ถ้าไม่ปลูกข้าวขาวที่ปลูกกันทั่วไป ชาวนาจะมีทางเลือกอะไรได้อีกบ้าง เพื่อเลี่ยงปัญหาไม่ได้เงินจากการจำนำข้าว และพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง โดยไม่หวังพึ่งพิงนโยบายระยะสั้นแบบ “ลด แลก แจก แถม”
“ความจริงมีชาวนาที่ปลูกข้าวโดยไม่อิงนโยบายอยู่ส่วนหนึ่ง เราจึงเห็นชาวนาที่เลือกปลูกข้าวแบบอินทรีย์ หรือข้าวคุณภาพที่มีมูลค่าสูง” รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าว
ในฐานะผู้บริหารหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย รศ.ดร.จันทร์จรัส กล่าวว่านักวิจัยจะต้องช่วยให้ชาวนาเห็นทางเลือกในการปลูกข้าวที่เหมาะสม และวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นบทเรียนให้ชาวนาได้เปลี่ยนวิธีคิดว่าการปลูกข้าวให้ได้เยอะๆ ไม่ใช่วิธีที่ได้ผล
ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ได้รับทุนสนับสนุนแผนการวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน ในกลุ่มเรื่องข้าว จาก วช.เป็นเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งได้งานวิจัยที่ต่อยอดเชิงพาณิชย์ 21 โครงการ และเป็นองค์ความรู้ 39 โครงการ
ผลงานจากทุนวิจัยในปี '55 ได้จัดแสดงภายในการสัมมนาเสนอรายงานความก้าวหน้าการวิจัยในรอบ 5 เดือน ระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ.57 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ซึ่งจัดขึ้นโดย วช.ร่วมกับ สวก.
ตัวอย่างงานวิจัยจากงบประมาณดังกล่าว อาทิ การแปรรูปข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัวเป็นขนมปัง ซาลาเปา เต้าฮวย ชาข้าวคั่ว สาโท หรือโยเกิร์ตจากข้าว และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้มีต้นสูงหรือเตี้ยหรือเปลี่ยนเป็นข้าวเหนียว เป็นต้น
“ข้าวที่เรากินอยู่ทุกวันนี้เป็นผลผลิตจากการวิจัยที่มีการคัดเลือกพันธุ์มาแล้ว แต่เรากินโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือผลผลิตจากงานวิจัย” รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชน
ด้าน รศ.ดร.จันทร์จรัส เสริมว่า หากชาวนาสามารถเข้าถึงตัวอย่างงานวิจัยที่นำเสนอได้ก็จะเป็นทางเลือกในการปลูกข้าวที่ไม่อิงกับนโยบาย และชาวนาต้องรับผิดชอบโดยเลือกทางเลือกว่าในพื้นที่ของตัวเองนั้นควรจะปลูกชาวแบบไหน
ปัญหาที่เกิดขึ้น รศ.ดร.พีรเดช ชี้ว่า เป็นผลจากการที่ชาวนาเลือกปลูกข้าวที่สร้างปัญหาในที่นี้คือข้าวขาวทั่วไป ซึ่งชาวนาควรจะเลือกปลูกข้าวที่มีมูลค่าสูงขึ้น อย่างเช่นข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่ข้าวดังกล่าวมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และฤดูกาลปลูก ทว่ามีงานวิจัยที่กำลังปรับปรุงพันธุ์ข้าวดังกล่าวให้ปลูกได้ทั้งปี ซึ่งงายวิจัยจะช่วยสร้างทางเลือกแก่ชาวนา
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.พีรเดช กล่าวว่า งานวิจัยที่นำเสนอตอนนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดในวันนี้ได้ และถึงจะนำปัญหาที่เกิดมาศึกษาวิจัยก็ไม่สามารถตอบโจทย์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของงานวิจัยที่ต้องยอมรับ
“ข้าวที่มีอยู่ตอนนี้เลยเวลาที่เราจะเข้าไปแก้ปัญหาได้ ข้าวยิ่งเก็บไว้นานก็เสื่อมสภาพ ถึงเราวิจัยในวันนี้ก็แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ และถึงนำไปแปรรูปได้ แล้วจะมีโรงงานไหนที่มีความสามารถในการรองรับการแปรรูปข้าวปริมาณมาก” ผอ.สวก.กล่าว
ในความเห็นส่วนตัวของ รศ.ดร.พีรเดช มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับข้าวของชาวนานั้นแยกเป็น 2 ส่วน คือ ข้าวดีและข้าวเสีย ในส่วนของข้าวดีนั้นรัฐบาลควรรีบระบายออกให้เร็วที่สุด ส่วนข้าวเสียไม่สามารถฟื้นคืนได้ บางคนเสนอว่าเอาไปทำปุ๋ยหรือแอลกอฮอล์ซึ่งไม่คุ้ม แต่ก็ต้องเลือกว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร
“แต่หากทำแอลกอฮอล์ก็จะกระทบโรงงานผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อยและมันสำปะหลังที่มีอยู่เดิม เหมือนว่าจะเจอทางตัน ซึ่งงานวิจัยจะช่วยดักทางปัญหาเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทำให้ชาวนามีทางเลือก ไม่ปลูกข้าวที่สร้างปัญหา” รศ.ดร.พีรเดชให้ความเห็นส่วนตัว
พร้อมกันนี้ รศ.ดร.จันทร์จรัส ยังกล่าวถึงประโยชน์จากการลงทุนวิจัย โดยยกตัวอย่างการลงทุนวิจัยข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 เมื่อ 40 ปีที่แล้วเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท ซึ่งผลจากการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่ามีอัตราผลตอบแทนภายใน (internal rate of return) ถึง 70% ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกที่มีการศึกษาตัวเลขอย่างชัดเจน
ทางด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต้องดึงความรู้เก่าจากการวิจัยมาใช้ แต่ต้องเร่งกำหนดออกมาเป็นนโยบาย และอีกแนวทางหนึ่งคือการทำวิจัยเชิงนโยบายว่าหาทางแก้ว่าควรจะทำนโยบายแบบไหน จะรับจำนำหรือประกันราคาผลิตผลทางการเกษตร