นักวิจัยแม่โจ้พบน้ำมันปลาน้ำจืดลูกผสมให้โอเมก้า 9 สูงกว่า ปลาทะเล 3 เท่า มีสรรพคุณต้านมะเร็ง ลดเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงสมองและประสาท ผลพวงจากความพยายามพัฒนาพันธุ์ปลาให้โตเร็ว กลบจุดด้อยปลาบึกโตช้า และได้ปลาเนื้อขาวลบภาพลักษณ์สวายปลาวัดที่กินทุกอย่างเป็นอาหาร
ผศ.ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล คณะเทคโนโลยีการประมง และทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาพันธุ์ “ปลาบึกสยาม” ซึ่งเป็นปลาลูกผสมระหว่างปลาบึกและปลาสวาย ซึ่งเป็นการดึงจุดเด่นและลบจุดด้อยของปลาทั้งสองชนิด
“แต่เดิมภาพลักษณ์ปลาสวายในสายตาคนไทย ไม่ค่อยดีนัก เพราะเนื้อเหลือง มันเยอะ เป็นปลาในเขตวัดที่กินทุกอย่างเป็นอาหาร ส่วนปลาบึกก็หัวใหญ่ เนื้อน้อย โตช้า กว่าจะเลี้ยงให้ได้ขนาดที่คนนิยมบริโภคต้องใช้เวลา 3-5 ปี ซึ่งเกษตรกรต้องแบกรับภาระเป็นเวลานานเกินไป จึงเกิดความพยายามปรับปรุงพันธุ์ปลา 2 ชนิดนี้ขึ้น” ผศ.ดร.ดวงพรเผย
ผศ.ดร.ดวงพร ยังให้ข้อมูลอีกว่า รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน คณบดีคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ปลาลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ทำงานด้านพัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาบึกอยู่ก่อนแล้ว แต่เห็นว่าตลาดปลาบึกไปต่อไม่ได้ เพราะเกษตรกรต้องแบกรับภาระ 3-5 ปีกว่าจะได้ขาย และเนื่องจากมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แท้ของทั้งปลาบึกและปลาสวาย จึงนำมาผสมข้ามสายพันธุ์เกิดเป็นปลาลูกผสมนี้ขึ้น
เหตุที่นำปลาทั้งสองชนิดมาผสมกันนั้น นักวิจัยจากแม่โจ้อธิบายว่า เพราะปลาทั้งสองชนิดเป็นปลาหนังที่มีความใกล้ชิดกันทางอนุกรมวิธาน อีกทั้งยังมีจำนวนโครโมโซมเท่ากันจึงสามารถนำมาผสมข้ามสายพันธุ์กันได้ และได้พัฒนาให้เป็นปลาหนังที่มีเนื้อสีขาวโตเร็ว และตั้งชื่อ “ปลาบึกสยาม”
"ขณะนี้เราได้พัฒนาพันธุ์ปลาบึกสยามจนถึงรุ่น 3 ที่มีลักษณะพันธุ์ค่อนข้างเสถียร ปลาบึกสยามในรุ่นนี้จะตัวโต เนื้อเยอะ เนื้อปลามีสีขาวอมชมพู รสชาติดี และเมื่อนำส่วนก้อนไขมันมาสกัดเป็นน้ำมันปลาก็ได้ผลดีจนเป็นที่พึงใจของผู้ วิจัยและเกษตรกร” รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ปลาลูกผสมสายพันธุ์ใหม่นี้ นอกจากจะนำไปบริโภคและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เนื้อปลาแล่พร้อมปรุง ไส้กรอกปลา ไส้อั่วปลาแล้ว ผศ.ดร.ดวงพรเผยว่า ยังสามารถนำส่วนไขมันจากช่องท้องและส่วนหัว ที่เหลือจากการแปรรูปมาสกัดเป็นน้ำมันปลาคุณภาพดี มีโอเมก้าสูงเทียบเคียงได้กับปลาทะเล โดยที่โดดเด่นที่สุดคือ น้ำมันปลาจากปลาบึกสยามมีโอเมก้า 9 สูงเทียบเท่าน้ำมันงา หรือน้ำมันมะกอกที่มีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานของสมองและการต้านอนุมูลอิสระ
“แต่เดิมเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมนำปลาไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ ก็จะนำเหลือส่วนของก้อนไขมันจากปลาไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งมีมูลค่าประมาณลิตรละ 20 กว่าบาท อาจารย์จึงคิดว่าทำไมเราไม่เอาของเหล่านี้มาเพิ่มคุณค่าในรูปของอาหารเสริม จากทำน้ำมันไบโอดีเซลจะได้ราคาลิตรละ 20 กว่าบาท แต่ถ้าเรามาทำเป็นน้ำมันปลาสกัดนำคุณค่าที่มีอยู่ในตัวปลามาขาย เราจะได้ราคาถึงลิตรละ 5,000 บาท” ผศ.ดร.ดวงพรกล่าว
ก่อนหน้านี้ทีมวิจัย ได้สกัดน้ำมันปลาจากปลาบึกและปลาสวายเช่นกัน พบว่าน้ำมันปลาสกัดจากปลาบึกมีคุณภาพดีที่สุด แต่มีลักษณะเป็นไขมันอิ่มตัว ข้นขุ่นไม่น่ารับประทานและยากต่อการเก็บในอุณหภูมิห้อง ส่วนน้ำมันปลาสกัดจากปลาสวายมีคุณภาพต่ำที่สุด แต่มีลักษณะน้ำมันที่เหลวใส จึงได้ริเริ่มการทำน้ำมันปลาสกัดจากปลาลูกผสมขึ้น
“ทีมวิจับพบว่าน้ำมันปลาสกัดจาก “ปลาบึกสยาม” เป็นน้ำมันปลาที่มีคุณภาพดีรองจากปลาบึก แต่มีลักษณะทางน้ำมันที่ดีกว่า มีความใสและสีเหลืองสวย โดยชิ้นส่วนไขมันจากช่องท้องและหัวปลา 1 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำมันปลาได้ถึง 500 มิลลิลิตร” ผศ.ดร.ดวงพรเผย
ผศ.ดร.ดวงพร ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์อีกว่า จากงานวิจัยในปี '56 ที่ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับทีมแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสามารถยืนยันได้ว่า น้ำมันปลาจากปลาหนังน้ำจืดมีคุณภาพของไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัว ดีเทียบเท่ากับน้ำมันปลาสกัดจากปลาทะเลที่วางขายตามท้องตลาด และที่สำคัญคือ น้ำมันปลาสกัดจากปลาหนังน้ำจืดมีปริมาณ กรดไขมันโอเมก้า 9 มากกว่าน้ำมันปลาสกัดทั่วไปถึงเกือบ 4 เท่า
“เมื่อนำน้ำมันปลาจากปลาหนังน้ำจืด ที่ประกอบด้วยกรดโอเมก้า 9 ในปริมาณสูง ปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวสัตว์ทดลอง 1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือนพบว่า ลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ 23% ลดระดับไขมันในเลือดได้ 45% และเพิ่มความไวในการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน และน้ำมันปลาหนังลูกผสมความเข้มข้น 1% ยังสามารถช่วยฟื้นประสิทธิภาพการทำงานของโปรตีนขนส่งยาเข้าสู่เซลล์มะเร็ง ตับ จากภาวะออกซิเดชันให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ ซึ่งน่าจะมีผลดีในการนำมาผลิตเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และมะเร็งตับได้”