ระหว่างเยี่ยมชมความก้าวหน้าในเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ เราสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิของนักวิจัยแดนโสมขาวที่มี “ฮานาโร” เตาปฏิกรณ์นิวคลียร์ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเอง และอยู่เบื้องหลังการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมของเกาหลี
ผู้สื่อข่าวพิเศษของทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เพื่อเยี่ยมชมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้ โดยมี ดร.อิน-ชอล ลิม (Dr. In-Cheol Lim) รองประธานแผนกการประยุกต์ใช้เตาปฏิกรณ์วิจัย ของสถาบันวิจัยพลังงานปรมาณูเกาหลี (Korea Atomic Energy Research Institute) หรือ แกรี (KAERI) ให้การต้อนรับ
ดร.ลิมได้นำเราไปเยี่ยมชมเตาปฏิกรณ์ปรมาณูฮานาโร (HANARO: High Flux Advanced Neutron Application Reactor) เตาปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยที่เป็นแหล่งกำเนิดนิวตรอน เช่นดียวกับเตาปฏิกรณ์ “ปปว-1/1” ของ สทน. ซึ่งตั้งอยู่ที่บางเขน แต่ฮานาโรนั้นมีกำลังเดินเครื่องถึง 30 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูไทย 15 เท่า
ฮานาโรเป็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องที่ 3 ของเกาหลีใต้ และเป็นเครื่องที่เกาหลีพัฒนาและวิจัยขึ้นเอง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1985 แล้วบรรจุแท่งเชื้อเพลิงและประสบความสําเร็จในการเดินเครื่องถึงสภาวะวิกฤติขั้นต้น (initial criticality achievement) เมื่อปี 1995 สถานะในปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวได้ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์แล้ว
“แกรีเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งแรกของรัฐบาลเกาหลี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ก.พ. 1959 ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา แกรีเป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลี และยังสร้างความแข็งแกร่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้นิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานหลัก ทำให้อุตสาหกรรมของเกาหลีเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย” ดร.ลี กล่าว
การใช้ประโยชน์จากฮานาโรของเกาหลีมีด้วยกันหลายด้าน ตั้งแต่การศึกษาวิจัย การมีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมทางด้านนิวเคลียร์ระดับเอเชีย-โอเชียเนีย การใช้ประโยชน์จากการทดสอบอาบด้วยรังสีนิวตรอน การผลิตไอโซโทปเพื่อการรักษาทางการแพทย์และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย การผลิตแหล่งกำเนิดเออริเดียม 192 (192 Ir) เพื่อใช้ในงานตรวจสอบวัสดุแบบไม่ทำลาย นอกจากนี้ยังมีการอาบรังสีนิวตรอนบนวัสดุซิลิกอนเพื่อผลิตสารกึ่งตัวนำซิลิกอน ซึ่ง ดร.ลีให้ข้อมูลว่าเกาหลีมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกจากการผลิตวัสดุดังกล่าวถึง 10%
ทางแกรียังมีอาคารปฏิบัติการทดสอบการอาบนิวตรอน เพื่อทดสอบสมรรถนะและสภาวะการใช้งานที่เกิดขึ้นของแท่งเชื้อเพลิงโรงไฟฟานิวเคลียร์แบบน้ำมวลหนักหรือแคนดู (CANDU) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำความดันสูง (Pressurized Water Reactor : PWR) รวมถึงอาคารปฏิบัติการวิจัยนิวตรอนเพื่อใช้วิจัยพื้นฐานด้านการตรวจวิเคราะห์วัสดุในระดับนาโน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม และเป็นรากฐานในการศึกษาด้านเทคโนโลยีความละเอียดสูง เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการกระเจิงนิวตรอน (Neutron Scattering) ของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
“ถ้าไทยสามารถพัฒนาด้านนิวเคลียร์จะเป็นประโยชน์ครอบคลุมในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ อาทิ การเกษตร การแพทย์ ลดต้นทุนการผลิตยารักษาโรคโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น เพราะขณะนี้กำลังผลิตที่มีอยู่เดิมนั้น ทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการช่วยเหลือมนุษย์ เสมือนมีคนต้องการความช่วยเหลือ 100,000 คน แต่ สทน. ให้ความช่วยเหลือได้เพียง 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งมีคนไทยจำนวนมากที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนิวเคลียร์ แต่ต้องยกระดับการพัฒนาขึ้นอีกขั้น ภายใต้งบระมาณกว่า 6,000 ล้านบาท” นางวรรณา วิมลวัฒนาภัณฑ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ สทน. ซึ่งนำทีมไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีกล่าว
ผู้อำนวยการฝ่ายบริการ สทน. กล่าวอีกว่า หวังที่จะได้รับการช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเกาหลี พร้อมทั้งเตรียมจัดทำโครงการและแผนงานเพื่อขออนุมัติโครงการร้างเครื่องปฏิกรณ์ใหม่ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าเครื่องปฏิกรณ์ใหม่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยได้ อย่างกรณีของเกาหลีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ถึง 3% ของจีดีพีจากการใช้นิวเคลียร์ทั่วประเทศ
ทางด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. ซึ่งไม่ได้เดินทางไปด้วย แต่ได้ฝากข้อมูลไปถึงผู้สื่อข่าวพิเศษของเราว่า สทน.จะผลักดัน ให้เกิดโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องใหม่ เพื่อทดแทนเครื่องเดิมคือเครื่องปฏิกรณ์ ปปว-1/1 ที่มีขนาด 2 เมกะวัตต์ และมีอายุกว่า 50 ปี ซึ่งอีกไม่เกิน 5 ปี เครื่องปฏิกรณ์เครื่องเก่าจะปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีการผลิตแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้กับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเครื่องเก่าแล้ว
“หากเครื่องปฏิกรณ์เครื่องนี้หยุดเดินเครื่อง ผลเสียที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัด คือ ในเชิงการผลิตประเทศไทยต้องนำเข้าเภสัชรังสีสำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปีละกว่า 300 ล้านบาท ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะขาดโอกาสในการรักษาด้วยยาที่มีราคาถูก รวมถึงการฉายรังสีอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งมีมูลค่าในตลาดกว่า 100 ล้านบาท และในโอกาสในงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย” ดร.สมพร กล่าว โดยเครื่องปฏิกรณ์เครื่องใหม่นั้นจะเป็นเครื่องที่มีขนาด 10-20 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาความเป็นไปได้ และแนวทางการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์เครื่องใหม่