xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเกาหลีปรับปรุงพันธุ์พืชด้วย “นิวเคลียร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ประจำ ARTI ระหว่างปรับปรุงพันธุ์สาหร่าย
หลายคนอาจไม่ทราบไทยและเกาหลีเริ่มพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในเชิงสันติมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และในโอกาสที่ผู้สื่อข่าวพิเศษประจำทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนิวเคลียร์เกาหลี จึงได้รวบรมภาพและข้อมูลมาฝาก

การใช้งานด้านการเกษตรเป็นตัวอย่างหนึ่งในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของเกาหลี โดยผู้สื่อข่าวพิเศษได้ร่วมคณะสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ของไทยไปติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสถาบันวิจัยพลังงานนิวเคลียร์เกาหลี (Korea Atomic Energy Research Institute: KAERI) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแดจอนเมืองวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้

นั่งรถออกจากแดจอนไปกว่า 2 ชั่วโมงเราก็ไปถึงสถาบันเทคโนโลยีรังสีประยุกต์ (Advanced Radiation Technology Institute: RATI) หน่วยงานใต้สังกัด KAERI ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองจองอัพ โดยภายในสถาบันแห่งนี้มีการงานวิจัยที่มุ่งเน้นไปที่การใช้งานรังสีตามจุดประสงค์ของรัฐบาลแดนโสมขาวที่ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2000 และมีหลายส่วนงานวิจัย อาทิ สำนักอำนวยการวิจัยและประยุกต์ใช้ไซโคลตรอน ฟาร์มขยายพันธุ์พืชด้วยรังสี

เราได้รับการต้อนรับจาก RATI ให้เข้าชมงานวิจัยด้านการเพาะขยายพันธุ์ด้วยรังสี ซึ่งภายในส่วนวิจัยนี้เราได้เห็นตัวอย่างพืชหลายชนิดที่ผ่านการปรับปรุงด้วยรังสี อาทิ ข้าวเกาหลีที่ปกติมีต้นเต้ย เม็ดเล็ก ก็ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้ต้นสูงและมีเม็ดที่โตขึ้น หรือสาหร่ายที่มีการบริโภคมากจนผิลตไม่ทัน จึงต้องปรับปรุงให้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ดอกต่างๆ อาทิ กุหลาบ กล้วยไม้ ดอกไม้ประจำชาติของเกาหลี รวมถึงไม้มงคลที่ตลาดเกาหลีนิยม

ท่ามกลางนานาพันธุ์พืชที่ผ่านการปรับปรุงด้วยรังสีเราได้เห็นกุหลาบสีม่วง ซึ่ง นางวรรณา วิมลวัฒนาภัณฑ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ สทน. ผู้นำคณะเจ้าหน้าที่ไทยและสื่อมวลชนไปเยือนเกาหลีใต้ครั้งนี้ กระซิบบอกเราว่า สำหรับไทยก็มีการปรับปรุงพันธุ์พืชดอกให้ได้สีสันตามต้องกัน อย่างการปรับปรุง “บัวหลวงสีเหลือง” ซึ่งเป็นบัวหลวงจากสหรัฐฯ ที่นำมาผสมกับบัวหลวงสีชมพันธุ์ไทย แล้วได้เป็นบัวหลวงสีเหลืองที่มีชื่อว่า “จันทร์โกเมน”

สำหรับรังสีที่นำมาใช้ภายในสถาบัน RATI นี้ เป็นผลผลิตทางรังสีที่ได้จากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฮานาโร (HANARO: High Flux Advanced Neutron Application Reactor) ขนาด 30 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ภายในสำนักงานใหญ่ของ KAERI ในแดจอน ซึ่งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ดังกล่าว มีกำลังใหญ่กว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของไทย ซึ่งตั้งอยู่ภายใน สทน. ที่บางเขน 3 เท่า

สำหรับ KAERI นั้นเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลแห่งแรกของเกาหลี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ก.พ. 1959 ปัจจุบันพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์จนมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องที่ 3 คือ ฮานาโร ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1985 และบรรจุเชื้อเพลิงแล้วเดินเครื่องถึงสภาวะวิกฤตขั้นต้น (initial criticality achievement) ในปี 1995 โดยการติดตั้งระบบอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และมีการใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการศึกษา วิจัย รวมทั้งผลิตสารไอโซโทปรังสีเพื่อใช้ทางการแพทย์ไปยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ส่วนสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทย แยกออกจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เมื่อ 21 เม.ย. 2006 โดยมีภารกิจหลักในการวิจัย พัฒนา บริการและเผยแพร่กรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ขณะที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยของไทยนั้นเริ่มเดินเครื่องเข้าสู่สภาวะวิกฤตเมื่อเดือน พ.ย. 1977
ดอกไม้ประจำชาติเกาหลีได้ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยนิวเคลียร์เช่นกัน
กุหลาบที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ ได้รับการอนุบาลในโรงเรือน
ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม
กุหลาบสีม่วง
ไม้มงคล
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสาหร่าย
สาหร่ายที่เพาะเลี้ยงหลังปรับปรุงพันธุ์

โสมเกาหลีก็ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ด้วยนิวเคลียร์
ข้าวเกาหลีที่มีเมล็ดเล็ก ต้นสั้น ได้รับการปรังปรุงให้เมล็ดโตขึ้น และมีต้นสูงขึ้น
โรงเรือนเพาะเลี้ยงพันธุ์พืชที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์
แปลงเพื่อปลูกทดสอบพันธุ์พืช








กำลังโหลดความคิดเห็น