xs
xsm
sm
md
lg

ปรับปรุง “ผัก-ผลไม้” ให้อร่อยถูกใจไม่ต้องพึ่ง GMO

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผักและผลไม้ชนิดต่างๆสามารถปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นและอร่อยขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอ (ภาพจาก http://www.scientificamerican.com/Wikimedia Commons/Peggy Greb, U.S. Department of Agriculture)
จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้พริกที่เผ็ดสุดๆ ในโลกอย่างพริกฮาบาเนโร กลายเป็นพริกที่ไม่เผ็ดเลย หรือทำให้มะเขือเทศมีรสอร่อยโดนใจไม่ทำให้ลิ้นต้องผิดหวังทุกครั้งที่ลิ้มรสโดยไม่ต้องใช้การตัดต่อพันธุกรรมเข้ามาช่วย

เรื่องดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าเป็นไปได้ก็คงต้องอาศัยเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อให้ได้พืชพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะตรงตามความต้องการ หรือที่เรียกกันว่าพืชจีเอ็มโอ (genetically modified organisms : GMOs) อย่างที่มีนักวิทยาศาสตร์ทดลองทำมาแล้วหลายชนิด

...ทว่ายังมีนักปรับปรุงพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่พยายามปรับปรุงพันธุ์พืชผักและผลไม้ให้มีความแปลกใหม่ ถูกใจทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค โดยไม่ใช้เทคโนโลยีที่ยังเป็นข้อถกเถียงดังกล่าว...

นับเป็นความถ้าทายของไมเคิล มาซูเรค (Michael Mazourek) นักวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ในสหรัฐฯ และทีมวิจัย ในการปรับปรุงพันธุ์พริกฮาบาเนโรที่ขึ้นชื่อว่าเผ็ดที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ให้มีรสชาติที่ละมุนละไม จนเราสามารถกัดเข้าไปในผลพริกได้ราวกับผลแอปเปิล หรือมีกลิ่นหอมควัน มีรสขมเฝื่อนๆ หรือมีรสชาติอ่อนๆ ของไส้กรอก ซึ่งสิ่งที่นักวิจัยสนใจที่สุดของพริกฮาบาเนโรที่มีกลิ่นและรสชาติที่ซับซ้อนเหล่านั้นคือ การปราศจากความเผ็ดร้อน

มาซูเรค ได้รับเมล็ดพันธุ์พริกฮาบาเนโรจากเพื่อนนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโกสเตต (New Mexico State University) สหรัฐฯ ที่เมื่อนำมาปลูกจนออกดอกออกผล กลับพบว่าผลพริกฮาบาเนโรที่ได้ไม่แสดงความเผ็ดในอัตราส่วนสโควิลล์ (Scoville) ซึ่งนักวิจัยเจ้าของเมล็ดพันธุ์พริกดังกล่าวคิดว่า มาซูเรคผู้เป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่สนใจในความเผ็ดร้อนของพริก คงสนใจใคร่ศึกษาเกี่ยวกับพริกฮาบาเนโรที่อ่อนรสเผ็ดด้วยตัวเอง

ตามรายงานในวารสารไซแอนทิฟิกอเมริกัน (Scienctific American) มาซูเรคนำเมล็ดพันธุ์พริกฮาบาเนโรที่ได้รับมาทดลองปลูกในเรือนกระจกจนต้นพริกเติบโตและออกดอก แล้วจัดการผสมเกสรกับพริกฮาบาเนโรทั่วๆ ไป กระทั่งได้ต้นพริกรุ่นลูก และรุ่นหลานจำนวน 600 ต้น ซึ่งแต่ละต้นนั้นมีดีเอ็นเอของต้นพริกรุ่นพ่อแม่ผสมกันอยู่

ในขณะที่ทีมวิจัยทดลองชิมพริกฮาบาเนโรพันธุ์พิเศษนั้น พวกเขาก็ทำการตัดใบพริกแต่ละต้นไปสกัดดีเอ็นเอ และวิเคราะห์ว่าในดีเอ็นเอของพริกแต่ละต้นบ่งบอกรสชาติอะไร ซึ่งทีมวิจัยก็สามารถแยกยีนที่มีการกลายพันธุ์อย่างจำเพาะ ที่เป็นตัวอธิบายว่าทำไมพริกฮาบาเนโรบางต้นจึงสูญเสียความเผ็ดร้อนไป

ทั้งนี้ ความเผ็ดร้อนของพริกเกิดจากสารในพริกที่เรียกว่า แคปไซซิน (capsaicin) และการเอาต่อมที่สร้างสารแคปไซซินในพริกออกไป นอกจากจะทำให้พริกเผ็ดน้อยลงแล้วยังส่งผลให้กลิ่นหอมของพริกลดลงด้วย ซึ่งพริกฮาบาเนโรที่ไม่เผ็ดนี้เป็นผลมาจากการกลายพันธุ์แต่ไม่ทั้งหมด

มาซูเรคและทีมวิจัยใช้เวลาอีกหลายปีต่อมาในการปรับปรุงพันธุ์พริกฮาบาเนโรด้วยความอุตสาหะ โดยการผสมพันธุ์พริกฮาบาเนโรสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ได้พริกฮาบาเนโรสายพันธุ์ใหม่ที่อร่อยและไม่เผ็ด และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านพันธุศาสตร์ที่นักวิจัยสามารถอ่านความเผ็ดของพริกได้จากยีน

ทีมวิจัยไม่ต้องรอให้ต้นพริกโตแล้วค่อยเด็ดผลพริกมาชิมดูว่าพริกต้นไหนเผ็ด ต้นไหนไม่เผ็ด แต่เพียงแต่ปลิดใบจากต้นอ่อนของพริกไปทำการสกัดดีเอ็นเพื่อตรวจดูว่าพริกแต่ละต้นนั้นจะให้ผลพริกที่เผ็ดร้อนหรืออ่อนละมุน ก่อนที่จะเลี้ยงต้นพริกให้เติบโตและออกดอกออกผลต่อไป ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนี่เองที่ทำให้กระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พริกฮาบาเนโรพันธุ์ปรับปรุงของพวกเขานั้นมีผลสีส้มลูกพลับ ขนาดยาวกว่าฮาบาเนโรพันธุ์ต้นแบบ และมีรสชาติที่เยี่ยมยอด พร้อมกับตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ฮาบานาดา (habanada) ที่สื่อความหมายว่า “ไม่เผ็ดร้อน” ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของทีมวิจัยก็หวังว่าจะให้สิทธิ์แก่บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พริกฮาบานาดาต่อไปในอีกไม่ช้า

สำหรับมาซูเรคเป็นหนึ่งในนักปรับปรุงพันธุ์พืชรุ่นใหม่ ที่นำเอาการเกษตรแบบดั้งเดิม มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างการวิเคราะห์ดีเอ็นเอได้อย่างลงตัว ในการสร้างสรรค์ปรับปรุงพันธุ์พืชผักให้มีรสชาติดีขึ้น มีรูปร่างและสีสันสวยงาม และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งนักปรับปรุงรุ่นใหม่พันธุ์กลุ่มนี้ไม่ใช่นักพันธุวิศวกรรมแต่อย่างใด เพราะพวกเขาทั้งหมดไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของพืชโดยตรงในห้องแล็บ

ทว่า พวกเขาทำการจัดลำดับยีนทั้งหมดของพืชต่างชนิด แล้วสร้างฐานข้อมูลที่มีความเชื่อมโยงกันของยีนควบคุมคุณลักษณะต่างๆ ของพืช เมื่อมีฐานข้อมูลดังกล่าวแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากต้นอ่อนของพืช เพื่อดูว่ามียีนที่ควบคุมการแสดงออกของลักษณะที่ต้องการปรากฏอยู่หรือไม่ ก่อนที่จะคัดเลือกพืชต้นที่ต้องการไปปลูก และจับคู่ผสมเกสรกันได้แม่นยำที่สุด หรือในบางกรณีผู้เพาะเลี้ยงอาจพิจารณาข้อมูลทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์แต่ละเมล็ด และคัดเลือกไปปลูกตามลำดับโดยที่ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก ซึ่งช่วยให้พวกเขาประหยัดทั้งเวลาและแรงงานได้อย่างมาก

ตลอดการทำงานของนักปรับปรุงพันธุ์พืช พวกเขามักจะเลือกใช้เครื่องมือที่ดีที่สุดเท่าที่หาได้ แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาสามารถทำให้งานปรับปรุงพันธุ์พืชมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมที่ทำได้อย่างรวดเร็วและไม่แพง

จิม ไมเออร์ส (Jim Myers) นักปรับปรุงพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท (Oregon State University) สหรัฐฯ ที่ทำงานด้านนี้มานานกว่า 20 ปี เผยในวารสารไซแอนทิฟิกอเมริกัน ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเครื่องมือที่นักปรับปรุงพันธุ์ใช้กันอยู่

“มันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นที่สุดสำหรับผม และอะไรที่ผมไม่เคยคิดว่าผมจะทำได้ อย่างการค้นหายีนที่ควบคุมลักษณะที่ต้องการของพืช และมูลค่าของเทคโนโลยีนี้ก็ถูกลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการหาลำดับพันธุกรรมของพืชที่คุณกำลังศึกษาอยู่กำลังจะกลายเป็นกิจวัตรประจำมากขึ้นทุกที” ไมเออร์ส ผู้เคยมีผลงานการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศที่มีสีม่วงแบบมะเขือยาวม่วงกล่าว

ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวกำลังช่วยให้นักปรับปรุงพันธุ์ขับเคลื่อนความสนใจของพวกเขาไปสู่เรื่องคุณภาพของอาหารที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภค แทนที่จะยึดติดอยู่กับความความต้องการของผู้ผลิตแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเทคโนโลยีทางด้านจีโนมและโมเลกุล ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์สามารถจัดการเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ของอาหารรูปแบบใหม่ๆ ที่มีวางจำหน่ายแล้วในห้างร้านและตลาดสินค้าด้านการเกษตรบางแห่ง เช่น แคนตาลูปที่สุกและให้น้ำหนักดีในช่วงฤดูหนาว, พริกหวานที่มีขนาดเท่าขนมขบเคี้ยว, บร็อคโคลี่ที่อัดแน่นไปด้วยคุณค่าทางอาหารมากกว่าเดิม, หัวหอมใหญ่ที่ไม่ทำให้รู้สึกแสบตา และมะเขือเทศที่มีรสอร่อยชนิดที่ว่าไม่ทำให้ลิ้นของผู้บริโภคผิดหวังอย่างแน่นอน
พริกฮาบานาดา (Habanada) http://blogs.cornell.edu/
อีสเทิร์นบร็อคโคลี (Eastern Broccoli) บร็อคโคลีสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์เนล ร่วมกับกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐฯ (USDA) ที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในแถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ






กำลังโหลดความคิดเห็น