xs
xsm
sm
md
lg

ลุยสวนสำรวจการวิจัยเฟ้นหาปาล์มพันธุ์ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดวงฤทัย เกิดวงศ์บัณฑิต
ปาล์มคือหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เฉพาะ จ.กระบี่แห่งเดียวซึ่งเป็นแหล่งผลิตปาล์มแห่งใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากถึง 1.8 ล้านไร่ และมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 23,000 ครัวเรือน แต่ปัญหาใหญ่คือเรายังไม่มีปาล์มพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจโครงการการวิจัยเปรียบเทียบปาล์มพันธุ์ ของ ดร.วีระพันธุ์ สรีดอกจันทร์ นักวิจัยจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในพื้นที่ปลูกปาล์มกว่า 400 ไร่ของ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ซึ่งสนับสนุนพื้นที่และแรงงานในการดูแลปาล์ม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วีระพันธุ์ ระบุว่า ยังไม่เคยไม่มีการทดสอบพันธุ์ในพื้นที่ใหญ่เช่นนี้มาก่อน โดยที่ผ่านมาการทดสอบพันธุ์ปาล์มจำกัดอยู่ในพื้นที่เล็กๆ เพียง 30-40 ไร่ โดย 1 ไร่ปลูกปาล์มได้ 20 ต้น ซึ่งการทดลองให้ได้ผลแม่นยำจำเป็นต้องปลูกในพื้นที่เดียวกันและมีการดูแลเหมือนกัน และเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือของผลการทดลอง ได้มีการปลูกเป็น 10 ซ้ำ ซึ่งในพื้นที่ทดสอบนี้มีปาล์มทั้งหมด 10,000 ต้น รวมทั้งหมด 12 สายพันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์จากทางราชการ 2 พันธุ์ พันธุ์จากต่างประเทศ 5 พันธุ์ และพันธุ์จากบริษัทเอกชนอีก 5 พันธุ์

“การทดสอบพันธุ์ปาล์มนั้นใช้เวลานาน โดยกว่าที่ปาล์มจะให้ผลผลิตต้องใช้เวลา 3-4 ปี และจะให้ผลผลิตสูงสุดเมื่ออายุ 7 ปี การพัฒนาพันธุ์ปาล์มกว่าจะรู้ว่าได้พันธุ์ที่ดีหรือไม่ใช้เวลานานถึง 20 ปี จบเกษีณอายุราชการพอดี เลยไม่ค่อยมีคนอยากทำ เมื่อเทียบกับพืชอื่นที่อายุสั้นกว่า ใช้เวลาไม่นานก็ได้ตีพิมพ์ผลงาน แต่สำหรับปาล์มกว่าจะได้ตีพิมพ์ต้องรอนาน โดยปาล์มน้ำมันในแปลงทดลองนี้มีระยะศึกษา 5 ปี และการศึกษาเพิ่งอยู่ในช่วงปีแรก” ดร.วีระพันธุ์กล่าว

ทางด้าน น.ส.ดวงฤทัย เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการบริหาร บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ระบุว่า ธุรกิจหลักของบริษัทเป็นธุรกิจด้านการขายน้ำยางพารา และได้ขยายมาทำเรื่องปาล์มน้ำมัน โดยเหตุผลที่สนับสนุนโครงการทดสอบเปรียบเทียบพันธุ์ปาล์มน้ำมันนี้เพราะต้องการช่วยสังคม ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการดูแลปาล์มจาก ดร.วีระพันธุ์ ด้วย

สำหรับความจำเป็นในการพัฒนาพันธุ์ปาล์มนั้นนอกจากเป็นความต้องการของเกษตรกรแล้ว ดร.พีระพันธุ์ยังชี้ถึงความจำเป็นอีกว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งต่อจากนี้ไปพืชผลทางการเกษตรจะเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด แล้งจัด และฝนตกในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ตกหนัก จึงจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์เพื่อรับมือกับสภาพอากาศเหล่านั้น และปัจจุบันกว่า 50% ของปาล์มในไทยเป็นปาล์มแก่ที่รอการโค่นเพื่อปลูกใหม่ จึงต้องเร่งปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตมากขึ้นเป็น 2-3 เท่า และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกบนพื้นที่เดิม

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 เพิ่งมีการทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อการวิจัยเรื่องปาล์มเป็นครั้งแรก ภายใต้แผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการประเทศโดยเร่งด่วน ของเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดย วช.ได้จัดสรรงบประมาณ 8.5 ล้านบาทให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) รับผิดชอบในการดูแลบริหารจัดการงบประมาณ และคัดเลือกโครงการที่จะสนับสนุนทุนวิจัย

ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก.ระบุว่า ที่ผ่านมา งบวิจัยทางด้านปาล์มน้ำมันอยู่ที่ 20-30 ล้านบาท และเมื่อดำเนินแผนงานวิจัยมุ่งเป้าเรื่องปาล์มน้ำมันในปีงบประมาณ 2556 พบว่ามีนักวิจัยให้ความสนใจขอทุนวิจัยกันอย่างล้นหลาม แต่เมื่อดำเนินมาถึงปีที่ 2 จำนวนการขอทุนกลับลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากกำลังคนวิจัยในเรื่องปาล์มน้ำมันไม่เพียงพอ ดังนั้น กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยต่อไปอาจเพิ่มเติมในส่วนของการสร้างกำลังคนด้วย สำหรับงบประาณปี 2556 ที่ผ่านมามีโครงการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติทุน 29 โครงการ โดยหลักๆ เป็นโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน

ทางด้าน กฤช รังสิเสมา ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการ จ.กระบี่ ให้ข้อมูลว่ากระบี่เป็นจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มมากที่สุดในประเทศ โดยมีพื้นที่ 1.8 ล้านไร่ คิดเป็น 30% ของปาล์มทั้งประเทศ ครอบคลุม 23,000 ครัวเรือน มีโรงสกัดน้ำมันปาล์มทั้งหมด 27 แห่ง แต่เกษตรกรมีปัญหาเรื่องปาล์มให้ผลผลิตต่ำเพียง 3.4 ตันต่อไร่ และมีเปอร์เซ็นต์ให้น้ำมันไม่ถึง 17% อีกทั้งยังมีค้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ยและค่าแรงสูง และบางครั้งยังมีผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันปาล์มสดจากต่างประเทศ จึงคาดหวังว่า งานวิจัยจากแผนวิจัยมุ่งเป้า ของ คอบช.จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ทางด้าน นพ.สิทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช.กล่าวว่า ขณะนี้มีงานวิจัยพันธุ์ปาล์มที่ให้ผลผลิต 5 ตันต่อไร่ และได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง 25% แต่ยังอยู่ระดับงานวิจัยที่รอต่อยอด และเชื่อว่าปาล์มน้ำมันคือพืชแห่งความหวัง ดังเห็นได้จากความสำเร็จของมาเลเซียที่โค่นต้นยางพาราทิ้ง แล้วหันมาส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่า และพิสูจน์ให้เห็นว่าคิดไม่ผิด พร้อมทั้งมีศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะ ซึ่งอยากเห็นนักวิจัยไทยรวมตัวกันเป็นเครือข่ายวิจัยปาล์มน้ำมันบ้าง

“วช.ยืนยันจะสนับสนุนงานวิจัยปาล์มน้ำมันต่อไปอย่างต่อเนื่อง และอยากเห็นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยปาล์มเพื่อสนับสนุนการทำโครงการวิจัยระยะยาว อาจตั้งเป็นศูนย์วิจัยเล็กๆ ก่อน เป็นศูนย์ที่มีการทำงานอย่างจริงจัง แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นเป็นโครงสร้างอาคาร แต่มีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง” นพ.สิทธิพร กล่าว
ดร.วีระพันธุ์ สรีดอกจันทร์
(ซ้าย) ดร.พีรเดช ทองอำไพ และ นพ.สิทธิพร จิตต์มิตรภาพ (ขวา)






กำลังโหลดความคิดเห็น