่นดินไหวขนาด 8.5 ริกเตอร์ตามแนวมุดตัวสุมาตรนี้ จะเกิดได้ทุก 300 ปี แต่ รศ.ดร.อมร ย้ำว่ามีค่าความไม่แน่นอนสูง ซึ่งนักวิจัยกำลังวิเคราะห์กันอยู่แต่ไม่ง่ายที่จะบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเวลาใดบ้าง โดย 6 จังหวัดที่มีความเสี่ยง ได้แก่ พังงากระบี่ ระนอง ภูเก็ต ตรัง ระนอง สตูล และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ส่วนชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แนวมุดตัวที่ใกล้ที่สุดคือ แนวร่องมะนิลา แต่ก็อยู่ไกลมากและใช้เวลาเดินทางนานนับสิบชั่วโมงกว่าจะมาถึงอ่าวไทย เราจึงสามารถเตือนภัยได้ทัน อีกทั้งความสูงคลื่นจะลดลงตามระยะเวลาที่เคลื่อนที่ผ่านมา จึงไม่น่ากังวลแต่อย่างใด
“ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ คือ สึนามิจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7-8 ริกเตอร์ขึ้นไป หรืออุกกาบาตชนโลกหรือเกิดพื้นดินถล่มลงในมหาสมุทร แต่แผ่นดินไหวบนบกเช่น ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ไม่ทำให้เกิดสึนามิได้ และแผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้นั้นต้องเกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกในแนวดิ่ง จึงยอมรับว่าฝั่งอันดามันมีความเสี่ยงและไม่ควรประมาท ต้องเฝ้าระวัง ขณะที่ชายฝังอ่าวไทยมีความเสี่ยงจากสึนามิน้อยมาก แต่เสี่ยงจากพายุหมุนเขตร้อนที่อาจเปลี่ยนเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นได้มากกว่า โดยเฉพาะไต้ฝุ่น ซึ่งมีคาบการเกิดซ้ำ50 ปี” อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรระบุ
รศ.ดร.อมรกล่าวว่า คลื่นสึนามิเกิดจากแผ่นดินไหว หากไม่มีระบบแจ้งเตือนสึนามิ อาจเกิดความเสียหายมาก โดยมีข้อสังเกตคือ ชายฝั่งทะเลจะแห้งและน้ำลดลง สำหรับมาตรการลดผลกระทบที่ควรดำเนินการ คือ การติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิรวมถึงมีแผนที่หลบภัย รวมถึงต้องมีมาตรการซักซ้อมอพยพด้วย ส่วนมาตรการด้านอาคารและที่หลบภัยแนวดิ่งหรือแนวตั้ง ทำได้ 3 รูปแบบ คือ การปรับปรุงอาคารที่มี่อยู่ให้เป็นสถานที่หลบภัย การก่อสร้างอาคารหลบภัยแบบชั่วคราว หรือแบบถาวร
“ตัวอย่างมาตรการด้านอาคารที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่น ชายหาดป่าตอง ภูเก็ต กำหนดให้มีอาคารในพื้นที่ที่แข็งแรงเป็นอาคารหลบภัย ส่วนพื้นที่ชุมชนรีสอร์ทเฉพาะแห่ง เช่น เขาหลัก จ.พังงา ควรสร้างแบบชั่วคราว ขณะที่บางพื้นที่เป็นชุมชนประมงขนาดใหญ่ เช่น บ้านน้ำเค็ม ควรสร้างแบบถาวร ทั้งนี้ไม่ควรสร้างห้องใต้ดินเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการเตือนภัย และต้องใช้วัสดุคุณภาพดี” รศ.ดร.อมรกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทำความเข้าใจต่อภัยแผ่นดินไหวและสึนามิที่ถูกต้องว่า ภัยแผ่นดินไหวยังเป็นภัยธรรมชาติประเภทเดียวที่ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ ตามหลักมาตรฐานระดับสากลนั้นไม่ต้องการที่จะทำนายแผ่นดินไหว เพราะแม้จะทำนายได้ก็ไม่สามารถย้ายบ้าน และสถานที่สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ ดังนั้น ความพยายามที่จะลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จึงสำคัญที่สุด
“ไม่ควรหลงเชื่อข่าวลือในการทำนายแผ่นดินไหวเพราะจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก และจำเป็นต้องมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวโดยความร่วมมือของทุกประเทศไทยในโลก ซึ่งสามารถบอกได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่จุดใดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมายังไม่มีสถานีใดตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลอันดามัน ศูนย์เฝ้าระวังทั่วโลกยังไม่มีคำเตือนและหน่วยงานราชการยังไม่แจ้งเตือน ข่าวที่แพร่ออกมาว่าจะเกิดจึงเป็นเพียงข่าวลือ ทั้งนี้ หากมีสึนามิจะมีการประกาศเตือนแผ่นดินไหวใหญ่ทั่วโลกและแจ้งเตือนถึงระยะเวลาที่คลื่นจะเข้าฝั่งภายในเวลา 30 นาที” ดร.ธีรพันธ์กล่าว
จากประวัติการเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เหตุการณ์น้ำท่วมและคลื่นลมทะเลที่สูงผิดปกติเนื่องจากพายุ อาจถูกเข้าใจผิดและบันทึกเป็นสึนามิได้ ซึ่ง ดร.ธีรพันธ์กล่าว ย้ำข้อเท็จจริงว่า การเกิดสึนามิในมหาสมุทรอินเดียที่เกิดโดยรอยมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกด้านทะเลอันดามันค่อนข้างจะมีพลัง และก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ได้ แต่รอยมุดตัวของนี้อยู่ห่างจากไทยประมาณ 500-600 กม. ดังนั้น ระบบเตือนภัยที่มีอยู่จึงสามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าอย่างน้อยประมาณ 1-3 ชม.
“เหตุการณ์ในปี 2547 นั้นไม่เกิดขึ้นบ่อยเพราะต้องใช้เวลานานในการสะสมพลังงานเนื่องจากแผ่นเปลือกโลกใช้เวลาดันเข้าหากัน แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจมีผลต่อกรุงเทพฯ ซึ่งในบริเวณภาคตะวันตกของพม่าเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่มากกว่า 8.5 ริกเตอร์ และมีรอบการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 8.0 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดขึ้นจริงแต่ระบบเตือนภัยของไทยก็สามารถแจ้งเตือนได้ก่อนคลื่นเข้ามา ดังนั้นการเตรียมความพร้อมภัยแผ่นดินไหวและสึนามิโดยการสร้างอาคารให้แข็งแรงจึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุด” ดร.ธีรพันธ์กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.อาณัติ เรืองรัศมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แนวมุดตัวที่มีผลต่อไทยคือ ฝั่งตะวันตกของฟิลิปปินส์ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อันเป็นผลจากการมุดตัวของเปลือกโลก ไทยอยู่ห่างหลายพัน กม. แต่ก็ได้ทำการศึกษาภาพจำลองสึนามิโดยอาศัยข้อมูลที่จำเป็น คือ แผนที่ภูมิประเทศใต้ท้องทะเล ศึกษาจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์ วิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของผิวโลกและผิวน้ำ โดยมีระยะเวลาในการเดินทางเข้าหาชายฝั่งจากรอยเลื่อนมะนิลาถึงอ่าวไทยหลายสิบชั่วโมงและคลื่นจะลดระดับความสูงลง ดังนั้นจึงมีเวลาเพียงพอที่จะเตือนภัย
ส่วนเราจะอยู่กับภัยสึนามิได้อย่างไรนั้น ผศ.ดร.อาณัติ กล่าวว่า จากการจำลองสึนามิและการเตือนภัยสึนามิของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และระบบของภูมิภาค พบว่าความจำเป็นที่ต้องมีการจำลองสึนามิจะช่วยตอบคำถามว่าบ้านเรือนของประชาชนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์จะอพยพไปที่ใด สึนามิจะมาถึงตอนไหนและมีเวลาอพยพนานเท่าใด โดยใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จำลองการยกตัวของเปลือกโลกและผิวน้ำ ซึ่งขั้นตอนการจำลองสึนามิ คือ ข้อมูลความลึกของทะเล ประเมินขนาดแผ่นดินไหว ความลึก ตำแหน่ง คำนวณการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก ทำการจำลองสึนามิ นำเสนอผล ได้แก่ เวลาที่มาถึงและความสูง
“จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยทุกท่านสรุปได้ว่าการเดินทางของคลื่นฝั่งอ่าวไทยใช้เวลาเดินทางนานนับสิบชั่วโมง และความสูงคลื่นจะลดไปในระดับที่เล็กน้อยมาก ดังนั้นจึงหมดความกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการเตรียมความพร้อมและระมัดระวังกันมากขึ้น โดยความเสี่ยงของการเกิดสึนามิจะอยู่ที่ฝั่งอันดามันมากกว่า เพราะอยู่ใกล้เคียงแนวมุดตัวของเปลือกโลกสิ่งที่ควรกังวลคือพายุหมุนเขตร้อนมากกว่า เพราะสึนามิใช้เวลาสะสมพลังงานนานมาก แต่อาจกระตุ้นให้เกิดแนวอื่นได้ จึงตองเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง” รศ. ดร.อมร กล่าวสรุป