สกว. สนับสนุนนักวิจัย มอ. พัฒนาปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสม “เทเนอราทรัพย์ ม.อ.1” ที่มีจุดเด่นทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง จนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร พร้อมจำหน่ายพันธุ์แก่เกษตรกรที่สนใจ
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร พร้อมคณะ เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าโครงการปาล์มน้ำมัน พร้อมกับเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการชีวเคมีและเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ทางด้าน ศ.ดร.ธีระ เอกสมทราเมษฐ์ ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการ “การบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเทเนอราเชิงพาณิชย์” นำเสนอรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับข้อมูลด้านการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมัน ทั้งการบริโภคครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงไบโอดีเซล โดยนักวิจัยได้ทำการคัดเลือก ผสมพันธุ์ และทดสอบศักยภาพการตอบสนองของพันธุ์ลูกผสมเทเนอรา “พันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1” ในสภาพแวดล้อมต่างๆ
จากการทดสอบนักวิจัยได้ใช้จุดเด่นของ “พันธุ์ดูรา” ที่ดีที่สุดผสมกับ “พันธุ์พิสิเฟอรา” แล้วทำการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ลูกผสมเทอเนอรา ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ กะลาบาง ทนแล้งได้ดี และให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ขณะนี้ได้เริ่มจำหน่ายต้นกล้าที่ผ่านการทดสอบให้แก่เกษตรกรในราคาต้นละ 120 บาท โดยผลการทดสอบในแปลงเกษตรกรจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 ด้วยอัตราเฉลี่ย 2.123 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งสูงกว่าพันธุ์การค้า 8 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1.926 ตันต่อไร่ต่อปี
ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 4 ตันต่อไร่ต่อปี ที่อายุ 5 ปี ถึง 6 ตันต่อไร่ต่อปีเมื่ออายุ 8 ปี รวมทั้งยังได้มีการพัฒนาชุดทดสอบสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันอย่างง่ายที่สามารถจำแนกสายพันธุ์ และยืนยันความสัมพันธ์ผลผลิตปริมาณน้ำมันได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา
รศ.ดร.จันทร์จรัส กล่าวว่า สกว. ต้องการสนับสนุนการวิจัยชุดนี้เนื่องจากมีความจำเพาะบนฐานความรู้ ฐานพันธุกรรมปาล์มน้ำมันเทเนอรา และความเข้มแข็งของวิชาการทั้ง 3 ด้าน คือ การปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์ และการใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอในการรับรองต้นพันธุ์ที่สามารถให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง จากผลสำเร็จของงานวิจัยนี้สามารถยื่นขอจดทะเบียนต้นพ่อแม่พันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 จากกรมวิชาการเกษตร จนได้หนังสือรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นที่ใช้เวลานานถึง 4 ปีกว่าจึงจะเริ่มให้ผลผลิต และใช้เวลาในการพัฒนาของทะลายอีก 1 ปี รวมทั้งสิ้น 5 ปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีต้นพันธุ์และแปลงที่เก็บข้อมูลต่อเนื่องมากว่า 20 ปี มีกระบวนการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์และทดสอบพันธุ์ในสภาพแวดล้อมการผลิต 4 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามีผลผลิตสูง สามารถปรับตัวได้ดีในทุกสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะการทนแล้งที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ได้แนะนำให้นักวิจัยนำพันธุ์ไปทดสอบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแตกต่าง และมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดตั้งหน่วยบริการเชิงพาณิชย์เพื่อบริหารงานการตลาดและดูแลงานส่วนนี้โดยตรง หรือจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีการบริหารจัดการด้านการตลาดและกำหนดราคาที่สมเหตุสมผล ขณะที่มหาวิทยาลัยก็ให้บริการสังคมโดยให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการผลิต การจัดการในแปลง และคำแนะนำการใช้พันธุ์ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่เกษตรกรอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและบริการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โทรศัพท์ 074 -212849, 074 -286219 E- mail: wandee.su@psu.ac.th